แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ไม่ได้กำหนดว่าการหักกลบลบหนี้จะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งดังนั้นเมื่อการฝากเงินของโจทก์ไว้กับธนาคารจำเลยไม่มีการกำหนดเวลาคืนเงินฝากไว้แน่นอน ต้องถือว่าหนี้เงินฝากถึงกำหนดชำระหนี้ทันทีที่โจทก์ได้ฝากเงินไว้กับจำเลย และการกู้เงินและรับฝากเงินระหว่างโจทก์และจำเลยไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่ต่อกันมาหักกลบลบกันไว้ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำเงินฝากในบัญชีของโจทก์ไปหักกลบลบกับหนี้ที่โจทก์กู้เงินไปจากจำเลยที่ถึงกำหนดชำระแล้วได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากเลขที่ 1340644641 ที่ได้เปิดไว้กับธนาคารจำเลย สาขาสะพานใหม่ดอนเมือง โดยมียอดเงินฝาก ณ วันที่ 13 ธันวาคม2542 เป็นเงิน 480,724.78 บาท เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2542 จำเลยได้แจ้งให้ธนาคารจำเลย สาขาสะพานใหม่ดอนเมือง หักเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าว โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และจำเลยไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 25,838.95 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 506,563.73 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 480,724.78 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยหักบัญชีเงินฝากดังกล่าว เนื่องจากโจทก์เป็นหนี้เงินกู้ธนาคารจำเลย สาขาบางใหญ่ นนทบุรี จำนวน 1,400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 714,272.72 บาท จำเลยจึงใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 341 หักบัญชีเงินฝากของโจทก์ดังกล่าวเพื่อไปชำระหนี้เงินกู้ในส่วนดอกเบี้ยโจทก์จึงยังคงค้างหนี้เงินต้น 1,400,000 บาท และดอกเบี้ย 233,547.94 บาท ซึ่งจำเลยได้นำมูลหนี้ดังกล่าวไปฟ้องบังคับให้โจทก์ชำระหนี้ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดนนทบุรีได้มีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยแล้ว ตามคดีหมายเลขแดงที่ 3105/2543 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 480,724.78 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 25,838.95 บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกาว่า จำเลยมีสิทธินำหนี้ที่โจทก์เป็นหนี้เงินกู้จำเลยมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยจะต้องคืนเงินที่รับฝากไว้จากโจทก์โดยโจทก์ไม่ยินยอมได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 341 บัญญัติถึงเรื่องการหักกลบลบหนี้ไว้ว่า “ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบหนี้กันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น…” บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แต่ประการใดว่าการหักกลบลบหนี้ระหว่างกันนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่ง สำหรับคดีนี้ได้ความตามที่โจทก์จำเลยแถลงรับกันว่าจำเลยได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ไปยังโจทก์แล้ว ปรากฏตามหนังสือของธนาคารจำเลย สาขาสะพานใหม่ดอนเมือง ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2542 ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการฝากเงินของโจทก์ไว้กับจำเลยนั้นได้มีการกำหนดเวลาคืนเงินฝากไว้แน่นอน กรณีจึงต้องถือว่าหนี้เงินฝากดังกล่าวถึงกำหนดชำระหนี้ทันทีที่โจทก์ได้ฝากเงินไว้กับจำเลย และเมื่อการกู้เงินและรับฝากเงินระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวก็ไม่ปรากฏเช่นกันว่าทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่ต่อกันมาหักกลบลบกันไว้แต่อย่างใด จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำเงินฝากในบัญชีของโจทก์ไปหักกลบลบกับหนี้ที่โจทก์กู้เงินไปจากจำเลยที่ถึงกำหนดชำระแล้วได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์