แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฝากทรัพย์สินไว้แก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยโดยมีบำเหน็จค่าฝาก จำเลยผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้รถยนต์ของจำเลยขนทรัพย์สินของโจทก์ออกไปโดยหลบหนีภาษีศุลกากรจนทรัพย์สินของโจทก์ถูกยึดเป็นของกลางระหว่างดำเนินคดีอาญา แสดงว่า จำเลยขาดความระมัดระวังไม่ใช้ฝีมือสงวนรักษาทรัพย์สินที่รับฝากไว้เช่นวิญญูชนกรณีมิใช่เหตุสุดวิสัย จำเลยจึงต้องรับผิดในทรัพย์สินที่รับฝากจากโจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เดินทางจากฮ่องกงเข้ามาประเทศไทยทางท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) มีทรัพย์สินติดตัวมา 4 กระเป๋าน้ำหนัก 98 กิโลกรัม รวมราคา 162,268 บาท โจทก์ฝากทรัพย์สินดังกล่าวไว้แก่เจ้าหน้าที่รับฝากทรัพย์ที่ด่านศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพให้รักษาทรัพย์สินของโจทก์ไว้ระหว่างที่โจทก์ท่องเที่ยวในประเทศไทย ต่อมา โจทก์ไปขอรับทรัพย์สินที่ฝากไว้ โดยยื่นหลักฐานการรับฝากทรัพย์และหลักฐานการจ่ายเงินค่าฝากต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเจ้าหน้าที่รับหลักฐานแล้วไม่คืนทรัพย์สินที่ฝากให้แก่โจทก์ โดยแจ้งว่าทรัพย์สินหายไปจากคลังสินค้า โจทก์ไม่ได้รับทรัพย์สินที่ฝากไว้คืนจนบัดนี้ จำเลยในฐานะผู้รับฝากทรัพย์มีบำเหน็จค่าฝากไม่ได้ใช้ความระมัดระวังหรือเป็นการละเว้นต่อหน้าที่ในการดูแลทรัพย์สินที่ได้ฝากไว้จนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์สูญหายไปถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าเสียหายในกรณีที่โจทก์ต้องอยู่ในประเทศไทยวันละ 1,000 บาท หรือค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาดำเนินคดีจนกว่าคดีถึงที่สุด
จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โจทก์ไม่เคยนำทรัพย์สินใด ๆ ไปฝากไว้แก่จำเลยหรือเจ้าหน้าที่ของจำเลยจำเลยไม่เคยรับฝากทรัพย์สินใด ๆ ของโจทก์ จำเลยหรือเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่เคยออกใบรับสินค้าให้โจทก์ โจทก์เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อใด โดยช่องทางใด จำเลยไม่ทราบจำเลยและเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่ได้รับฝากกระเป๋า 4 ใบ น้ำหนัก 98 กิโลกรัม และไม่ได้รับเงินค่าฝากทรัพย์จากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 125,626 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 56,547บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า โจทก์ได้ฝากทรัพย์สินไว้แก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ท่าอากาศยานกรุงเทพหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์เป็นชาวบังกลาเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยทางเครื่องบินจากฮ่องกง เมื่อมาถึงท่าอากาศยานกรุงเทพโจทก์มีทรัพย์สินกรอบแว่นตานาฬิกาข้อมือยี่ห้อไซโก้และยี่ห้อรังโก้ เครื่องจี้เพชรเทียม ปากกาปาคเกอร์ ปากกาคร็อส รวม 13 รายการ บรรจุอยู่ในกระเป๋า 4 ใบ น้ำหนักรวม 98 กิโลกรัม นำไปฝากไว้ที่สถานที่รับฝากของจำเลย เจ้าหน้าที่รับฝากของจำเลยออกใบรับให้ปรากฏตามสำเนาใบรับฝากพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.1 โจทก์เสียค่าฝากเป็นเงินจำนวน 800 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.2 ส่วนจำเลยมีนายสุทธิชัย คงตระกูล และนายมงคลธีรนิ่มนวลนนท์ เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า พยานทั้งสองเป็นข้าราชการสังกัดกรมศุลกากร ได้ร่วมกันจับกุมนายธานี ผาสุขเวชพร และนายโสฬส โพธิรัตน์ ในข้อหาลักลอบนำของหนีภาษีศุลกากรออกจากห้องคลังสินค้าของฝากติดตัวผู้โดยสารขาเข้าได้พร้อมของกลางกระเป๋า 18 ใบกับ 1 กล่อง กระเป๋าดังกล่าวรวมกระเป๋าจำนวน 4 ใบ ของโจทก์เนื่องจากหมายเลขที่ผูกติดกระเป๋าตรงกับในใบรับฝากเอกสารหมาย จ.1เมื่อเปิดกระเป๋าและกล่องได้ถ่ายรูปและจดบันทึกการตรวจนับไว้ตามเอกสารหมาย ล.12 ส่วนของกลางที่เป็นของโจทก์ปรากฏตามบันทึกบัญชีของกลางเอกสารหมาย ล.13 แสดงว่าโจทก์ได้ฝากกระเป๋า 4 ใบไว้แก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยดังที่จำเลยนำสืบรับเข้ามาในสำนวน ส่วนรายการสิ่งของในกระเป๋ามีอะไรบ้าง ตัวโจทก์จำไม่ได้แน่ แต่จำเลยเปิดกระเป๋าโดยมีคณะกรรมการได้ถ่ายรูปและบันทึกของกลางไว้ตามเอกสารหมาย ล.13 ซึ่งมีรายการทรัพย์สิน เข็มกลัดเพชรเทียม นาฬิกาข้อมือรังโก้ และกรอบแว่นตา คดีจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ฝากทรัพย์สินตามรายการดังกล่าวไว้แก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ
มีปัญหาต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในทรัพย์สินที่รับฝากหรือไม่ ตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ตอนฝากทรัพย์สินไว้ไม่ต้องเสียค่าฝากแต่โจทก์จ่ายค่าฝากเมื่อเวลาเรียกของคืนเป็นจำนวนเงิน800 บาท ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.2 จำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ฝากทรัพย์สินไว้แก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยโดยมีบำเหน็จค่าฝาก จำเลยผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น แต่การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้รถของจำเลยขนทรัพย์สินของโจทก์ออกไปโดยหลบหนีภาษีศุลกากรจนทรัพย์สินของโจทก์ถูกยึดเป็นของกลางระหว่างดำเนินคดีอาญาแสดงว่าจำเลยขาดความระมัดระวังไม่ใช้ฝีมือสงวนรักษาทรัพย์สินของโจทก์ที่รับฝากไว้เช่นวิญญูชนจะรักษาทรัพย์สินนั้น ที่จำเลยอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยฟังไม่ขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิดในทรัพย์สินที่รับฝากจากโจทก์
ปัญหาสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด จำเลยฎีกาว่าเข็มกลัดเพชรเทียม นาฬิกาข้อมือรังโก้และกรอบแว่นตา เป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่สามารถขอคืนได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เข็มกลัดเพชรเทียม ตามเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 3 นาฬิกาข้อมือรังโก้ ตามเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 2 และกรอบแว่นตา ตามเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 4 ปรากฏอยู่ในรายการบันทึกบัญชีของกลางเอกสารหมาย ล.13 เมื่อโจทก์ไปขอรับทรัพย์สินที่ฝากไว้คืนจำเลยผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่โจทก์ผู้ฝาก เมื่อจำเลยคืนทรัพย์สินที่ฝากไม่ได้ จำเลยต้องใช้ราคาเข็มกลัดเพชรเทียมเป็นเงิน 13,000 บาท นาฬิกาข้อมือรังโก้เป็นเงิน1,750 บาท และกรอบแว่นตาเป็นเงิน 41,797 บาท ที่โจทก์แก้ฎีกาขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 162,000 บาท แก่โจทก์ นั้น โจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือว่าโจทก์พอใจแล้ว ประเด็นข้อพิพาทในส่วนนี้ถึงที่สุดไปแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.