คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3843/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน… ผู้ใดไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 … มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี… ภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว” เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินตามมาตรา 9 วรรคสี่ ให้แก่โจทก์เสร็จแล้ว เมื่อโจทก์ทราบและไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่จำต้องรอหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนก่อน และตามบทบัญญัติมาตรา 25 วรรคหนึ่งดังกล่าวมิได้ห้ามผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนก่อนได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนแต่อย่างใดไม่ การที่โจทก์ไปยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินต่อจำเลยที่ 1 ก่อนวันที่โจทก์จะได้รับแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนก็ตาม แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ และจำเลยที่ 1 ยังได้รับและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยไม่ได้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีกด้วยโดยไม่ได้โต้แย้งเลยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ชอบประการใด ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 ได้และถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มได้ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง
ส่วนเงินค่าทดแทนความเสียหายของต้นไม้และที่ดินกับสวนส้ม โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 วินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายดังกล่าวตามขั้นตอนในมาตรา 25 วรรคหนึ่งก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องขอเงินค่าทดแทนความเสียหายส่วนนี้ต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่งได้ ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหานี้ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของศาลโดยชอบแล้ว แม้จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และไม่ได้ยกเหตุนี้ขึ้นแก้ฎีกาของโจทก์ก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 669, 672 และ 1851 ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนบางส่วนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางพลี) – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (วังน้อย) พ.ศ.2536 โจทก์อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่เดินเพิ่มต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในกำหนด 60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,353,550,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แก่โจทก์จึงเหมาะสมถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสี่อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มเป็นเงิน 39,407,250 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า… “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนต่อจำเลยที่ 1 ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว โดยโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ก่อนได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน หนังสืออุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบ เพราะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าได้มีการยื่นอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนเพิ่มตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 โจทก์จึงไม่มีอำนาจและไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มตามมาตรา 26 เห็นว่า หนังสือขอให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวงสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 672, 1851 และ 669 ฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม 2539 ทั้งสามฉบับตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 มีข้อความระบุว่า “ด้วยคณะกรรมการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของท่าน… 1. ค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ … เป็นเงิน … บาท …จึงขอให้ท่านไปตกลงราคาค่าทดแทนดังกล่าวข้างต้น…” เมื่อพิจารณาหนังสือทั้งสามฉบับดังกล่าวประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน… ผู้ใดไม่พอใจในราคาของอสังริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 … มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี… ภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว” และมาตรา 9 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทน ให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์… และดำเนินการให้แล้วเสร็จและประกาศราคาที่กำหนดไว้ ณ สถานที่ตามมาตรา 7 ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันได้รับแต่งตั้ง” ดังนี้ จากหนังสือขอให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนฯ ตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 ดังกล่าวประกอบกับบัญญัติมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 9 วรรคสี่ จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินมาตรา 9 วรรคสี่ให้แก่โจทก์เสร็จแล้ว เมื่อโจทก์ทราบและไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวโจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่จำต้องรอหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนก่อน และตามบทบัญญัติมาตรา 25 วรรคหนึ่งดังกล่าว มิได้ห้ามผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนก่อนได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนแต่อย่างใดไม่ นอกจากนั้นภายหลังจากที่โจทก์ไปยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินต่อจำเลยที่ 1 ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 เอกสารหมาย จ.8 แล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ และจำเลยที่ 1 ยังได้รับและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยไม่ได้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีกด้วย โดยไม่ได้โต้แย้งเลยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ชอบประการใด ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 ได้และถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลของเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มได้ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องของเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มนั้นฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสี่ว่า โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้อีกหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ในการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนนั้น พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้ว ให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามเป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม
ถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืน ได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน แต่ไม่ให้ถือว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนเพื่อจะให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกลับต้องใช้เงินให้อีก” ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์จึงต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวทุกอนุมาตราประกอบกัน และหากการเวนคืนนั้นได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือยู่นั้นมีราคาสูงขึ้นก็ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นมาหักออกจากเงินค่าทดแทนด้วย ศาลฎีกาได้พิจารณาสภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดินของโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความจากโจทก์กับนายสมพิธ สาชำนาญ พยานโจทก์และนายมนัส ทองรอด พยานจำเลยทั้งสี่สอดคล้องเจือสมกันและรับกับแผนที่ภาพภ่าย แผนผังแสดงเขตที่ดินที่ขออนุมัติและจ่ายเงินค่าทดแทนเอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.17 และ จ.23 ว่า ที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์มีสภาพเป็นที่ดินแปลงใหญ่ แต่ละแปลงมีเนื้อที่กว่า 240 ไร่ขึ้นไป และถูกเวนคืนบางส่วนเป็นเนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา เนื้อที่ 20 ไร่ 22 ตารางวา และเนื้อที่ 28 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.7 ตามลำดับ ที่ดินโฉนดเลขที่ 672 เป็นที่ทำนาปลูกข้าวและอยู่ห่างจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1851 และ 669 ประมาณ 500 เมตร ที่ดินโฉนดเลขที่ 1851 และ 669 โจทก์พัฒนาเป็นสวนส้มเขียวหวานเนื้อที่ประมาณ 460 ไร่ ส่วนที่เหลือเนื้อที่ประมาณ 128 ไร่ เป็นที่นาและเป็นที่ตั้งของโรงเรียนชั้นประถมศึกษา ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวอยู่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน ที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกติดคลองชลประทานซึ่งมีถนนเลียบคลองเป็นถนนลูกรังกว้างประมาณ 10 เมตร ส่วนด้านทิศตะวันตกติดคลองสี่ซึ่งมีถนนเลียบคลองสี่เป็นถนนลาดยางกว้างประมาณ 12 เมตร อยู่ห่างจากถนนพหลโยธินประมาณ 11 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากอำเภอคลองหลวงประมาณ 8 กิโลเมตร จากสภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเป็นที่ดินสำหรับการเกษตรกรรม ยังไม่ได้พัฒนาที่ดินให้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและไม่ใช่อยู่ในแหล่งธุรกิจการค้าที่มีความเจริญแล้ว แม้ที่ดินของโจทก์จะอยู่ติดถนนสาธารณะก็ตาม แต่มิใช่ถนนสายหลัก การคมนาคมย่อมสะดวกรวดเร็วสู่ถนนสายหลักไม่ได้ จึงเชื่อว่าที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนของโจทก์ตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดไม่สูงนัก และภายหลังจากมีการเวนคืนแล้วที่ดินโฉนดเลขที่ 1851 และ 669 ของโจทก์ถูกแนวถนนตามโครงการนี้ผ่าเกือบกึ่งกลางตัดแยกแบ่งที่ดินแต่ละแปลงออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 672 ถูกเวนคืนจากส่วนที่อยู่ติดถนนเลียบคลองสี่เรื่อยเข้ามา แต่ละแปลงมีเนื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเป็นจำนวนมาก โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 672 มีเนื้อที่ 254 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวา ถูกเวนคืนเนื้อที่เพียง 15 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 1851 มีเนื้อที่ 240 ไร่ 1 งาน 54 ตารางวา ถูกเวนคืนเนื้อที่เพียง 20 ไร่ 22 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 669 มีเนื้อที่ 360 ไร่ 1 งาน 55 ตารางวา ถูกเวนคืนเนื้อที่เพียง 28 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา รวมแล้วที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ 855 ไร่เศษ ถูกเวนคืนทั้งหมดเนื้อที่เพียง 64 ไร่เศษ เท่านั้น และจากคำเบิกความของนายธีรพงษ์ อารยเมธี ข้าราชการของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 พยานโจทก์ว่า ทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 เป็นทางหลางมาตราฐานชั้นพิเศษมีทางคู่ขนานเป็นทางสัญจรไปมาโดยเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกับทางคู่ขนานสามารถทำทางเชื่อมกับทางคู่ขนานได้โดยยื่นคำร้องขออนุญาตต่อจำเลยที่ 5 ที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนจึงมีสภาพและทำเลที่ตั้งเปลี่ยนไปเป็นที่ดินอยู่ติดกับทางคู่ขนานของทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ทำให้ที่ดินของโจทก์แต่ละแปลงซึ่งเดิมอยู่ติดถนนเลียบคลองสี่และถนนเลียบคลองชลประทานเท่านั้นกลายเป็นที่ดิน 6 แปลง และที่ดินทั้ง 6 แปลงดังกล่าวมีส่วนที่ติดถนนแปลงละ 2 สาย ย่อมทำให้ที่ดินแต่ละแปลงมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น ถนนตามโครงการนี้เป็นถนนมาตรฐานขนาดใหญ่มีเขตทางกว้างถึง 100 เมตร ยาวกว่า 60 กิโลเมตร โดยด้านนอกของเขตทางทั้งสองข้างเป็นทางคู่ขนานเพื่อให้เจ้าของที่ดินที่อยู่ติดทางคู่ขนานและประชาชนทั่วไปใช้เป็นทางสัญจรไปมาได้โดยสะดวก ดังนั้น การคมนาคมเข้าออกที่ดินของโจทก์แต่ละแปลงที่เหลือจากการเวนคืนย่อมมีความสะดวกรวดเร็วกว่าเดิมเป็นอันมาก และสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินในเชิงพาณิชย์ได้ด้วยอันจะเป็นผลทำให้ที่ดินของโจทก์แต่ละแปลงที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมมาก ดังที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า เมื่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครเสร็จแล้วที่ดินของโจทก์ก็จะอยู่บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครจะมีราคาสูงกว่าที่ดินที่ติดถนนพหลโยธินกว้างเพียง 80 เมตร ส่วนถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร มีความกว้าง 100 เมตร ประกอบกับที่ดินของโจทก์แต่ละแปลงที่เหลือจากการเวนคืนมีเนื้อที่มากกว่าที่ดินถูกเวนคืนกว่า 10 เท่า แม้ที่ดินของโจทก์แต่ละแปลงที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นเล็กน้อยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 10 ของราคาเดิม ราคาของที่ดินส่วนที่สูงขึ้นของที่ดินแต่ละแปลงที่เหลือจากการเวนคืนก็จะท่วมเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแต่ละแปลงของโจทก์แล้ว หากคณะกรรมการกำหนดราคาเบี้องต้นฯ นำเอาราคาที่สูงขึ้นของที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์แล้วโจทก์อาจจะไม่ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเลย ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ตารางวาละ 2,500 บาท และตารางวาละ 1,250 บาท โดยไม่ได้นำเอาราคาที่สูงขึ้นของที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมาคิดคำนวณหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตามบทบัญญัติ มาตรา 21 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 นั้น นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์อย่างมากอยู่แล้ว หากเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์อีกก็จะไม่เป็นธรรมแก่สังคม ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีกรวมเป็นเงินจำนวน 39,407,250 บาท ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินค่าทดแทนความเสียหายของต้นไม้และที่ดินกับสวนส้มของโจทก์เป็นเงินจำนวน 1,500,000 บาท และ 64,000,000 บาท ตามลำดับหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาอ้างในทำนองว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นความเสียหายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคท้าย เห็นว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 ตามสำเนาหนังสือขอให้เพิ่มราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวงเอกสารหมาย จ.8 โดยกล่าวว่าราคาค่าทดแทนที่ดินเบื้องต้นที่กำหนดให้แก่โจทก์ตารางวาละ 1,250 บาท และตารางวาละ 2,500 บาท เป็นราคาที่ต่ำอย่างยิ่งคือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ และ 20 เปอร์เซ็นต์ ของราคาซื้อขายที่ดินปลายปี 2538 ซึ่งตกตารางวาละ 12,500 บาท จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาเพิ่มเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องเป็นธรรมและใช้ราคาเดียวกันทั้งสามแปลงเพื่อให้เป็นไปตามมติรัฐมนตรีล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539 ที่ว่าทางราชการพร้อมที่จะจ่ายเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินในราคาท้องตลาด อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ได้อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 วินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายของต้นไม้และที่ดินกับสวนส้มของโจทก์ก่อนตามขั้นตอนในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอเงินค่าทดแทนความเสียหายส่วนนี้ต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหานี้ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของศาลโดยชอบแล้ว แม้จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การต่อสู่ไว้และไม่ได้ยกเหตุนี้ขึ้นแก้ฎีกาของโจทก์ก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในส่วนนี้ของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share