คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 422/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยเป็นการหยิบยกเอาข้อเท็จจริงแต่เพียงบางส่วนขึ้นเป็นเหตุอ้างว่าศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคำรับของคู่ความดังนี้เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง แม้ว่าการทำงานล่วงเวลากับการทำงานเกินเวลาทำงานปกติจะมีความหมายที่แตกต่างกัน แต่ต่างก็เนื่องมาจากการที่ ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างนอกเวลาทำงานปกตินั่นเอง และแตกต่างกันเพียงแต่ค่าตอบแทนว่า หากเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาก็จะมี อัตราเท่าครึ่งในวันธรรมดาหรือสามเท่าในวันหยุดแล้วแต่กรณี แต่ถ้าการที่ลูกจ้างทำงานเกินเวลาทำงานปกติโดยนายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาตามกฎหมาย นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าทำงาน ที่ลูกจ้างทำงานเกินเวลาทำงานปกติให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้าง ตามเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกตินั้น เมื่อคดีปรากฏข้อเท็จจริง ว่าโจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติแล้ว ศาลแรงงานย่อมพิพากษาให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าทำงานที่โจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานตามลำดับ ทำหน้าที่พนักงานขับรถลิมูซีน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 240 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 5 ของเดือนมีวันหยุดประจำสัปดาห์เดือนละ 15 วันทำงาน 15 วัน ตั้งแต่เวลา5 นาฬิกา ถึง 5 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นจึงเป็นการทำงานเกินเวลาทำงานปกติไปวันละ 16 ชั่วโมง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติสำหรับเวลาที่ทำเกินและสามเท่าของค่าจ้างในวันทำงานสำหรับจำนวนชั่วโมงที่ทำเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุด แต่จำเลยไม่จ่ายค่าล่วงเวลาในปี 2537 ถึงปี 2539 แก่โจทก์ทั้งสอง เวลาในวันทำงานปกติจำนวน 293,040 บาท ค่าทำงานเกินเวลาในวันหยุดจำนวน24,480 บาท และคืนเงินค้ำประกัน 10,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1กับจ่ายเงินแก่โจทก์ที่ 2 เป็นค่าทำงานเกินเวลาในวันทำงานปกติจำนวน 254,160 บาท ค่าทำงานเกินเวลาในวันหยุดจำนวน24,480 บาท ค่าจ้างค้าง 4,675 บาท และคืนเงินประกัน10,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติจำนวน 125,280 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน95,520 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และคืนเงินประกัน 4,000 บาทแก่โจทก์ที่ 2 คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าในช่วงเวลาการทำงานใน 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมงโจทก์ทั้งสองจะใช้เวลาในการขับรถ 10 ชั่วโมงขึ้นไป ส่วนเวลาที่เหลือต้องอยู่ในห้องพักภายในโรงแรมที่จำเลยจัดให้ แต่โจทก์ทั้งสองยังต้องรับผิดชอบดูแลรถยนต์ที่ตนขับ เพราะหากรถยนต์หรือทรัพย์สินภายในรถยนต์สูญหาย โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชอบและจำเลยสามารถที่จะเรียกโจทก์ทั้งสองได้ตลอดเวลาที่มาลงเวลาทำงาน ดังนั้นตลอดเวลา24 ชั่วโมง ที่โจทก์ทั้งสองลงเวลาทำงานเป็นเวลาทำงานซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกัน เพราะโจทก์ทั้งสองและจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า หากรถยนต์ที่ขับเสียหายหรือทรัพย์สินในรถสูญหาย พนักงานขับรถที่ดูแลหรือครอบครองในช่วงเวลาดังกล่าวต้องรับผิดชอบ มิได้หมายความไปถึงว่าขณะที่พนักงานขับรถไม่ได้ขับรถและรออยู่ในห้องพักจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถหรือทรัพย์สินในรถด้วย จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ขัดหรือแย้งกับข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกัน เป็นการไม่ชอบนั้น ปรากฏว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางฉบับลงวันที่10 มิถุนายน 2540 นอกจากคำรับของโจทก์ทั้งสองและจำเลยเกี่ยวกับความรับผิดชอบหากรถที่ขับเสียหายหรือทรัพย์สินในรถสูญหายพนักงานขับรถที่ดูแลหรือครอบครองในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อเท็จจริงตามคำแถลงรับของโจทก์ทั้งสองและจำเลยต่อไปว่า หากไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวสูญหายหรือเสียหายขณะอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานขับรถคนใด พนักงานขับรถทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดอีกด้วย และที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ที่เคยเบิกความในคดีหมายเลขดำที่ 9205/2539 ของศาลแรงงานกลาง ตามเอกสารหมาย จ.ล.2 มาวินิจฉัยก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยรับกัน เพราะโจทก์ทั้งสองและจำเลยรับกันแต่เพียงว่าโจทก์ที่ 1 เคยเบิกความไว้แล้วในคดีหมายเลขดำที่ 9205/2539 แต่ไม่ได้รับกันว่าข้อเท็จจริงจะเป็นดังที่โจทก์ที่ 1 เบิกความไว้หรือไม่ จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงขัดหรือแย้งกับข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกัน เป็นการไม่ชอบด้วยนั้น ก็ปรากฏว่าคำเบิกความของโจทก์ที่ 1ในคดีหมายเลขดำที่ 9205/2539 ของศาลแรงงานกลางเอกสารหมาย จ.ล.2 เป็นเอกสารที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างอ้างส่งต่อศาลเป็นพยานในคดีนี้ร่วมกัน ฉะนั้น อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวล้วนเป็นการหยิบยกเอาข้อเท็จจริงแต่เพียงบางส่วนขึ้นเป็นเหตุอ้างว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคำรับของคู่ความจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า ตามประเด็นข้อพิพาท ข้อ 1และข้อ 3 ว่าโจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาในวันทำการและวันหยุดวันใด และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในค่าล่วงเวลาตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด แต่ศาลแรงงานกลางกลับพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติแก่โจทก์ทั้งสอง เป็นการพิพากษาไม่ตรงกับประเด็นข้อพิพาทเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าแม้ว่าการทำงานล่วงเวลากับการทำงานเกินเวลาทำงานปกติจะมีความหมายที่แตกต่างกันแต่ต่างก็เนื่องมาจากการที่ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างนอกเวลาทำงานปกตินั่นเองจะแตกต่างกันเพียงแต่ค่าตอบแทนว่าหากเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาก็จะมีอัตราเท่าครึ่งในวันธรรมดา หรือสามเท่าในวันหยุด แล้วแต่กรณีแต่ถ้าการที่ลูกจ้างทำงานเกินเวลาทำงานปกติโดยนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาตามกฎหมายนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าทำงานที่ลูกจ้างทำงานเกินเวลาทำงานปกติให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างตามเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกตินั้น เมื่อคดีปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสองทำงานเกินเวลาทำงานปกติแล้วศาลแรงงานกลางย่อมพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานที่โจทก์ทั้งสองทำงานเกินเวลาทำงานปกติแก่โจทก์ทั้งสองได้หาใช่เป็นการพิพากษาที่ไม่ตรงกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีดังที่จำเลยอ้างไม่
พิพากษายืน

Share