คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118 เพียงแต่บัญญัติว่าตราสารใดที่ไม่ปิดอากรแสตมป์หรือปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วน จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้จนกว่าจะปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนบริบูรณ์และขีดฆ่าแล้ว แต่หาได้บังคับให้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาดังที่จำเลยฎีกาไม่ ส่วนเรื่องที่โจทก์จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และ 114 แห่งประมวลรัษฎากรฯเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งไม่มีผลกระทบถึงการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์แต่ประการใด
การขีดฆ่าอากรแสตมป์มิได้จำกัดแต่เฉพาะการลงลายมือชื่อบนอากรแสตมป์หรือการขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์และลงวันเดือนปีกำกับเท่านั้น แต่ย่อมหมายรวมถึงการกระทำด้วยวิธีการอื่นใดที่ทำให้อากรแสตมป์นั้นเสียไปไม่สามารถนำไปใช้ใหม่ด้วย เมื่อโจทก์ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์โดยขีดเส้นคร่อมบนอากรแสตมป์เพื่อมิให้นำไปใช้ได้อีกจึงถือว่าเป็นการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ถูกต้องตามมาตรา 103 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 226,875 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 150,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้จำเลยในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนางครีบ จันทร์แจ่ม ผู้ตายชำระเงิน 150,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่ตน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่าสัญญากู้ยืมเงินซึ่งไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ในวันทำสัญญาแต่พึ่งปิดอากรแสตมป์ในวันสืบพยานโจทก์นัดแรกโดยมิได้เสียค่าอากรเพิ่ม และเพียงแต่ขีดฆ่าอากรแสตมป์โดยไม่ได้ลงวันเดือนปีกำกับไว้จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เพียงแต่บัญญัติว่าตราสารใดที่ไม่ปิดอากรแสตมป์หรือปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายหมวด 6 จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้จนกว่าจะปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนบริบูรณ์และขีดฆ่าแล้วแต่หาได้บังคับให้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาดังที่จำเลยฎีกาไม่ เพราะความในตอนท้ายของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า การดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง โดยปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในภายหลัง อันมีผลให้ตราสารนั้นใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งนั้น ไม่เป็นการลบล้างความรับผิดในการเสียเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114แสดงว่าแม้มิได้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญากู้ยืมเงินแต่เมื่อมีการปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่าแล้วในวันนัดสืบพยานโจทก์ก็ย่อมรับฟังสัญญากู้ยืมเงินนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ส่วนเรื่องที่โจทก์จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114แห่งประมวลรัษฎากรเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งไม่มีผลกระทบถึงการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์แต่ประการใด ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์เพียงแต่ขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์โดยมิได้ลงวันเดือนปีกำกับไว้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขีดฆ่าอากรแสตมป์ที่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากรมาตรา 103 นั้น เห็นว่ามาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากรให้ความหมายของคำว่า “ขีดฆ่า” ว่า หมายถึงการกระทำใด ๆ เพื่อมิให้มีการนำอากรแสตมป์ไปใช้ได้อีก ดังนั้น การขีดฆ่าอากรแสตมป์จึงมิได้จำกัดแต่เฉพาะการลงลายมือชื่อบนอากรแสตมป์หรือการขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์และลงวันเดือนปีกำกับเท่านั้นแต่ย่อมหมายความรวมถึงการกระทำด้วยวิธีการอื่นใดที่ทำให้อากรแสตมป์นั้นเสียไปไม่สามารถนำไปใช้ใหม่ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์ได้มีการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ โดยขีดเส้นคร่อมบนอากรแสตมป์เพื่อมิให้นำไปใช้ได้อีกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า สัญญากู้ยืมเงิน ได้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ถูกต้องตามมาตรา 103 รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีพิรุธไม่น่าเชื่อว่านางครีบกู้ยืมเงินจากโจทก์นั้น เห็นว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งนั้นศาลย่อมมีหน้าที่ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคู่ความและพิพากษาให้ฝ่ายที่พยานหลักฐานมีน้ำหนักดีกว่าเป็นผู้ชนะคดี สำหรับคดีนี้โจทก์มีตัวโจทก์กับนางสมจิตรบุญธรรม และนางศิริวรรณ ขำกรัด เป็นพยานเบิกความประกอบสัญญากู้ยืมเงินว่านางครีบได้กู้ยืมเงินโจทก์และทำสัญญากู้ยืมเงินไว้เป็นหลักฐาน นอกจากนี้โจทก์ยังมีสำเนาหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้พร้อมใบตอบรับ เป็นหลักฐานว่า โจทก์เคยทวงถามให้นางครีบชำระหนี้แก่โจทก์โดยส่งหนังสือทวงถามไปทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแต่ไม่ปรากฏว่านางครีบเคยโต้แย้งคัดค้านเกี่ยวกับหนี้ดังกล่าวเลย อนึ่ง ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า นางครีบไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์นั้น ทั้งจำเลยกับนางซิ้ม จันทร์แจ่มและนายเสน่ห์ เนียมหอม พยานจำเลยต่างเบิกความรับว่าไม่ทราบว่านางครีบจะเคยกู้ยืมเงินจากโจทก์หรือไม่ พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ถอนเงินฝากจากธนาคารมาให้นางครีบกู้ และไม่เชื่อว่าโจทก์จะเก็บเงินไว้ที่บ้านเป็นจำนวนมากนั้น โจทก์เบิกความข้อนี้ว่านางครีบไปติดต่อกับโจทก์ล่วงหน้าหลายวันว่าจะขอกู้ยืมเงิน โจทก์จึงมีเวลาพอในการรวบรวมเงินที่ลูกหนี้รายอื่นนำมาชำระหนี้จนพอให้นางครีบกู้ยืมได้ ซึ่งไม่เป็นข้อพิรุธแต่ประการใด ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เบิกความว่า โจทก์เป็นผู้เขียนสัญญากู้ยืมเงิน แต่ในช่องผู้เขียนสัญญาในสัญญากู้ยืมเงินกลับมีลายมือชื่อของผู้อื่นไม่ตรงกับคำเบิกความของโจทก์นั้น เห็นว่า แม้ลายมือชื่อผู้เขียนสัญญากู้ยืมเงิน จะขัดแย้งกับคำเบิกความของโจทก์เป็นพิรุธอยู่บ้าง แต่ข้อพิรุธดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะทำลายล้างน้ำหนักคำพยานโจทก์ให้เสียไปจนไม่อาจรับฟังได้ทั้งหมด ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า นางครีบไม่มีความจำเป็นในการใช้เงินซึ่งไม่เชื่อว่านางครีบกู้ยืมเงินจากโจทก์ และว่าการที่โจทก์แจ้งให้นางศิริวรรณซึ่งมีบ้านอยู่คนละอำเภอกับโจทก์ไปเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงินเป็นข้อส่อพิรุธนั้นศาลฎีกาเห็นว่าเหตุผลต่าง ๆ ที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาเป็นเรื่องที่จำเลยคาดคิดไปเองไม่ใช่ข้อพิรุธจนถึงกับทำให้คำพยานโจทก์รับฟังไม่ได้ดังที่จำเลยฎีกาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าฝ่ายจำเลยและเชื่อว่านางครีบมารดาจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเมื่อนางครีบถึงแก่กรรมลงจำเลยซึ่งเป็นทายาทของนางครีบต้องชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งนี้ จำเลยไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share