คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4306/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดอันเนื่องมาจากการเป็นตัวการตัวแทน จึงเป็นกรณีที่มูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และจำเลยที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้นต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 5
การที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชักชวนบุคคลทั่วไปให้มาทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 ทั้งมีหน้าที่รับเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ด้วย ย่อมเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปซึ่งรวมทั้งโจทก์เข้าใจและเชื่อว่าสิ่งที่จำเลยที่ 2 พูดหรือกระทำนั้นเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวแทน แม้การที่จำเลยที่ 2 รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยล่วงหน้าจะเป็นการกระทำนอกขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 820 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 1 จะได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยล่วงหน้าดังกล่าวหรือไม่
การที่จำเลยที่ 1 มิได้มีระเบียบให้ตัวแทนรับเบี้ยประกันภัยล่วงหน้า และในการสั่งจ่ายเช็คชำระค่าเบี้ยประกันภัยโจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุไว้ในใบรับเงินชั่วคราว แต่จำเลยที่ 1 จะมีระเบียบในเรื่องการรับชำระเบี้ยประกันภัยล่วงหน้าหรือไม่ ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่อาจยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นข้อปฏิเสธความรับผิดได้
ข้อตกลงที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 2 มิได้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้เสร็จสิ้นไปทีเดียว แต่ยังมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามข้อตกลงข้ออื่นๆ ครบถ้วนแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและไม่ทำให้หนี้เดิมระงับ จำเลยที่ 1 จึงยังผูกพันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัย และเป็นนายจ้างหรือเป็นตัวการของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2542 โจทก์สมัครทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ 20 ปี ตรีคูณ จำนวนเงินที่เอาประกันภัย 1,000,000 บาท กับจำเลยที่ 1 สาขาร้อยเอ็ด ชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี ปีละ 110,470 บาท จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนรับสมัครและรับชำระเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 อ้างว่าหากชำระเบี้ยประกันภัยล่วงหน้า 5 ปี จะได้ส่วนลดพิเศษโดยคงชำระเบี้ยประกันภัยเพียง 500,000 บาท โจทก์ตกลงและชำระเบี้ยประกันภัยจำนวนดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 แล้ว ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยและใบเสร็จรับเงินให้แก่โจทก์ในเอกสารดังกล่าวระบุว่าได้รับเงินจากโจทก์เพียง 110,470 บาท ซึ่งไม่ตรงตามข้อตกลง โจทก์ทวงถามค่าเบี้ยประกันภัยส่วนที่เกินคืน แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 416,196.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 389,530 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จำเลยที่ 1 ไม่ทราบเรื่องการชำระเบี้ยประกันภัยล่วงหน้า 5 ปี แล้วได้ส่วนลด จำเลยที่ 2 กระทำการเกินอำนาจที่ได้รับมอบหมาย โจทก์สั่งจ่ายเช็คชำระค่าเบี้ยประกันภัยโดยไม่ขีดคร่อมระบุชื่อจำเลยที่ 1 ตามเงื่อนไขทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 กับโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทเรื่องเบี้ยประกันภัยแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 389,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 กันยายน 2543) ต้องไม่เกิน 26,666.75 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ประจำสาขาร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2542 โจทก์สมัครทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ 20 ปี ตรีคูณ จำนวนเงินที่เอาประกันภัย 1,000,000 บาท กับจำเลยที่ 1 โดยผ่านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนกำหนดชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี ปีละ 110,470 บาท แต่จำเลยที่ 2 อ้างว่าหากโจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยล่วงหน้า 5 ปี จะได้ส่วนลดโดยชำระเบี้ยประกันภัยเพียง 500,000 บาท เท่านั้น โจทก์ตกลงและชำระเบี้ยประกันภัยจำนวน 500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 1 ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้โจทก์โดยระบุว่าได้รับเงินจากโจทก์เพียง 110,470 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดอันเนื่องมาจากการเป็นตัวการตัวแทน จึงเป็นกรณีที่มูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และจำเลยที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้นต่อศาลชั้นต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 5 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 2 รับเบี้ยประกันภัยล่วงหน้าจากโจทก์เป็นการกระทำเกินขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1ไม่ได้รับเงินตามเช็ค จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชักชวนบุคคลทั่วไปให้มาทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 ทั้งมีหน้าที่รับเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ย่อมเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปซึ่งรวมทั้งโจทก์เข้าใจและเชื่อว่าสิ่งที่จำเลยที่ 2 พูดหรือกระทำนั้นเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวแทน ดังนั้น แม้การที่จำเลยที่ 2 รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยล่วงหน้าจะเป็นการกระทำนอกขอบอำนาจของการเป็นตัวแทนก็ตาม จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 ประกอบมาตรา 820 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 1 จะได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยล่วงหน้าดังกล่าวหรือไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีระเบียบให้ตัวแทนรับเบี้ยประกันภัยล่วงหน้า และในการสั่งจ่ายเช็คชำระค่าเบี้ยประกันโจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุไว้ในใบรับเงินชั่วคราว เอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 จะมีระเบียบในเรื่องการรับชำระเบี้ยประกันภัยล่วงหน้าหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 หาอาจยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นข้อปฏิเสธความรับผิดได้ไม่ ส่วนที่มีข้อความระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.4 ว่าทุกครั้งที่ชำระเงินเป็นเช็คให้ขีดคร่อมสั่งจ่ายบริษัท เอ.ไอ.เอ. จำกัด เท่านั้น ข้อความดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อแนะนำ และไม่ปรากฏว่าหากชำระโดยวิธีอื่นแล้วจำเลยที่ 1 จะไม่รับชำระ ทั้งคำแนะนำดังกล่าวโจทก์ก็ได้ทราบภายหลังจากที่มอบเงินสดและเช็คให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว ดังนั้นจะถือว่าโจทก์กระทำโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นประการสุดท้ายว่า ข้อตกลงในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย จ.6 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 2 หาได้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้เสร็จสิ้นไปทีเดียว แต่ยังมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามข้อตกลงข้ออื่นๆ ครบถ้วนแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และไม่ทำให้หนี้เดิมระงับ จำเลยที่ 1 จึงยังผูกพันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์

Share