แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา และจำเลยที่ 1แถลงในคดีอาญาว่าตกลงกันได้โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมชำระเงินให้โจทก์ 80,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันแถลงจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จฯโดยโจทก์ยอมถอนคำร้องทุกข์เป็นการตกลงระงับข้อพิพาทในคดีอาญาให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และการที่จำเลยที่ 1 กระทำข้อตกลงกับโจทก์ดังกล่าวข้างต้นไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีอิสระเพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อหน้าศาล ซึ่งจำเลยที่ 1มีอิสระที่จะตกลงด้วยหรือไม่ก็ได้ หามีใครบังคับไม่จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2527จำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ซึ่งเป็นโจทก์ร่วมคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คโดยจำเลยที่ 1 ยอมชำระหนี้จำนวน 80,000 บาทให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำยอมไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยแบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดแรกชำระ 40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวภายในเดือนมีนาคม 2528 งวดที่ 2 ในจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับงวดแรกภายในเดือนมีนาคม 2529 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระจำเลยที่ 2 จะชำระแทน แล้วโจทก์ได้ถอนคำร้องทุกข์คดีดังกล่าวหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินงวดแรกจำนวน 40,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยในต้นเงินงวดแรกและต้นเงินดอกเบี้ยงวดที่ 2 ไม่ยอมชำระถึงวันฟ้องเป็นหนี้ดอกเบี้ยโจทก์อยู่ 15,483 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง55,483 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เคยตกลงชำระหนี้ให้แก่โจทก์80,000 บาท ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่4 ธันวาคม 2527 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อไว้เพื่อให้โจทก์ถอนฟ้องคดีที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค รายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวไม่ใช่เป็นการยอมรับสภาพหนี้โจทก์จะอ้างมาฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ได้เพราะไม่มีหนี้สินกันจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ในต้นเงิน 80,000 บาท นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2527เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2528 จำนวนหนึ่งและให้จำเลยที่ 1ชำระเงิน 40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์อีกจำนวนหนึ่ง ดอกเบี้ยทั้งสองจำนวนไม่เกิน 15,483 (ที่ถูกเป็นดอกเบี้ยจำนวนแรกกับดอกเบี้ยจำนวนหลังคิดถึงวันฟ้องรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15,483 บาท ตามที่โจทก์ขอมา) หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเดิมพนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรีเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที 1เป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และโจทก์คดีนี้ได้เป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาด้วยต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2527 ทนายโจทก์คดีนี้และจำเลยที่ 1ได้แถลงในคดีอาญาว่า ตกลงกันได้โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมชำระเงินให้โจทก์ 80,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันแถลงจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ โดยจำเลยที่ 1ขอแบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดแรกชำระให้โจทก์ภายในเดือนมีนาคม 2528จำนวนเงิน 40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย งวดที่ 2 ชำระภายในเดือนมีนาคม 2529 จำนวนเงิน 40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแล้วทนายโจทก์กับจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาล คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่ารายงานกระบวนพิจารณาของศาลในคดีอาญาดังกล่าวจะถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นหนี้นั้นยังไม่ได้เพราะไม่ใช่การกระทำที่มีอิสระของคู่ความนั้น เห็นว่าการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าว และจำเลยที่ 1ตกลงระงับข้อพิพาทในคดีอาญานั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน โดยโจทก์ยอมถอนคำร้องทุกข์และจำเลยที่ 1 ยอมใช้หนี้ให้โจทก์ จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และการที่จำเลยที่ 1กระทำข้อตกลงกับโจทก์ข้างต้นไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีอิสระเพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อหน้าศาล ซึ่งจำเลยที่ 1มีอิสระที่จะตกลงด้วยหรือไม่ก็ได้ หามีใครบังคับไม่เมื่อจำเลยที่ 1 สมัครใจตกลงเช่นนี้ จึงต้องผูกพันตามนั้น”
พิพากษายืน