แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ชนท้ายรถยนต์บรรทุกสิบล้อของโจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็น 561,070 บาท อีกทั้งทรัพย์สินของบริษัท ฟ. ที่บรรทุกมากับรถยนต์บรรทุกของโจทก์เสียหายคิดเป็นเงิน 350,000 บาท จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัท ฟ. ไปแล้ว 350,000 บาท และบริษัท น. ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ได้ชำระค่าซ่อมให้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาทแล้ว และถึงแม้ว่าจำเลยที่ 3 กับบริษัท น. จะมีข้อตกลงร่วมกันว่าหากมีเหตุเกิดขึ้นระหว่างรถยนต์ที่จำเลยที่ 3 กับบริษัท น. เป็นผู้รับประกันภัย ต่างฝ่ายต่างจะรับผิดชอบซ่อมแซมและชดให้ค่าเสียหายแก่รถยนต์ที่ฝ่ายตนรับประกันภัยโดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็มีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้นไม่มีผลกระทบถึงสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากมูลละเมิดในส่วนของผู้เอาประกันภัย ดังนั้น การที่บริษัท น. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ยังไม่ครบถ้วน แม้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บริษัท ฟ. ไปแล้ว แต่ในเมื่อยังไม่เต็มวงเงินยังเหลือวงเงินอีก 150,000 บาท ตามที่รับประกันภัยโจทก์ไว้ จำเลยที่ 3 ก็ต้องร่วมผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์อีก 150,000 บาท ตามวงเงินที่เหลือด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจำนวน 740,467 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 689,070 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 386,070 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหาย 361,070 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในเงินดังกล่าวด้วยในวงเงิน 150,000 บาท พร้อมทั้งให้ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ปี ในเงินจำนวนที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดนับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2539 จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70 – 3030 กาญจนบุรี ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับบริษัทนำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกและรถบรรทุกพ่วงหมายเลขทะเบียน 80 – 7124 สุราษฎร์ธานี และ 80 – 7204 สุราษฎร์ธานี ตามลำดับ จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ในวงเงิน 500,000 บาท ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ข้บรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ชนท้ายรถยนต์บรรทุกของโจทก์ ได้รับความเสียหาย เสียค่าซ่อมเป็นเงิน 520,070 บาท ค่าลากรถ 6,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ 35,000 บาท รวมเป็นเงิน 561,070 บาท บริษัทนำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์บรรทุกของโจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท ส่วนทรัพย์สินของบริษัทฟิตติ้ง เซรามิค จำกัด ที่บรรทุกมากับรถยนต์บรรทุกของโจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 350,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ชดใช้ให้แก่บริษัทฟิตติ้ง เซรามิค จำกัด ไปแล้ว
จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกและรถบรรทุกพ่วงของจำเลยที่ 2 ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทฟิตติ้ง เซรามิค จำกัด 350,000 บาท และบริษัทนำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากโจทก์ได้ชำระค่าซ่อมให้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท แล้ว ซึ่งจำเลยที่ 3 กับบริษัทนำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาตกลงกันไม่เรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน ดังนั้น จำเลยที่ 3 ได้ชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยครบถ้วนเต็มวง 500,000 บาท แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้เงินส่วนของจำเลยที่ 3 ให้โจทก็อีก 150,000 บาท นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะมีข้อตกลงกับบริษัทนำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ว่า หากมีเหตุเกิดขึ้นระหว่างรถยนต์ที่จำเลยที่ 3 กับบริษัทนำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประกันภัย ต่างจะรับผิดชอบซ่อมแซมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รถยนต์ที่ฝ่ายตนรับประกันภัยโดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากมูลละเมิดในส่วนของผู้เอาประกันภัย ดังนั้น การที่บริษัทนำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ผู้เอาประกันภัย 200,000 บาท แล้ว ยังไม่ครบถ้วนสำหรับค่าเสียหายของโจทก์ยังขาดอยู่อีก 361,070 บาท เมื่อจำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บริษัทฟิตติ้ง เซรามิค จำกัด 350,000 บาท แล้วยังไม่เต็มวงเงิน 500,000 บาท ยังเหลือวงเงินอีก 150,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกและรถบรรทุกพ่วงของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์อีก 150,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน