คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4232/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาเช่าบริการวิทยุคมนาคมความถี่สูงมากจากโจทก์โดยตามระเบียบของโจทก์แยกการคิดค่าเช่าออกเป็น 2 ส่วน คือค่าเช่าเครื่องกับค่าใช้บริการกรณีตามสัญญาเช่าพิพาทเป็นการคิดเฉพาะค่าใช้บริการเพราะจำเลยจัดหาเครื่องวิทยุมาเองการที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายของเครื่องวิทยุซึ่งตกเป็นของโจทก์ตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา จึงมิใช่คดีอันผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าบริการวิทยุคมนาคมความถี่สูงมากกับโจทก์ระหว่างอายุสัญญาเช่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า และนำเครื่องวิทยุคมนาคมไปติดตั้งที่สำนักงานและถูกศาลจังหวัดภูเก็ตพิพากษาริบ โจทก์จึงขอรับเครื่องวิทยุคมนาคมคืนมา ปรากฏว่าอุปกรณ์บางส่วนเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าใช้บริการที่ค้างชำระจำนวน 6,000 บาทและค่าเสียหายจำนวน 10,850 บาท รวมเป็นเงิน 16,850 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจำพวกที่ค้าในการเช่าสังหาริมทรัพย์และเป็นผู้ค้าในการรับทำการงานต่าง ๆ สิทธิเรียกร้องค่าเช่าค้างชำระจึงมีอายุความ 2 ปี ส่วนค่าสูญหายและเสียหายของอุปกรณ์เครื่องใช้ของเครื่องวิทยุคมนาคมมีอายุความ 6 เดือนโจทก์ฟ้องเกินกำหนดดังกล่าวจึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน8,550 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินต้นแก่โจทก์เสร็จสิ้น
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเพิ่มอีก 2,200 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นไปตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 และตามสัญญาข้อ 1 ระบุว่า “ผู้ให้เช่าตกลงให้เช่าและผู้เช่าตกลงเช่า ใช้บริการวิทยุคมนาคมความถี่สูงมากของผู้ให้เช่า เพื่อติดต่อธุรกิจของผู้เช่า” และข้อ 3ระบุว่า “…ผู้เช่าตกลงชำระค่าเช่าใช้บริการตามสัญญานี้รวมเป็นเงินเดือนละ 1,000 บาท ประกอบกับระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 4 ระบุว่าในระเบียบนี้” ค่าเช่าใช้หมายความว่า ค่าเช่าเครื่องและค่าใช้บริการรวมกัน…” และข้อ 39ระบุว่าถ้าผู้ขอเช่าจัดหาเครื่องมาเองให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการสื่อสารในทันทีที่นำมาใช้งาน ซึ่งระเบียบนี้ได้นำไประบุไว้ในสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 12 ว่า ผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ด้วย ดังนี้การที่สัญญาเอกสารหมาย จ.4 คิดค่าเช่าใช้บริการเพียงเดือนละ 1,000 บาท เนื่องจากจำเลยเป็นผู้นำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ของจำเลยมาใช้เอง แทนที่จะคิดเดือนละ 1,500 บาท ดังเช่นกรณีที่ผู้เช่าไม่ได้จัดหาเครื่องมาใช้เองแต่ใช้เครื่องของโจทก์ จึงเห็นได้ว่าการคิดค่าเช่าใช้ของโจทก์ตามระเบียบแยกออกได้เป็น 2 ส่วนคือค่าเช่าเครื่องส่วนหนึ่งและค่าใช้บริการอีกส่วนหนึ่ง กรณีตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 เป็นการคิดเฉพาะค่าใช้บริการมิได้คิดค่าเช่าเครื่องด้วย สัญญานี้จึงมิได้รวมค่าเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ด้วย การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายของเครื่องวิทยุคมนาคมจึงมิใช่คดีอันผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่า ซึ่งจะต้องใช้อายุความหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 563
พิพากษายืน

Share