คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4204/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทได้แบ่งแยกมาจากที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งต้องมีการรังวัดโฉนดที่ดินพิพาทเพื่อแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกจากโฉนดที่ดินดังกล่าวและเจ้าของที่ดินข้างเคียงก็จะต้องรับรองแนวเขต หากจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยจะต้องรู้เห็นและโต้แย้งหรือคัดค้าน แม้จำเลยจะอ้างว่าทำรั้วล้อมที่ดินก็เป็นรั้วไม้รวกตีปักในแนวตั้ง มีประตูรั้วทำด้วยสังกะสีและเลี้ยงโคนมกับเลี้ยงไก่ ก็ล้วนมีลักษณะเป็นการครอบครองชั่วคราวเพราะไม่มีลักษณะแน่นหนาและถาวร การที่จำเลยเข้าไปครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการถือวิสาสะจากเจ้าของที่ดินเดิมตลอดมา แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินมาช้านานเพียงใด จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดิน ขนย้ายสิ่งก่อสร้างรวมทั้งย้ายสัตว์เลี้ยงออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองโดยความสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของ ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินตามโฉลดเลขที่ 15820 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ห้ามโจทก์กับบริวารยุ่งเกี่ยวในที่ดินดังกล่าวและให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรีจัดการแก้ไขทะเบียนมาเป็นชื่อจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท และขนย้ายสิ่งก่อสร้างและสัตว์เลี้ยงออกจากที่ดินพิพาท ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ จำเลยมีตัวจำเลยเบิกความว่าที่ดินพิพาทอยู่ทางด้านหลังบ้านจำเลยซึ่งมีประตูเปิดออกไปสู่ที่ดินพิพาทได้ เดิมที่ดินพิพาทยังไม่มีโฉนดที่ดินและเป็นของนายน้ำนอง นาคสกุล บิดาภริยาจำเลย จำเลยเพิ่งทราบว่าที่ดินพิพาทมีโฉนดที่ดินแล้วหลังจากถูกฟ้องเป็นคดีนี้ แต่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2519 โดยนายน้ำนองยกให้ จำเลยจึงถมลูกรังเตรียมจะปลูกบ้านแล้วทำรั้วล้อมรอบ แต่จำเลยไม่ได้ปลูกบ้าน จึงใช้เลี้ยงสุกรและไก่ตั้งแต่ปีดังกล่าวตลอดมาจนถึงปี 2533 จึงใช้เลี้ยงโคนม โดยจำเลยมีนางจำลอง วิภาคะหรรษา ภริยาจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า นายน้ำนองให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยเมื่อประมาณ 23 ปี มาแล้ว แต่นางจำลองก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า ที่ดินของนางจำลองและที่ดินพิพาทมีหลักหมุดตอกร่วมกันอยู่ด้านหนึ่ง เดิมเป็นที่ดินของนายน้ำนองทั้งสองแปลง นายน้ำนองมีบุตร 2 คน คือนางจำลองและนางสาวณัฐทิยาที่ดินแปลงที่นางจำลองปลูกบ้านอยู่กับจำเลย นายน้ำนองให้ที่ดินดังกล่าวแก่นางจำลองเมื่อ 20 ปีกว่ามาแล้ว ขณะนั้นที่ดินมีโฉนดที่ดินแล้ว แต่นายน้ำนองให้โดยระบุชื่อบุตรชายนางจำลองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ส่วนที่ดินพิพาทที่นายน้ำนองให้แก่จำเลยนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงการให้อย่างไรหรือไม่ นางจำลองไม่ทราบ เห็นว่า หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่นางจำลองเบิกความ แสดงว่านายน้ำนองให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยได้ประมาณ 3 ปี นายน้ำนองก็ให้ที่ดินอีกแปลงหนึ่งแก่นางจำลองซึ่งปลูกบ้านอยู่กับจำเลยจนปัจจุบันนี้ โดยใส่ชื่อบุตรชายจำเลยและนางจำลองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่นายน้ำนองมีบุตร 2 คน คือนางจำลองและนางสาวณัฐทิยา กับที่ดิน 2 แปลง คือที่ดินพิพาทและที่ดินที่จำเลยและนางจำลองปลูกบ้านอยู่จนปัจจุบันนี้ หากนายน้ำนองจะให้ที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวนายน้ำนองย่อมต้องให้แก่บุตรทั้ง 2 ของตนมากกว่าที่จะให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเพียงบุตรเขย จึงไม่น่าเชื่อว่านายน้ำนองจะให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยก่อน และยังให้ที่ดินอีกแปลงหนึ่งแก่นางจำลองภริยาจำเลยซ้ำอีก โดยที่นางสาวณัฐทิยาไม่เคยได้รับการให้ที่ดินจากนายน้ำนองมาก่อน ทั้งที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 15820 ออกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 โดยแบ่งแยกมาจากโฉนดที่ดินเล่ม 43 หน้า 62 ซึ่งจะต้องมีการรังวัดโฉนดที่ดินพิพาทเพื่อแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกจากโฉนดที่ดินดังกล่าวและเจ้าของที่ดินข้างเคียงก็จะต้องลงลายมือชื่อรับรองแนวเขต หากจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยจะต้องรู้เห็นและโต้แย้งหรือคัดค้าน ที่นางจำลองอ้างว่านางจำลองไม่เคยเห็นเจ้าพนักงานที่ดินไปปักหลักหมุดที่ดินพิพาทจึงขัดต่อเหตุผล ประกอบกับที่จำเลยอ้างว่าทำรั้วล้อมที่ดินพิพาทก็เป็นรั้วไม้รวกตีปักในแนวตั้ง มีประตูรั้วทำด้วยสังกะสี และที่จำเลยอ้างว่าเป็นคอกเลี้ยงโคนมและที่เลี้ยงไก่ ล้วนมีลักษณะเป็นการครอบครองชั่วคราวเพราะไม่มีลักษณะแน่นหนาและถาวร การที่จำเลยเข้าไปครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการถือวิสาสะจากเจ้าของที่ดินเดิมตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทมาช้านานเพียงใด จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวออมจิตเจ้ามรดก”
พิพากษายืน

Share