แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หลักวิชาการเป็นเพียงทฤษฎีโดยทั่วไปเท่านั้นการเจริญเติบโตของต้นไม้ชนิดต่างๆรวมทั้งไม้สนพิพาทจะต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นอีกหลายประการเช่นความสมบูรณ์ของพื้นดินที่ปลูกการให้ปุ๋ยน้ำภูมิอากาศฯลฯดังนี้เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการที่โจทก์อ้างอิงจึงไม่ใช่พยานหลักฐานที่บ่งบอกได้โดยแน่นอนว่าไม้สนพิพาทของจำเลยที่1มีอายุไม่ถึง6ปีเมื่อจำเลยที่1และที่3มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารสืบแสดงได้ว่าจำเลยที่1ปลูกไม้สนพิพาทในที่ดินมาตั้งแต่ปี2522นับถึงวันที่จำเลยที่3ขายไม้สนดังกล่าวให้แก่โจทก์ไม้สนพิพาทมีอายุเกิน6ปีแล้วพยานหลักฐานของจำเลยที่1และที่3มีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ส่วนข้อตำหนิที่ว่าไม้สนที่โจทก์ซื้อและตัดจากที่ดินของจำเลยที่1มีขนาดเล็กกว่าปกตินั้นก็คงเนื่องมาจากพื้นดินที่ปลูกเป็นดินเปรี้ยวและแม้โจทก์จะนำสืบโต้เถียงว่าไม้สนพิพาทในที่ดินของจำเลยที่1ยังโตไม่ได้ขนาดที่โจทก์ต้องการจะซื้อแต่โจทก์รับว่าโจทก์ได้ตัดไม้สนในที่ดินแปลงนั้นหมดทั้งแปลงและขนไปลงเรือส่งไปขายยังต่างประเทศแล้วแสดงว่านอกจากอายุของไม้สนที่จะต้องถึง6ปีแล้วโจทก์มิได้ถือเอาขนาดของไม้สนที่ต้องการจะซื้อเป็นสาระสำคัญของสัญญาฉะนั้นแม้ไม้สนพิพาทที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่3ซึ่งตัดจากที่ดินของจำเลยที่1จะมีขนาดของลำต้นเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ถึง6นิ้วแต่เป็นต้นไม้สนที่มีอายุ6ปีแล้วไม้สนพิพาทจึงเป็นไม้สนที่มีคุณภาพตรงตามสัญญาจำเลยที่1และที่3หาได้ประพฤติผิดสัญญาด้วยการขายไม้สนที่มีอายุไม่ถึง6ปีให้แก่โจทก์ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อไม้สนกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นไม้สนอายุประมาณ 6 ปี ปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่1387 ของจำเลยที่ 1 และโฉนดเลขที่ 2968 ของจำเลยที่ 2 รวมเนื้อที่ประมาณ 118 ไร่ ราคาไร่ละ 12,000 บาท เป็นเงิน 1,416,000 บาทโจทก์วางมัดจำในวันทำสัญญา 708,000 บาท สำหรับการตัดไม้สนในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 1387 และโจทก์จะต้องชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 708,000 บาท เมื่อจะตัดไม้สนในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 2968โจทก์จะต้องตัดไม้สนในที่ดินทั้งสองแปลงให้เสร็จภายในเวลา 3 เดือนนับแต่วันทำสัญญาโจทก์เข้าตัดไม้สนในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 1387ก่อน แต่ถูกจำเลยทั้งสามขัดขวางไม่ยอมให้โจทก์เข้าไปตัด โจทก์จึงจ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งสาม 100,000 บาท แต่ปรากฎว่าไม้สนในที่ดินแปลงนี้โตไม่ได้ขนาด 6 ปี ตามสัญญา โจทก์จึงเข้าตัดในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 2968 ต่อ แต่ถูกจำเลยทั้งสามขัดขวางอีกโจทก์จึงยอมสั่งจ่ายเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาพระราม 4ลงวันที่ 30 เมษายน 2531 จำนวนเงิน 608,000 บาท มอบให้แก่จำเลยทั้งสาม การขัดขวางของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ไม่สามารถตัดไม้สนส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อทันกำหนด และผู้ซื้อเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่โจทก์ รวมเป็นเงิน 71,383.94 ดอลล่าร์สหรัฐ และโจทก์เสียหายที่ไม่สามารถส่งมอบไม้สนให้แก่ผู้ซื้อ เป็นเงิน 80,935.42ดอลลาร์สหรัฐ รวมค่าเสียหาย 152,319.36 ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันฟ้อง 3,884,143.60 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 3,884,143.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัดสาขาพระราม 4 เลขที่ 0942756 ลงวันที่ 30 เมษายน 2531 จำนวนเงิน608,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้ง ส่วนจำเลยที่ 2 กับที่ 3ให้การสรุปความว่า จำเลยที่ 1 ขายไม้สนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1387ให้แก่จำเลยที่ 3 ในราคาเหมาทั้งแปลง 708,000 บาท และจำเลยที่ 2ขายไม้สนในที่ดินโฉนดเลขที่ 2968 ให้แก่จำเลยที่ 3 ในราคาเหมารวมเป็นเงิน 430,000 บาท ไม้สนในที่ดินแปลงของจำเลยที่ 1 และที่ 2มีอายุเกิน 6 ปีแล้ว เพราะปลูกมาตั้งแต่ปี 2522 สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นการตกลงขายไม้สนเหมาทั้งแปลงเนื่องจากคู่สัญญามิได้กำหนดขนาดของไม้สนที่จะซื้อขายไว้ในสัญญา จำเลยที่ 1และที่ 3 ไม่ทราบว่าโจทก์ซื้อไม้สนไปใช้ในวัตถุประสงค์ใดและไม่เคยขัดขวางการตัดไม้สนของโจทก์ ตามสัญญาโจทก์จะต้องตัดไม้สนในที่ดินแต่ละแปลงให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน โจทก์ตัดไม้สนในที่ดินแปลงแรกเสร็จแล้วผิดสัญญาเข้าไปตัดไม้สนในที่ดินแปลงที่สองโดยไม่จ่ายเงินล่วงหน้า จำนวน 708,000 บาท เมื่อตัดไม้สนบางส่วนแล้วโจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 3 เพียง 100,000 บาท และขอผัดชำระส่วนที่เหลือโดยสั่งจ่ายเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาพระราม 4 ลงวันที่30 เมษายน 2531 จำนวนเงิน 608,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 เมื่อโจทก์ตัดไม้สนในที่ดินแปลงที่สองในเดือนเมษายน 2531 แล้ว จำเลยที่ 3จึงมอบเงินสด 100,000 บาท และเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัดสาขาพระราม 4 ลงวันที่ 30 เมษายน 2531 จำนวนเงิน 608,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นค่าซื้อไม้สน เมื่อเช็คถึงกำหนดจำเลยที่ 1นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1ทวงถามแล้ว แต่โจทก์ไม่ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2531 ถึงวันยื่นคำให้การเป็นเงิน 12,118.35 บาท รวมเป็นเงิน 620,118.35 บาทขอให้ยกฟ้องโจทก์ บังคับโจทก์ชำระเงิน 620,118.35 บาท แก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินต้น 608,000 บาทนับถัดวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ทรงเช็ค โจทก์ไม่ต้องรับผิด เพราะจำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ได้รับความเสียหายมากกว่าจำนวนเงินตามเช็ค จึงขอหักกลบลบหนี้ตามเช็คกับค่าเสียหายของโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 608,000บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม2531 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 แต่จำนวนดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องแย้ง (วันที่ 9 สิงหาคม 2531) โจทก์ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าจำนวน 12,113.35 บาท ดังที่จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ฎีกาของโจทก์ในประเด็นที่ว่าโจทก์ซื้อไม้สนจากจำเลยทั้งสามโดยกำหนดคุณภาพของไม้ว่าจะต้องมีอายุ 6 ปีหรือไม่ และจำเลยทั้งสามร่วมกันขัดขวางไม่ให้โจทก์ตัดไม้สนจริงหรือไม่เป็นประเด็นข้อแพ้ชนะ จึงเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองประเด็นนี้ก่อนประเด็นอื่น ในประเด็นที่เกี่ยวกับคุณภาพของไม้สนที่โจทก์ซื้อและตัดจากที่ดินของจำเลยที่ 1แปลงโฉนดเลขที่ 1387 ซึ่งโจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ขายไม้สนอายุเพียง 2 ปีเศษ ไม่ถึง 6 ปี ให้แก่โจทก์ผิดข้อตกลงตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไม้เอกสารหมาย จ.6 จำเลยที่ 1 และที่ 3จึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์นั้น ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์โดยนายสวัสดิ์ อุทัยศรี ประธานกรรมการโจทก์เบิกความว่า ไม้สนที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ 3 ซึ่งตัดจากที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 1387ของจำเลยที่ 1 อายุไม่ถึง 6 ปี เพราะไม้สนดังกล่าวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 3 นิ้ว ถึง 4 นิ้ว ไม่ถึง 6 นิ้ว โจทก์อ้างอิงเอกสารเผยแพร่วิชาการของกรมป่าไม้ ตามเอกสารหมาย จ.19 สนับสนุนคำเบิกความของนายสวัสดิ์ว่า หากไม้สนพิพาทที่โจทก์ซื้อและตัดจากที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 1387 ของจำเลยที่ 1 มีอายุครบ 6 ปี จริงแล้วบริเวณลำต้นเหนือพื้นดินระดับ 1.3 เมตร ของไม้สนดังกล่าวจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้ว เกี่ยวกับเรื่องอายุของไม้สนพิพาทที่ว่านี้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำสืบหักล้างว่า ขณะที่จำเลยที่ 3ขายให้แก่โจทก์ ไม้สนเหล่านั้นมีอายุเกิน 6 ปีแล้ว เพราะจำเลยที่ 1ปลูกมาตั้งแต่ปี 2522 มีพยานบุคคลและพยานเอกสารสนับสนุนเฉพาะพยานบุคคลนอกจากตัวจำเลยที่ 1 และที่ 3 แล้วยังประกอบด้วยพันตำรวจเอกเสวก วัฒนกิจ ผู้ร่วมทำสวนไม้สนกับจำเลยที่ 1นายสำรวย มั่นคง ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีบ้านอยู่ห่างจากที่ดินของจำเลยที่ 1 แปลงโฉนดเลขที่ 1387 เพียง 200 เมตร และนายเฉลียวประไพพงษ์ ลูกจ้างผู้เฝ้าดูแลรักษาไม้สนในที่ดินแปลงที่ปลูกไม้สนพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนพยานเอกสารประกอบด้วยหนังสือสัญญาจ้างเหมาขุดดินทำร่องน้ำ ยกคันดินหนังสือสัญญาซื้อขายกิ่งพันธุ์สนประดิพัทธ์และสมุดบัญชีเอกสารหมาย ล.16 ล.17 และ ล.18 ซึ่งเป็นหลักฐานที่จำเลยที่ 1 จ้างให้จำเลยที่ 3 ขุดคันดินในที่ดินแปลงดังกล่าวปลูกกิ่งพันธุ์ไม้สน และเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าจำเลยที่ 1ได้ซื้อกิ่งพันธุ์ไม้สนจากจำเลยที่ 3 มาปลูกในปี 2522 กับเป็นบัญชีรายจ่ายเกี่ยวกับการดูแลบำรุงรักษาสวนไม้สนพิพาทตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา จากข้อนำสืบของทั้งสองฝ่ายจะเห็นได้ว่า โจทก์มีเพียงนายสวัสดิ์ปากเดียวที่เบิกความว่าไม้สนที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ 3 ซึ่งตัดจากที่ดินของจำเลยที่ 1 แปลงโฉนดเลขที่ 1387มีอายุไม่ครบ 6 ปี โดยโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานแวดล้อมอื่นสนับสนุน แม้โจทก์จะอ้างอิงเอกสารหมาย จ.19 ซึ่งเป็นเอกสารเผยแพร่ทางวิชาการของกรมป่าไม้เป็นพยานสนับสนุนถ้าไม้สนพิพาทมีอายุ 6 ปีจริงแล้วตามหลักวิชาการตรงบริเวณลำต้นเหนือพื้นดินระดับ 1.3 เมตร จะโตมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้ว แต่ไม้สนพิพาทโจทก์นำสืบว่ามีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 3 นิ้ว ถึง 4 นิ้วแสดงว่าเป็นไม้สนที่มีอายุประมาณ 3 ปี ไม่ถึง 6 ปีตามสัญญาก็ตามเห็นว่าหลักวิชาการดังกล่าวเป็นเพียงทฤษฎีโดยทั่วไปเท่านั้นความจริงการเจริญเติบโตของบรรดาต้นไม้ชนิดต่าง ๆ รวมทั้งไม้สนพิพาทด้วยจะต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นอีกหลายประการ เช่น ความสมบูรณ์ของพื้นดินที่ปลูก การให้ปุ๋ยหรือสารอาหาร น้ำ ภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้น เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการที่โจทก์อ้างอิง จึงไม่ใช่พยานหลักฐานที่บ่งบอกได้โดยแน่นอนว่าไม้สนพิพาทในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 1387 ของจำเลยที่ 1 มีอายุไม่ถึง 6 ปีเมื่อเปรียบเทียบข้อนำสืบของโจทก์กับของจำเลยที่ 1 และที่ 3แล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารสืบแสดงได้ว่าจำเลยที่ 1 ปลูกไม้สนพิพาทในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่1387 มาตั้งแต่ปี 2522 นับถึงวันที่จำเลยที่ 3 ขายไม้สนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ไม้สนพิพาทมีอายุเกิน 6 ปีแล้ว พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ส่วนข้อตำหนิที่ว่าไม้สนที่โจทก์ซื้อและตัดจากที่ดินแปลงโฉนดเลขที่1387 ของจำเลยที่ 1 มีขนาดเล็กกว่าปกติ คือมีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นเพียง 3 นิ้ว ถึง 4 นิ้ว ไม่ถึง 6 นิ้ว ตามหลักวิชาการนั้นเห็นว่า คงเนื่องมาจากพื้นดินที่ปลูกเป็นดินเปรี้ยวตามที่จำเลยที่1 และที่ 3 อ้าง เมื่อข้อตำหนิที่ว่ามิได้เป็นข้อกำหนดในสัญญาทั้งปรากฎข้อเท็จจริงว่าก่อนทำสัญญาซื้อขายไม้เอกสารหมาย จ.6โจทก์ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไปตรวจดูไม้สนพิพาทยังที่ดินของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นว่าไม้สนในที่ดินทั้งสองแปลงที่โจทก์จะซื้อมีขนาดโตได้มาตรฐานตามที่โจทก์ต้องการโจทก์จึงยอมทำสัญญาซื้อไม้สนดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งแม้โจทก์จะนำสืบโต้เถียงว่าไม้สนพิพาทในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 1387 ของจำเลยที่ 1 ยังโตไม่ได้ขนาดที่โจทก์ต้องการจะซื้อ แต่โจทก์โดยนายสวัสดิ์ก็นำสืบรับว่าโจทก์ได้ตัดไม้สนในที่ดินแปลงนั้นหมดทั้งแปลงและขนไปลงเรือส่งไปขายยังต่างประเทศแล้ว แสดงว่านอกจากอายุความของไม้สนที่จะต้องถึง 6 ปีแล้วโจทก์มิได้ถือเอาขนาดของไม้สนที่ต้องการจะซื้อเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญา ฉะนั้น แม้ไม้สนพิพาทที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ 3 ซึ่งตัดจากที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 1387 ของจำเลยที่ 1 จะมีขนาดของลำต้นเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ถึง 6 นิ้ว แต่เป็นไม้สนที่มีอายุ 6 ปีแล้วไม้สนพิพาทก็เป็นไม้สนที่มีคุณภาพตรงตามสัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 3หาได้ประพฤติผิดสัญญาด้วยการขายไม้สนที่มีอายุไม่ถึง 6 ปีให้แก่โจทก์ดังที่โจทก์ฎีกาไม่”
ส่วนประเด็นที่ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันขัดขวางไม่ให้โจทก์ตัดไม้สนจริงหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ขัดขวางไม่ยอมให้โจทก์ขนไม้สนที่ตัดออกจากที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 2968 ของจำเลยที่ 2เป็นเหตุให้ไม้สนที่ตัดจากที่ดินแปลงดังกล่าวถูกกักขังไว้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2531 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2531 เป็นเวลา 6 วันทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์นำสืบรับว่าสาเหตุแห่งการที่จำเลยที่ 3 ขัดขวางมิให้โจทก์ตัดและขนไม้สนออกไปจากที่ดินของเจ้าของที่ดินที่ปลูกไม้สนพิพาทเนื่องมาจากจำเลยที่ 3 ต้องการให้โจทก์ชำระค่าไม้สนในที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้ครบเสียก่อนเท่านั้น ซึ่งแม้โจทก์จะมีข้อโต้แย้งอยู่บ้างในชั้นแรก แต่ในที่สุดโจทก์ก็ยอมชำระให้ตามที่จำเลยที่ 3 เรียกร้องเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ก็เท่ากับโจทก์ยอมรับว่าข้ออ้างที่จำเลยที่ 3 ยกมาเป็นเหตุแห่งการขัดขวางมิให้โจทก์ตัดและขนไม้สนพิพาทออกไปจากที่ดินของเจ้าของที่ดินเป็นข้ออ้างที่ชอบ ทั้งได้ความว่าหลังจากโจทก์ได้ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท และสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วโจทก์ก็ได้ตัดและขนไม้สนในที่ดินทั้งสองแปลง คือทั้งแปลงโฉนดเลขที่ 1387 ของจำเลยที่ 1 และแปลงโฉนดเลขที่ 2968 ของจำเลยที่ 2 ไปหมดแล้ว ดังนั้น ข้อโต้เถียงของทั้งสองฝ่ายที่ว่าจำเลยที่ 3 ขัดขวางมิให้โจทก์ตัดและขนไม้สนพิพาทออกไปจากที่ดินของเจ้าของที่ดินแปลงใด เพื่อนำไปสู่ข้อวินิจฉัยว่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ฝ่ายใดเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญาต่อกัน จึงไม่เป็นสาระที่ต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะเมื่อโจทก์ยอมรับเอาไม้สนจากที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่จำเลยที่ 3เป็นผู้ขายให้ทั้งสองแปลงแล้ว ภาระหน้าที่ของโจทก์คือการที่โจทก์จะต้องชำระค่าไม้สนที่โจทก์ตัดและขนไปจากที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 3 โดยครบถ้วนตามสัญญา ข้อโต้เถียงของทั้งสองฝ่ายที่จำเลยที่ 3 ขัดขวางมิให้โจทก์ตัดและขนไม้สนออกไปจากที่ดินแปลงใดแม้จะฟังได้ตามที่โจทก์หรือจำเลยที่ 3 อ้างก็ไม่ทำให้โจทก์หลุดพ้นจากภาระหน้าที่ที่จะต้องชำระเงินค่าไม้สนให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 ขัดขวางมิให้โจทก์ตัดและขนไม้สนออกไปจากที่ดินของเจ้าของที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งโดยชอบแล้ว การขัดขวางของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ประพฤติผิดสัญญาจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายทั้งปวงที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้งนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในประเด็นอื่นไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษายืน