คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 กำหนดเพียงว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ 47 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าถ้าลูกจ้างไม่ใช้สิทธิขอลาหยุดแล้วจะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างดังกล่าว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์มิได้ใช้สิทธิลาพักให้แก่โจทก์จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ใช้สิทธิของโจทก์เองไม่ได้ เพราะจำเลยมิได้กำหนดไว้ล่วงหน้าให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีในช่วงใด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 107,520 บาทและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 10,752 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายของยอดเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันเลิกจ้าง 1 ตุลาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าจำเลยยินยอมจ่ายเงินค่าชดเชยแก่โจทก์เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 16,800 บาทรวม 180 วันเป็นเงิน100,800 บาทสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ใช้สิทธิเอง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหากโจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีก็เพียง 17 วันและในการคำนวณค่าจ้างนั้นต้องคำนวณตามอัตราเงินเดือน 16,800 บาทมาเป็นฐานในการคำนวณ ซึ่งเท่ากับวันละ 560 บาทหากโจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าจ้างนั้นก็จะเป็นเงิน 9,520 บาทหากมิใช่ 10,752 บาทตามที่โจทก์อ้างส่วนดอกเบี้ยโจทก์มีสิทธิคิดจากยอดเงินตามคำให้การ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 100,800 บาทและดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 16,800 บาทและมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออยู่ 17 วันคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับเป็นอุทธรณ์เพียงข้อเดียวว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 45 กำหนดเพียงว่าถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ 47 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อ 10 และข้อ 32 ด้วยมิได้มีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดว่าถ้าลูกจ้างไม่ใช้สิทธิขอลาหยุดแล้วลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างดังกล่าว ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กำหนดล่วงหน้าให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีในช่วงใดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 10 แล้วจำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่า โจทก์ไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเองการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานโดยที่โจทก์มิได้มีความผิดตามประกาศดังกล่าวข้อ 47 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามประกาศข้างต้นข้อ 45 และเมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 16,800 บาทและมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออยู่ 17 วันจำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์เป็นเงิน 9,520 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ 9,520 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง’.

Share