แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์เข้าทำงานในกะ บี ตั้งแต่เวลา 15 นาฬิกา จนถึง 23 นาฬิกาแล้วทำงานแทน ค.และส. พนักงานของจำเลยซึ่งไม่มาทำงานในกะ ซี.และกะเอ. ติดต่อกันไปจนถึงเวลา 15 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้พนักงานทำงานเพียง 1 กะ ใน 1 วัน ดังนั้นการที่โจทก์ต้องทำงานให้จำเลยในกะ ซี.และกะเอ.แทนค. และส. จึงเป็นการทำงานเกินกว่า 1 กะ ใน 1 วัน ถือได้ว่าเป็นการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดให้จำเลยจำเลยจ่ายค่าจ้างทำงานในวันหยุดขาดไป 49.30 บาท จึงขอให้ชำระพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ตามระเบียบของจำเลยพนักงานในกะจะต้องรอให้พนักงานในกะต่อไปมารับหน้าที่เสียก่อนจึงจะเลิกงานได้จึงมิใช่เป็นการทำงานล่วงเวลาและไม่ถือว่าเป็นการทำงานในวันหยุด เพราะจำเลยให้พนักงานหมุนเวียนเปลี่ยนกะในทุกสัปดาห์ จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์เกินไป 293 บาท จึงขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์คืนเงินดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างจำนวน 49.30บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ระเบียบข้อบังคับของจำเลยเวลาการทำงานของพนักงานจำเลยที่ทำงานเป็นกะ ทำงานต่อเนื่องกัน 24ชั่วโมง โดยวันหนึ่งจัดเป็น 3 กะ กะเอ. เริ่มเวลา 7 นาฬิกาถึง 15นาฬิกา กะบี. เริ่มเวลา 15 นาฬิกาถึง 23 นาฬิกา และกะซี. เริ่มเวลา23 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น พนักงานของจำเลยทุกคนต้องทำงานให้จำเลย6 กะในหนึ่งสัปดาห์ วันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ จำเลยกำหนดให้โจทก์เข้าทำงานเป็นกะบี. ในวันที่ 18 ตุลาคม 2529 โจทก์เข้าทำงานในกะบี. ของตน ตั้งแต่เวลา 15 นาฬิกาจนถึงเวลา 23 นาฬิกา แล้วทำงานแทนนายคำกอง หลานวงษ์ และนายสุวรรณ บุญแก้ว พนักงานของจำเลยซึ่งไม่มาทำงานในกะซี. และกะเอ. ติดต่อกันไปจนถึงเวลา 15 นาฬิกาของวันที่ 19 ตุลาคม 2529 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์…จากระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวมาแล้วเห็นได้ว่าจำเลยกำหนดให้พนักงานของจำเลยทำงานเพียง 1 กะใน 1 วัน ดังนั้นการที่โจทก์ต้องทำงานให้จำเลยในกะซี. และกะเอ. แทนนายคำกองและนายสุวรรณพนักงานของจำเลยที่ไม่มาทำงานด้วย จึงเป็นการทำงานติดต่อกันเกินกว่า 1 กะใน 1 วัน ถือได้ว่าเป็นการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด…โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย…”
พิพากษายืน.