คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5764/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับแต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังอันดับที่ 1 คือผู้สืบสันดานซึ่งตามมาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วยดังนั้น ประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่า จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของนาย อ. เจ้ามรดกหรือไม่ จึงรวมไปถึงปัญหาว่าจำเลยเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วหรือไม่ด้วย จำเลยมีสำเนาทะเบียนการสมรสระหว่างจำเลยกับ ส.สามีซึ่งเป็นเอกสารมหาชนระบุว่า จำเลยเป็นบุตรนาย อ.นาง ก. และใช้นามสกุลขณะสมรสว่า “เพชรม่อม” อันเป็นนามสกุลของนาย อ.อีกด้วยแม้นายอ. นาง ก. ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่ผู้ใหญ่บ้านก็เบิกความรับรองว่า ขณะเยาว์วัยจำเลยอาศัยอยู่กับนายอ. บิดาที่บ้าน จึงฟังได้ว่านาย อ. อุปการะเลี้ยงดูจำเลยอย่างบุตรและให้ใช้นามสกุลเดียวกัน ถือเป็นการรับรองว่าจำเลยเป็นบุตร จำเลยจึงมีสิทธิรับมรดกไม่มีพินัยกรรมของนาย อ.ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และมาตรา 1629 โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยขอรับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของนาย อ.อ้างว่านายอ. ได้ยกที่ดินพิพาทส่วนของนาย อ. ให้โจทก์แล้วไม่มีประเด็นว่าโจทก์แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทเกินกว่า 1 ปี หรือไม่ ทั้งคำพยานโจทก์ ก็ไม่ได้ยืนยันว่า นาย อ. ยกที่ดินพิพาทส่วนของนาย อ. ให้โจทก์การที่โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนของนาย อ.หลังจากนายอ. ตายแล้วเท่ากับเป็นการครอบครองแทนจำเลยซึ่งเป็นทายาทนาย อ. จนกว่าโจทก์จะแสดงเจตนาเปลี่ยนการครอบครองเป็นครอบครองเพื่อตน เมื่อจำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของนาย อ. ได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทส่วนของนาย อ. บิดาโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินกับนายออง เพชรม่อม ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 157/122 นายอองมิได้สมรสกับผู้ใดและอยู่อาศัยกับโจทก์นายอองยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนที่โจทก์อุปการะเลี้ยงดู เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2524 นายอองตายโดยกะทันหันด้วยโรคชรา จึงยังมิได้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2531 จำเลยได้ไปแอบอ้างความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอดอนตูมว่า จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของนายอองแต่ผู้เดียว และจดทะเบียนรับโอนที่ดินเฉพาะส่วนของนายอองเป็นของจำเลย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้เพิกถอนจำเลยจากการเป็นทายาทโดยธรรมของนายอองและเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยจดทะเบียนรับโอนที่ดินของนายอองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ข้างต้นให้โจทก์เป็นผู้ได้สิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวและห้ามจำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้
จำเลยให้การว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินร่วมกับนายอองจริง ในระหว่างที่ นางอองมีชีวิตอยู่ได้สมรสกับนางกำ เพชรม่อม มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ จำเลย เมื่อจำเลยเกิดมาไม่นานนางกำก็ตาย นายอองได้อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่จำเลยจนกระทั่งจำเลยสมรสกับนายไสว สุระพิณชัย โจทก์อาศัยอยู่กับนางอองและช่วยทำนาในที่ดินพิพาท นายอองไม่ได้ยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ การที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเป็นการครอบครองแทนจำเลย จำเลยได้จดทะเบียนโอนที่ดินเฉพาะส่วนของนายอองโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 157/122 เล่ม 20 หน้า 29 หมู่ที่ 5ตำบลดอนพุทรา อำเภอดอนตูม (กำแพงแสน) จังหวัดนครปฐม เอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.2 เดิมเป็นของนายเรียง นางนึก ซึ่งเป็นบิดามารดาของนายแบ๋ม นายออง นางบาน นางเหนอะ นางแห๋ว และนายเอ๊ะ เมื่อนายเรียง นางนึกตาย ที่ดินพิพาทตกเป็นของนายแบ๋มบิดาโจทก์กับนายอองบิดาจำเลย เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนฟ้องคดีนี้นายแบ๋มตาย โจทก์ไปขอรับที่ดินมรดกส่วนของนายแบ๋ม ส่วนนายอองตาย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2524ตามมรณบัตรเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.1 และต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม2531 จำเลยไปขอรับที่ดินมรดกส่วนของนายอองที่สำนักงานที่ดินอำเภอดอนตูม แต่โจทก์คัดค้านและฟ้องคดีนี้ มีปัญหาว่าจำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของนายออง เพชรม่อม เจ้ามรดกหรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลัง อันดับที่ 1 คือผู้สืบสันดานซึ่งตามมาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย ฉะนั้น ประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่า จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของนายอองเจ้ามรดกหรือไม่จึงรวมไปถึงปัญหาว่าจำเลยเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วหรือไม่ด้วย ซึ่งจำเลยมีนางบาน เพชรลอม นายเอ๊ะ เพชรม่อมพี่สาวกับน้องชายของนายอองตามลำดับรวมทั้งนายสาย ดีดำผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 12 ตำบลบางปลา เบิกความสนับสนุนตัวจำเลยว่า จำเลยเป็นบุตรนายอองกับนางกำซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและได้ตายไปแล้วนอกจาก นางบาน นายเอ๊ะ ซึ่งโจทก์รับว่าเป็นอาของโจทก์เบิกความเป็นพยานจำเลยประกอบคำนายสายผู้ใหญ่บ้านยืนยันว่าจำเลยเป็นบุตรของนายอองสอดคล้องต้องกันน่าเชื่อถือแล้วจำเลยยังมีสำเนาทะเบียนการสมรสเอกสารหมาย ล.3ระหว่างจำเลยกับนายไสว สุระพิณชัย สามีระบุว่า จำเลยเป็นบุตรนายออง นางกำ เพชรม่อม และใช้นามสกุลขณะสมรสว่าเพชรม่อมอันเป็นนามสกุลของนายอองอีกด้วย จึงรับฟ้องได้ตามคำพยานบุคคลและทะเบียนการสมรสเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นเอกสารมหาชนว่าจำเลยเป็นบุตรนายออง นางกำ เพชรม่อม จริง แม้นายอองนางกำไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่นายสายผู้ใหญ่บ้านก็เบิกความรับรองว่า จำเลยขณะเยาว์วัยอาศัยอยู่กับนายอองบิดาที่บ้าน จึงฟังได้ว่านายอองอุปการะเลี้ยงดูจำเลยอย่างบุตรและให้ใช้นามสกุลเดียวกัน ถือเป็นการรับรองว่าจำเลยเป็นบุตรจำเลยจึงมีสิทธิรับมรดกไม่มีพินัยกรรมของนายอองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และมาตรา 1629
ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลย โจทก์นำสืบได้ว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนมาตลอดมาตั้งแต่ก่อนออก น.ส.3 เอกสารหมาย จ.1หรือ ล.2 และหลังนายอองตาย จึงได้สิทธิในที่ดินพิพาทส่วนของนายอองโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการรับโอนที่ดินพิพาทได้นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยขอรับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของนางอองอ้างว่านายอองได้ยกที่ดินพิพาทส่วนของนายอองให้โจทก์แล้ว ไม่มีประเด็นว่าโจทก์แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทเกินกว่า 1 ปี หรือไม่ ทั้งเมื่อพิเคราะห์คำพยานโจทก์ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานก็ไม่ได้เบิกความยืนยันว่า นายอองยกที่ดินพิพาทส่วนของนายอองให้โจทก์แต่อย่างไร การที่โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนของนายอองหลังจากนายอองตายแล้วเท่ากับเป็นการครอบครองแทนจำเลยซึ่งเป็นทายาทนายอองจนกว่าโจทก์จะแสดงเจตนาเปลี่ยนการครอบครองเป็นครอบครองเพื่อตน ในชั้นนี้เมื่อจำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของนายอองได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนสิทธิรับโอนที่ดินพิพาทส่วนของนายอองบิดาโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว
พิพากษายืน

Share