คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4219/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยใช้ชื่อ ว่าบริษัทเงินทุนในการประกอบธุรกิจโดยจำเลยมิใช่บริษัทเงินทุนตามกฎหมาย ต่อมาระหว่างอุทธรณ์ได้มีประกาศใช้บังคับ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2526 ซึ่งมาตรา 37 บัญญัติให้เลิกใช้ชื่อ ดังกล่าวภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ก. ใช้บังคับ ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อ บริษัท เลิกใช้ชื่อ ว่าบริษัทเงินทุน ดังนี้ จำเลยมิได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 13,72 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522 อีกต่อไปถือได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1เป็นภาษาจีน อ่านว่า “จือ กิม อู่หัง กงซี” อันมีความหมายว่าบริษัทเงินทุนจำกัด ในการประกอบธุรกิจ โดยจำเลยกับพวกมิใช่บริษัทเงินทุนและได้ร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 8,11, 13, 71, 72, 78 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ฯ พ.ศ. 2526 มาตรา 6, 29
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง เรียงกระทงลงโทษรับลดกึ่งแล้ว คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 130,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละ 1 ปี 3 เดือน และปรับคนละ 130,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานใช้ชื่อหรือสำแดงชื่อที่มีความหมายว่า บริษัทเงินทุน โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 13, 72 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 มาตรา 6, 29 นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฏีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2525 ถึงวันที่9 มกราคม 2527 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันใช้ชื่อของบริษัทจำเลยที่ 1ว่า “จือ กิม อู่หัง กงซี” อันเป็นชื่อที่มีความหมายว่าบริษัทเงินทุนจำกัด ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจำเลยที่ 1 มิใช่บริษัทเงินทุนตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2526 ได้มีประกาศใช้บังคับพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526และเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2527 จำเลยได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทชาเตอร์เครดิต จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทชาร์เตอร์บีสเนส จำกัดมีปัญหาพิจารณาตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานใช้ชื่อหรือสำแดงชื่อในธุรกิจว่า บริษัทเงินทุนหรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 มาตรา 37 ไรือไม่พิเคราะห์แล้ว พระราชกำหนดดังกล่าวมาตรา 37 บัญญัติว่า “ให้บุคคลซึ่งใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า “การลงทุน” “เครดิต”หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันอยู่แล้วในวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับซึ่งต้องห้ามมิให้ใช้ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ เลิกใช้ชื่อคำแสดงชื่อ หรือคำอื่นใดดังกล่าวภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ” ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทชาเตอร์เครดิต จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทชาเตอร์บีสเนส จำกัด เป็นการเลิกใช้ชื่อคำว่า “บริษัทเงินทุน”ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 มาตรา 37 บัญญัติไว้แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงมิได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฏหมายที่โจทก์กล่าวฟ้องอีกต่อไป ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดฐานใช้ชื่อหรือสำแดงชื่อในธุรกิจว่าบริษัทเงินทุนหรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานใช้ชื่อหรือสำแดงชื่อที่มีความหมายว่า บริษัทเงินทุนตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 13, 72พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526มาตรา 6, 29 นั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share