คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2168/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร จึงเป็นผู้ประกอบการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 และบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 11 โจทก์ต้องเสียภาษีการค้า
โจทก์ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 และเพิ่งแบ่งที่ดินบางส่วนมาสร้างตึกแถวขึ้นภายหลัง เพื่อประสงค์จะขายตึกแถวพร้อมที่ดินโดยแบ่งเป็นคูหาตึกแถวที่สร้างขึ้นใหม่จึงเป็นตึกแถวที่โจทก์สร้างขึ้นมาเพื่อขายหากำไรโดยเฉพาะเงินได้จากการขายตึกแถวเป็นเงินได้พึงประเมินตามความหมายของประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8) เพราะคำว่า ‘การอื่น’ นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 (8) นั้น หมายถึงเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 40 (1)ถึง (7) ก็ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ในส่วนที่สั่งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้า
จำเลยให้การว่า ที่เจ้าพนักงานประเมิน ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้า ตามแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า ภค.๘ เลขที่ ต๑/๑๐๓๘/๓/๐๒๔๘๘ เพราะโจทก์ขายที่ดินที่ซื้อมาเมื่อปี ๒๕๑๔ จำนวน ๕ โฉนด ที่ราษฎร์บูรณะโดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไรในที่ดินนั้น เป็นการซื้อที่ดินเก็บไว้เพื่อเก็งกำไร การซื้อขายที่ดินของโจทก์จึงมุ่งไปทางการค้าหากำไร โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระภาษีการค้าตามกฎหมาย สำหรับภาษีเงินได้และภาษีการค้า ปี ๒๕๓๐ เนื่องมาจากการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ ๒๘๑๗๓ ที่ดินดังกล่าวโจทก์ซื้อมาใช้เป็นที่อยู่อาศัย ต่อมามีการแบ่งแยกสร้างตึกแถวขึ้น ในโฉนดที่แบ่งแยกออกไป ซึ่งอยู่ริมถนนลาดพร้าวแล้วขายที่ดินพร้อมตึกแถวไป เงินได้จากการขายที่ดินเท่านั้นที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ส่วนอาคารซึ่งปลูกสร้างขึ้นในปี ๒๕๑๙ แล้วขายไปเมื่อปี ๒๕๒๐ ถือได้ว่า เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหากำไร โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีเงินได้และภาษีการค้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า การขายที่ดินของโจทก์แปลงราษฎร์บูรณะ และการขายอาคารซึ่งปลูกขึ้นบนที่ดินที่แบ่งแยกที่ลาดพร้าวเป็นการขายที่ดินและอาคารที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหากำไร โจทก์ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย และคดีของโจทก์ฟังไม่ได้ว่า การประเมินและการวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ศาลไม่อาจเพิกถอนให้ตามขอได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับการขายที่ดินแปลงราษฎร์บูรณะ เมื่อปี ๒๕๑๙ ที่โจทก์ต้องเสียภาษีการค้าในปีดังกล่าว โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มิได้มุ่งเป็นทางค้าหรือหากำไร แต่เป็นการขายสมบัติอย่างบุคคลธรรมดา เมื่อต้องการใช้เงินได้ความจากตัวโจทก์เองว่าโจทก์ตั้งใจจะซื้อที่ดินแปลงนี้ไว้ใช้สำหรับอยู่อาศัย แต่ต่อมาในระยะหลังเห็นว่าการไปมาสถานที่ทำงานไม่สะดวกและไม่ปลอดภัย เพราะเป็นที่ที่มีโจรผู้ร้ายชุกชุมและได้ความต่อไปว่าที่ดินแปลงนี้ โจทก์ซื้อมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ ในราคา ๑๐๐,๐๐๐ บาท เป็นที่ดินผืนเดียวกันรวม ๕ โฉนด และโจทก์ได้ขายไปทั้งแปลงในปี ๒๕๑๙ เหตุที่โจทก์ซื้อที่ดินโจทก์อ้างว่าตั้งใจจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้น ก็ได้ความจากตัวโจทก์เองว่าที่ดินที่โจทก์ใช้อยู่อาศัยในขณะนั้นคือที่ดินโฉนดที่ ๒๘๑๗๓ ซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่เขตบางเขนและมีเนื้อที่ดิน ๑ ไร่ ๖๓ ตารางวา ดังนั้นข้ออ้างที่ว่าโจทก์ซื้อที่ดินแปลงราษฎร์บูรณะจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยอีก จึงขาดเหตุผล แต่เชื่อว่าโจทก์ซื้อที่ดินแปลงราษฎร์บูรณะเพื่อหวังกำไรมากกว่า ดังนั้นเองเมื่อซื้อแล้ว ๕ ปี โจทก์จึงขายไปในราคา ๓๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ได้กำไรถึง ๓ เท่าตัว กรณีเช่นนี้โจทก์จะอ้างได้อย่างไรว่าไม่ใช่เป็นทางค้าหรือหากำไร ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเหตุที่ขายเพราะไม่ปลอดภัย โจรผู้ร้ายชุกชุมจึงขัดกับราคาที่โจทก์ขายได้ซึ่งสูงกว่าราคาซื้อมามาก หากเป็นดังโจทก์อ้างจริงราคาที่ดินควรจะลดลงหาใช่เพิ่มขึ้นถึง ๓ เท่าตัวไม่ ที่โจทก์อ้างถึงเหตุแห่งการขายจึงไม่น่าเชื่อเช่นกัน กรณีจึงเป็นเรื่องขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรไม่ใช่การขายสมบัติเก่าเพื่อต้องการใช้เงินดังโจทก์ฎีกา โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๘ และบัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภทการค้า ๑๑ ดังนั้นโจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้า
โจทก์ฎีกาต่อมาในส่วนที่เกี่ยวกับการขายตึกแถวที่ปลูกขึ้นในที่ดินส่วนที่แบ่งแยกจากโฉนดที่ ๒๘๑๗๓ เขตบางเขน ซึ่งขายพร้อมที่ดินเมื่อปี ๒๕๒๐ ว่าโจทก์มิได้มุ่งในทางค้าหรือหากำไร ได้ความจากตัวโจทก์เองว่า ที่ดินแปลงนี้โจทก์ซื้อมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๗ และโจทก์เพิ่งแบ่งที่ดินบางส่วนมาสร้างตึกแถวขึ้นภายหลัง เพื่อประสงค์ขายตึกแถวพร้อมที่ดินโดยแบ่งเป็นคูหา ตึกแถวที่สร้างขึ้นใหม่ภายหลัง จึงไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์ใช้อยู่อาศัยอย่างแน่นอน แต่เป็นตึกแถวที่โจทก์สร้างขึ้นมาเพื่อขายหากำไรโดยเฉพาะ ดังนั้นไม่ว่าโจทก์จะขายให้กับใคร ก็ล้วนเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางค้าหรือหากำไรทั้งสิ้น โจทก์จะอ้างความจำเป็นในการขายเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเลี้ยงชีพและครอบครัว ย่อมขาดเหตุผล เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงโจทก์ก็มีทางทำได้โดยแบ่งขายที่ดินที่โจทก์มีอยู่ถึง ๑ ไร่ ๖๓ ตารางวาเกินความจำเป็นต่อการอยู่อาศัย โจทก์ก็ย่อมทำได้ แต่โจทก์กลับไม่กระทำเมื่อโจทก์ปลูกตึกแถวเพื่อขาย แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะหากำไรมากกว่าเงินได้ของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๐ (๘) ดังเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาโดยละเอียดแล้ว
โจทก์ฎีกาประการต่อมาว่า เงินได้จากการขายตึกแถวไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินอันต้องเสียภาษีเงินได้ และไม่เป็นเงินได้จาก ‘การอื่น’ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๐ (๘) ซึ่งหมายถึงรายได้ที่เกิดจากอาชีพ แต่กรณีของโจทก์เป็นการขายทรัพย์สมบัติ ไม่ใช่เป็นการประกอบอาชีพ เห็นว่า เงินได้จากการขายตึกแถวซึ่งมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรดังเช่นกรณีของโจทก์นี้เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามความหมายของประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๐ (๘) เพราะคำว่า ‘การอื่น’ นอกจากที่ระบุไว้ใน (๑) ถึง (๗) ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๐ (๘) นั้น หมายถึงเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๐ (๑)ถึง (๗) ก็ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา ๔๐ (๘) โดยกฎหมายหาได้คำนึงถึงว่าจะต้องเป็นเงินได้จากอาชีพดังโจทก์ฎีกาไม่ โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้ สำหรับปี ๒๕๒๐ และการขายตึกแถวดังกล่าวของโจทก์เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ประเภทการค้า ๑๑ การค้าอสังหาริมทรัพย์ ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าโจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าตามกฎหมาย กรณีของโจทก์เช่นนี้ โจทก์ไม่อาจจะอ้างได้ว่าไม่เข้าลักษณะที่จะต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีการค้าดังโจทก์ฎีกาแต่ประการใด
โจทก์ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า จำเลยไม่มีอำนาจประเมินเงินได้จากการขายตึกแถวให้สูงกว่าราคาที่โจทก์ขายจริง ปัญหาข้อนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกประการ
พิพากษายืน.

Share