คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4232/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญาการเช่าใช้บริการวิทยุคมนาคมความถี่สูงมากโดยจำเลยผู้เช่าเป็นผู้จัดซื้อเครื่องวิทยุคมนาคมมาใช้เองแต่เครื่องวิทยุคมนาคมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้ให้เช่าทันทีจำเลยนำเครื่องไปติดตั้งผิดสถานที่จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีในที่สุดศาลยึดเครื่องวิทยุคมนาคมของโจทก์และโจทก์ได้รับคืนจากศาลและฟ้องเรียกค่าเครื่องวิทยุคมนาคมเสียหายและค่าอุปกรณ์สูญหายจากจำเลย ดังนี้ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นไปตามสัญญา เมื่อตามข้อสัญญาและตามระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทยซึ่งนำมาระบุไว้ในสัญญาด้วยนั้น ค่าเช่า หมายความว่า ค่าเช่าเครื่องและค่าใช้บริการรวมกัน การคิดค่าเช่าใช้แยกได้เป็น 2 ส่วนคือค่าเช่าเครื่องส่วนหนึ่งและค่าใช้บริการอีกส่วนหนึ่ง การที่ในสัญญาคิดค่าเช่าใช้บริการจากจำเลยเพียงเดือนละ 1,000 บาทเนื่องจากจำเลยเป็นผู้นำเครื่องวิทยุและอุปกรณ์มาใช้เองจึงเป็นการคิดเฉพาะค่าใช้บริการมิได้คิดค่าเช่าเครื่องด้วย การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายของเครื่องวิทยุคมนาคมจึงมิใช่คดีอันผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าซึ่งจะต้องใช้อายุความ 6 เดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าบริการวิทยุคมนาคมความถี่สูงมากพร้อมอุปกรณ์ติดตั้งประจำเรือยนต์ขุดแร่กับโจทก์ ค่าเช่าเดือนละ1,000 บาท ต่อมาจำเลยตกลงเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์ ระหว่างอายุสัญญาเช่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าและในช่วงระยะที่มีการเช่า จำเลยนำเครื่องวิทยุคมนาคมไปติดตั้งที่สำนักงานและถูกศาลพิพากษาริบโดยจำเลยไม่โต้แย้ง โจทก์จึงได้รับเครื่องวิทยุคมนาคมคืนมาโจทก์ขอคิดค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าเช่า ค่าสายอากาศ ขายึดเครื่องกับที่แขวนไมโครโฟนสูญหาย และปลั๊กไมโครโฟนชำรุดเสียหายขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าใช้บริการที่ค้างชำระ และค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 16,850 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจำพวกที่ค้าในการเช่าสังหาริมทรัพย์และเป็นผู้ค้าในการรับทำการงานต่าง ๆ สิทธิเรียกร้องจึงมีอายุความ 2 ปี ค่าเช่าที่ค้างชำระขาดอายุความ ค่าสูญหายและเสียหายของอุปกรณ์เครื่องใช้ของเครื่องวิทยุคมนาคมมีอายุความ6 เดือน ขาดอายุความ โจทก์เรียกค่าขาดประโยชน์เดือนละ 1,500 บาทนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวหากจำเลยยังใช้บริการอยู่ โจทก์ก็คงเรียกค่าเช่าได้เพียงเดือนละ 1,000 บาท จึงเป็นค่าเสียหายจำนวนเงิน5,694.30 บาท เท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 8,550 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินต้นแก่โจทก์เสร็จสิ้น คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเพิ่มอีก2,200 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีประเด็นมาสู่ศาลฎีกาว่าคดีโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายของเครื่องวิทยุคมนาคมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 หรือไม่ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นที่จำเลยฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาการเช่าใช้บริการวิทยุคมนาคมความถี่สูงมากตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 จำเลยผู้เช่าเป็นผู้จัดซื้อเครื่องวิทยุคมนาคมตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4มาใช้เอง แต่เครื่องวิทยุคมนาคมที่จำเลยซื้อมาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้ให้เช่าทันทีตามระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาจำเลยนำเครื่องไปติดตั้งไว้ที่สำนักงานของจำเลยซึ่งเป็นการติดตั้งผิดสถานที่ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2เป็นการไม่ชอบ เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีกับจำเลยผู้เช่าในที่สุดศาลจังหวัดภูเก็ตยึดเครื่องวิทยุคมนาคมของโจทก์และต่อมาโจทก์ได้ขอคืนเครื่องวิทยุคมนาคมและได้รับคืนจากศาลจังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2527 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.17 ปรากฏว่าเครื่องวิทยุคมนาคมที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เสียหายและอุปกรณ์สูญหายเป็นเงิน 2,300 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.18 แต่โจทก์อุทธรณ์ขอเพียง 2,200 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ตามนั้น โจทก์ไม่ฎีกาโต้แย้งจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โจทก์แจ้งให้จำเลยชดใช้ จำเลยทราบแล้วเพิกเฉย โจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2532 โดยอาศัยสัญญาเอกสารหมาย จ.4ข้อ 8 ศาลฎีกาเห็นว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นไปตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 และตามสัญญาข้อ 1 ระบุว่า “ผู้ให้เช่าตกลงให้เช่าและผู้เช่าตกลงเช่า ใช้บริการวิทยุคมนาคมความถี่สูงมากของผู้ให้เช่า เพื่อติดต่อธุรกิจของผู้เช่า” และข้อ 3 ระบุว่า”ผู้เช่าตกลงชำระค่าเช่าใช้บริการตามสัญญานี้รวมเป็นเงินเดือนละ1,000 บาท หากผู้เช่าใช้บริการเกินกว่า 100 ครั้งต่อเดือนผู้เช่ายินยอมชำระค่าเช่าใช้บริการส่วนที่เกินอีกครั้งละ 10 บาท”และหมายเหตุท้ายสัญญาระบุว่า “เนื่องจากผู้เช่าซื้อเครื่องมาใช้เองต้องเสียค่าบริการเดือนละ 1,000 บาท ในระยะเวลา 30 เดือนนับตั้งแต่นำเครื่องมาใช้งานและผู้เช่าใช้ไปแล้ว 12 เดือน ในสัญญาฉบับนี้ที่มีผลบังคับใช้ให้นับเป็นเดือนที่13 เมื่อครบ 30 เดือนแล้วผู้เช่าต้องชำระในอัตราใหม่ตามระเบียบของการสื่อสาร” ประกอบกับระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 4 ระบุว่าในระเบียบนี้ “ค่าเช่าใช้หมายความว่า ค่าเช่าเครื่องและค่าใช้บริการรวมกัน” และข้อ 39 ระบุว่าถ้าผู้ขอเช่าจัดหาเครื่องมาเองให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการสื่อสารในทันทีที่นำมาใช้งาน ซึ่งระเบียบนี้ได้นำไประบุไว้ในสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 12 ว่า ผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ด้วย ดังนี้การที่สัญญาเอกสาร จ.4 คิดค่าเช่าใช้บริการเพียงเดือนละ 1,000 บาท เนื่องจากจำเลยเป็นผู้นำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ของจำเลยมาใช้เอง แทนที่จะคิดเดือนละ1,500 บาท ดังเช่นกรณีที่ผู้เช่าไม่ได้จัดหาเครื่องมาใช้เองแต่ใช้เครื่องของโจทก์ ตามที่นายพิทักษ์ ห่อผล นิติกร 5 ของโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้าน จึงเห็นได้ว่าการคิดค่าเช่าใช้ของโจทก์ตามระเบียบแยกออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ค่าเช่าเครื่องส่วนหนึ่งและค่าใช้บริการอีกส่วนหนึ่ง กรณีตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 เป็นการคิดเฉพาะค่าใช้บริการมิได้คิดค่าเช่าเครื่องด้วยและขณะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้ก็ยังคงอยู่ในระยะเวลา 30 เดือน ตามสัญญาที่กำหนดเงื่อนไขคิดเฉพาะค่าใช้บริการเดือนละ 1,000 บาท สัญญานี้จึงมิได้รวมค่าเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ด้วย การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายของเครื่องวิทยุคมนาคมจึงมิใช่คดีอันผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่า ซึ่งจะต้องใช้อายุความหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 563 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share