คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4247/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารหอพัก โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 อยู่ต่อไป ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ออกไปจากที่ดินและหอพัก พร้อมกับให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟ้องแย้งว่าโจทก์ฟ้องโดยรู้อยู่ว่าไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับความเสียหาย ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการกล่าวอ้างในการใช้สิทธิทางศาลเนื่องมาจากโจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยการฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่อศาลโดยไม่สุจริต ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นฟ้องแย้งที่อาศัยเหตุแห่งการฟ้องของโจทก์มาเป็นข้อกล่าวอ้างซึ่งเป็นคนละเรื่องกับฟ้องเดิม และเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบมาตรา 179 วรรคท้าย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารหอพัก 2 ชั้น 1 หลัง ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดิน โดยโจทก์ซื้อมาจากการขายทอดตลาดของสำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครปฐม จำเลยทั้งแปดพักอาศัยอยู่ในอาคารหอพักดังกล่าวและขัดขวางไม่ยอมให้โจทก์เข้าดำเนินการ โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยทั้งแปดและบริวารอยู่ในที่ดินอีกต่อไป และได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งแปดและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งแปดเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียดอกเบี้ยในเงินที่โจทก์กู้ยืมมาซื้อที่ดินและอาคารหอพักขาดประโยชน์และผลกำไรจากการที่ไม่สามารถเข้าดำเนินการในอาคารหอพักและที่ดิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากหอพักและที่ดินและให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 305,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งแปดและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากหอพักและที่ดินของโจทก์และส่งมอบแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การและฟ้องแย้งทำนองเดียวกันว่า ที่ดินและอาคารหอพักตามฟ้องเป็นของนายชัยพร สัจจะปรเมษฐ โจทก์ซื้อจากการขายทอดตลาดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายชัยพรได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดแล้วสิทธิของโจทก์ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ โจทก์ยังไม่ได้ครอบครองที่ดินและอาคารหอพักจึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับความเสียหาย ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการติดต่อและแต่งตั้งทนายความเพื่อให้การต่อสู้คดีเป็นเงินคนละ 20,000 บาท จึงขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่รับ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ประการแรกว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เกี่ยวกับฟ้องเดิมชอบที่ศาลจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์โดยอ้างเหตุว่า โจทก์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับความเสียหาย ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการติดต่อและแต่งตั้งทนายความเพื่อให้การต่อสู้คดี จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กล่าวอ้างในการใช้สิทธิทางศาลอันเนื่องมาจากโจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 เพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่อศาลโดยไม่สุจริต ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นฟ้องแย้งที่อาศัยเหตุแห่งการฟ้องของโจทก์มาเป็นข้อกล่าวอ้างซึ่งเป็นคนละเรื่องกับฟ้องเดิม และเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบมาตรา 179 วรรคท้าย ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น โดยไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ประการต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน

Share