แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21ได้กำหนดเงินค่าทดแทนแก่ผู้มีสิทธิได้รับโดยคำนึงถึง(1)ถึง(5)ประกอบกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยทั่วไปราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามมาตรา21(1)ย่อมมีราคาสูงกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามมาตรา21(3)การที่จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยใช้หลักเกณฑ์แต่เฉพาะมาตรา21(3)จึงเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลโจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯมาตรา26วรรคสามซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในเวลาที่ต่างกันอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้แม้ศาลล่างให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีคงที่จะไม่ถูกต้องแต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาศาลฎีกาไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่เกินกว่าที่ศาลล่างกำหนดและที่ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่31ตุลาคม2534นั้นเป็นการเกินไปกว่าคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่13พฤศจิกายน2534ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2220 และ2221 ตำบลคลองหนึ่ง (คลอง 1 ตก) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีรวมเนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 95 ตารางวา เมื่อปี 2531 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนหลายท้องที่รวมอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อใช้ในการสร้างและขยายทางหลวง จำเลยที่ 1 แจ้งว่าที่ดินของโจทก์ถูกเขตทางหลวงดังกล่าว ให้โจทก์ไปตกลงราคาค่าทดแทนโดยแจ้งราคาค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 2220 อัตราไร่ละ 700,000 บาท เนื้อที่ 3 งาน65 ตารางวา เป็นเงิน 638,750 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 2221 แบ่งเป็น2 ราคา อัตราไร่ละ 700,000 บาท เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 92 ตารางวาอัตราไร่ละ 500,000 บาท เนื้อที่ 1 งาน 1 ตารางวา รวมเนื้อที่2 ไร่ 93 ตารางวา เป็นเงิน 1,461,750 บาท โจทก์ขอให้ทบทวนค่าทดแทนใหม่ แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยโจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ยืนราคาตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนด โจทก์เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและต่ำกว่าราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดซึ่งมีราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 20,000 บาท ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงถูกเวนคืน 3 ไร่ 58 ตารางวา คิดเป็นเงิน 25,160,000 บาท จำเลยที่ 1 ฝากธนาคารออมสินให้โจทก์แล้ว 2,151,000 บาท คงเหลือค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 23,009,000บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 23,009,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการตามระเบียบราชการและตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ทุกประการ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดราคาโดยพิจารณาจากบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปี 2531-2533 บัญชีราคาอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ปี 2521 ราคาซื้อขายที่ดินบริเวณใกล้เคียงในปีก่อนและในปีที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอคลองหลวง อำเภอสามโคกอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. 2531 มีผลใช้บังคับกับสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่ถูกเวนคืนแต่ละแปลง ที่ดินของโจทก์กำหนดเป็น 2 ราคา คืออัตราไร่ละ 700,000 บาท และ 500,000 บาทราคาดังกล่าวนี้เป็นราคาตลาดของที่ดินที่ถูกเวนคืนในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับ ทั้งเป็นราคาสูงกว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ จึงเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน7,913,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่31 ตุลาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 2220 และ 2221ตำบลคลองหนึ่ง (คลอง 1 ตก) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีได้ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอคลองหลวง อำเภอสามโคก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานีพ.ศ. 2531 ตามเอกสารหมาย ล.1 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 2220 ไร่ละ 700,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 2221 ไร่ละ700,000 บาท และ 500,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ไม่พอใจในราคาค่าทดแทนจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ววินิจฉัยให้ยืนราคาค่าทดแทนตามราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ฯ กำหนดตามเอกสารหมาย ล.12 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า เงินค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้แก่โจทก์ในราคาเฉลี่ยทั้งแปลงตารางวาละ 8,000 บาท นั้นเป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้โจทก์ถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรมแล้วเพราะคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ฯ ได้กำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ โดยนำหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5) มาใช้ในการพิจารณาแล้ว แต่ราคาตามมาตรา 21(1) และ (2) เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามมาตรา 21(3) จึงไม่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ การใช้ราคาตามมาตรา 21(3) จึงเป็นประโยชน์แก่โจทก์มากกว่า และคณะกรรมการก็เอาหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(4) มาใช้โดยกำหนดในที่ดินส่วนที่อยู่ติดถนนสายบางขันธ์-อำเภอคลองหลวง ได้ค่าทดแทนไร่ละ 700,000 บาท ส่วนที่ดินที่อยู่ลึกจากถนนเกิน60 เมตร ได้ค่าทดแทนไร่ละ 500,000 บาท ซึ่งเป็นการกำหนดตามสภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินแล้ว ทั้งโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดสำหรับที่ดินของโจทก์ในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับมีราคาเท่าใด การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ใหม่โดยเอาราคาที่ดินใกล้เคียงมาเปรียบเทียบจึงเป็นการไม่ถูกต้องและขัดต่อกฎหมาย เห็นว่าตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 บัญญัติว่า”เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้ว ให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม”เห็นได้ว่า ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 21 ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง(1) ถึง (5) ประกอบกันก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ซึ่งโดยปกติทั่วไปแล้วราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามมาตรา 21 (1) ย่อมมีราคาสูงกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามมาตรา 21 (3) ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าราคาตามมาตรา 21 (1) ต่ำกว่าราคาตามมาตรา 21 (3) โดยไม่ปรากฎว่ามีเหตุผลพิเศษ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การที่จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยใช้หลักเกณฑ์แต่เฉพาะตามมาตรา 21 (3) คือ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ดังที่ปรากฎตามสำเนาบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นเอกสารหมาย ล.4 จึงเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 (1) ถึง (5)มาพิจารณาและนำราคาในท้องตลาดของที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์มาประกอบในการกำหนดเงินค่าทดแทน ซึ่งโจทก์นำสืบว่าที่ดินของโจทก์ติดถนนสายบางขันธ์-อำเภอคลองหลวง อยู่ห่างจากถนนพหลโยธินประมาณ 150 เมตร ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ดินของนายสมพร ดีม่วงซึ่งอยู่ห่างจากที่ดินโจทก์ประมาณ100 เมตร อยู่ติดถนนพหลโยธินคนละฝั่งกับที่ดินโจทก์นั้นนายสมพรขายให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม2533 ในราคาไร่ละ 28,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.6 และที่ดินของนางสาวปวีณาหรือณัฐชุกร รุ่งเรืองธัญญา จำนวน 2 แปลง เนื้อที่รวมกัน 11 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโจทก์ได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เป็นเงิน 15,000,000 บาท ในปี2530 และมีการขึ้นเงินจำนองเป็น 23,000,000 บาท ในปี 2532 และได้ขึ้นเงินจำนองอีกรวมเป็นเงิน 48,000,000 บาท ในปี 2534ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 โดยมีนายชัยยันต์ จันทรเปารยะเจ้าหน้าที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาคลองหลวง เบิกความว่าที่ดินของนางสาวปวีณาทั้งสองแปลงดังกล่าวมีราคาซื้อขายในท้องตลาดตามการประเมินของธนาคาร ตารางวาละ 20,000 บาท ถึง25,000 บาท โดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น และแม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบราคาที่ดินของโจทก์ว่ามีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในปี 2531 เท่าใดก็ตาม ศาลก็สามารถนำเอาราคาที่ดินใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ในเวลาก่อนและหลังจากเวลาที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับมาประกอบในการพิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ได้ เมื่อราคาที่ดินที่ใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์มีราคามากกว่าตารางวาละ10,000 บาท และไม่ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ควรจะมีราคาต่ำกว่าราคาที่ดินใกล้เคียง จึงเห็นได้ว่า ค่าทดแทนที่ดินที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้แก่โจทก์นั้นเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในเวลาที่ต่างกันอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี คงที่จึงไม่ถูกต้อง แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาศาลฎีกาจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่เกินกว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดและที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 7,913,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2534 นั้น เป็นการเกินไปกว่าคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่13 พฤศจิกายน 2534 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 แม้ปัญหาทั้งสองประการดังกล่าวโจทก์และจำเลยทั้งสองจะไม่ได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองและเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้ใช้นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2534 ตามที่โจทก์ขอ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2534เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตาม คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์