คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3790/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ผู้รับตราส่งได้นำใบตราส่งพร้อมหลักฐานอื่นไปขอออกสินค้าลูกปืนและตลับลูกปืนที่สั่งซื้อจากการท่าเรือแห่ง ประเทศไทยแล้วสิทธิของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนสินค้ารายนี้ย่อมตกได้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร.ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้านั้นได้ชำระค่าเสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ไปย่อมได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องผู้รับขนผู้ก่อความเสียหายแก่สินค้ารายนี้ได้
จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้รับสินค้าในใบตราส่ง เมื่อเรือบรรทุกสินค้ามาถึงประเทศไทย บริษัทตัวแทนเรือในต่างประเทศได้แจ้งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ไปติดต่อกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยขออนุญาตนำเรือเข้าเทียบท่า และเป็นผู้ออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร.ไปรับสินค้าจากคลังสินค้า ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 มีลักษณะร่วมกันขนสินค้ารายนี้อันเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเล เมื่อสินค้าเกิดความเสียหายขึ้น ผู้ขนส่งต้องรับผิดร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618
แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นตัวแทนของบริษัท ซ. ผู้ควบคุมการเดินเรือของประเทศสหภาพโซเวียต โดยได้รับค่าตอบแทนตามอัตราสินค้าเข้าและสินค้าออกของค่าระวาง แต่ในคดีนี้เรือบรรทุกสินค้าของประเทศสหภาพโซเวียตมิได้เข้ามาในประเทศไทย โดยได้ขนถ่ายสินค้ารายนี้ให้สายการเดินเรืออื่นทำการขนส่งอีกทอดหนึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมดำเนินการขนส่งหรือได้ผลประโยชน์ในการขนส่งสินค้ารายนี้ ดังนี้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมขนส่งด้วยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าลูกปืนและตลับลูกปืนให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ้งจรัสแสงยนต์ ซึ่งสั่งซื้อจากประเทศสหภาพโซเวียต ได้มีการขนส่งทางเรือหลายทอดมาถึงกรุงเทพ จำเลยทั้งสองได้ร่วมขนส่งกับเจ้าของเรือ ปรากฏว่าสินค้าที่ส่งมาเสียหาย โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ้งจรัสแสงยนต์ไปแล้ว จึงมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเพียงตัวแทนเรือไม่ได้ร่วมขนส่งด้วย สินค้าไม่ได้สูญหายในระหว่างขนส่งและค่าเสียหายไม่ถึงที่โจทก์ฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันรับขนสินค้ารายนี้ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้เงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด รุ้งจรัสแสงยนต์ ได้นำใบตราส่งพร้อมหลักฐานอื่นไปขอออกสินค้าลูกปืนและตลับลูกปืนที่สั่งซื้อจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยไม่ปรากฏว่ามีฝ่ายใดโต้แย้งว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ้งจรัสแสงยนต์มิใช่ผู้รับตราส่ง เมื่อปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวชำรุดขาดหาย กรณีเช่นนี้จึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๒๗ ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่ง และผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบแล้วท่านว่าแต่นั้นไปสิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนนั้นย่อมตกไปได้แก่ผู้รับตราส่งดังนั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ้งจรัสแสงยนต์ ผู้รับตราส่ง ได้เรียกให้ส่งมอบสินค้าแล้ว สิทธิของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนสินค้ารายนี้ย่อมตกไปได้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ้งจรัสแสงยนต์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้านั้นได้ชำระค่าเสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ้งจรัสแสงยนต์ไปย่อมได้รับช่วงสิทธิของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว มาฟ้องผู้รับขนผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้ารายนี้ได้
สำหรับจำเลยที่ ๑ นั้น คดีได้ความว่า ใบตราส่งสินค้าเอกสารหมาย จ.๔ ที่บริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ (พีทีอี) จำกัด ผู้ขนส่งเป็นผู้ออกระบุให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับสินค้า เมื่อเรือโกตารัตนามาถึงประเทศไทยบริษัทสิงคโปร์ โซเวียตชิปปิ้ง จำกัด ตัวแทนของเรือดมิตรี โพลูยัน ประจำประเทศสิงคโปร์ ได้แจ้งการมาถึงของสินค้าให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ้งแสงจรัสยนต์เจ้าของสินค้าไปติดต่อกับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ติดต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทย ขออนุญาตนำเรือโกตารัตนาเข้าเทียบท่า เมื่อสินค้ารายนี้ขนถ่ายจากเรือโกตารัตนา ไปไว้ที่คลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ้งจรัสแสงยนต์ไปรับสินค้านั้น เห็นว่าหากจำเลยที่ ๑ ไม่ดำเนินการดังกล่าว สินค้ารายนี้ก็ไม่อาจถึงมือผู้ซื้อสินค้าได้พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ เช่นว่านั้นจึงมีลักษณะร่วมกันขนส่งสินค้ารายนี้กับ บริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ (พีทีอี) จำกัด และบริษัทเจ้าของเรือดมิตรี โพลูยัน อันเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเลดังโจทก์ฟ้อง ในกรณีที่มีการร่วมกันขนส่งสินค้าหลายทอดและสินค้าเกิดความเสียหายขึ้น ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๑๘ ฉะนั้น จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์
สำหรับจำเลยที่ ๒ แม้จะฟังว่าจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนของบริษัทซอฟฟร๊อต ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการเดินเรือของประเทศสหภาพโซเวียตโดยจำเลยที่ ๒ ได้ค่าตอบแทนจากบริษัทดังกล่าว ในกรณีสินค้าเข้าในอัตราร้อยละ ๒ ของค่าระวาง และสินค้าออกในอัตราร้อยละ ๕ ของค่าระวางก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า เรือดิมตรี โพลูยัน ซึ่งเป็นเรือในประเทศสหภาพโซเวียตมิได้เข้ามาในประเทศไทย หากแต่ขนถ่ายสินค้ารายนี้ให้สายการเดินเรืออื่นทำการขนส่งอีกทอดหนึ่ง โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ ๒ ได้เข้าร่วมดำเนินการขนส่ง หรือได้ผลประโยชน์ในการขนส่งสินค้านั้นด้วย ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๒ ได้ร่วมขนส่งสินค้ารายนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินตามฟ้องพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share