คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7738/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญากู้ยืมเงินและจำนองขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 974,629 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้นำที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งจะเห็นว่าตามสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ มูลฟ้อง และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแตกต่างกัน ถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องเรื่องเดียวกัน แม้มูลหนี้จะสืบเนื่องมาจากการกู้ยืมและสัญญาจำนองเช่นเดียวกัน ฟ้องคดีนี้ก็ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน
แม้ศาลจะพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาจำนองแล้ว แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้ชำระให้เสร็จสิ้น มูลหนี้ตามเช็คพิพาทยังไม่ระงับ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางยี่ขัน จำนวนเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ เพื่อชำระหนี้กู้ยืมตามสัญญาจำนองที่ดิน เมื่อเช็คถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 105,280 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องไม่ให้เกิน 5,280 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยกู้ยืมเงินและนำที่ดินมาจำนองเป็นประกันไว้แก่โจทก์ กำหนดไถ่ถอนจำนองภายใน 1 ปี และในวันดังกล่าวจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2541 ตรงกับวันครบกำหนดไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ ครั้นครบกำหนดจำเลยไม่ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง โจทก์ได้นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาจำนองต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 12537/2541 และระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว โจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 12537/2541 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญากู้ยืมเงินและจำนอง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 974,629 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้นำที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งจะเห็นได้ว่าตามสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับมูลฟ้อง และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแตกต่างกัน ถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องเรื่องเดียวกัน แม้มูลหนี้จะสืบเนื่องมาจากการกู้ยืมและสัญญาจำนองเช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 12537/2541 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ยืมตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยจนศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เงินกู้ยืมตามหนังสือสัญญาจำนองดังกล่าวแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ในคดีนี้อีก จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้ศาลจะพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ตามหนังสัญญาจำนองดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้ชำระให้เสร็จสิ้น มูลหนี้ตามเช็คพิพาทยังไม่ระงับ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share