แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครและหนังสือมอบอำนาจประกอบคำเบิกความของ ค. ผู้รับมอบอำนาจเป็นพยานโดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างแต่ประการใด ย่อม เป็นการเพียงพอที่ฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและมอบอำนาจ ให้ ค. ฟ้องคดีแทนจริง โดยไม่จำเป็นต้องนำ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างโจทก์และ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครมาสืบประกอบ แม้โจทก์มิได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อ แต่โจทก์มอบอำนาจให้ค. เป็นผู้มีอำนาจลงชื่อทำสัญญาเช่าซื้อแทนได้ โจทก์ จึงมีอำนาจฟ้อง ข้อสัญญาเช่าซื้อรถที่กำหนดว่า ผู้เช่าซื้อไม่ชำระราคา เช่าซื้อ 2 งวดติดต่อกัน สัญญาเป็นอันสิ้นสุดลง ผู้ให้เช่าซื้อชอบที่จะเอารถพร้อมอุปกรณ์คืนได้ และ ผู้เช่าซื้อยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อตีราคารถพร้อมอุปกรณ์ได้แต่ เพียงผู้เดียวโดยถือเป็นเด็ดขาด และเมื่อคิดหักกับราคา ที่ผู้เช่าซื้อได้ผ่อนชำระบางส่วนแล้วผู้เช่าซื้อยังคงเป็นหนี้อยู่ ก็ยินยอมให้ผู้เช่าซื้อฟ้องร้องบังคับคดีเอา แก่ผู้เช่าซื้อได้ทันทีนั้น เป็นเรื่องที่ผู้เช่าซื้อ สมัครใจทำสัญญาเสียเปรียบเอง หาเกี่ยวด้วยความ สงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับถ้าหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ และข้อสัญญานี้มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ จะใช้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาซึ่งกำหนดไว้ใน กรณีที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระเงินค่าเช่าซื้อหาได้ไม่ ต้องใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 โจทก์ที่ 2 แม้จะเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นผู้จัดการของห้างโจทก์ที่ 1 ก็ตาม หากกรณี เป็นเรื่องของห้างโจทก์ที่ 1 โดยเฉพาะ ไม่ใช่กิจการ ส่วนตัวของโจทก์ที่ 2. โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถแบบดันพร้อมตีนตะขาบจากโจทก์ที่ 1 จำนวน 1 คัน ราคา 460,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา60,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระป็น 12 งวด งวดละเดือน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเพียง 190,000 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้ออีกต่อไป คงค้างชำระค่าเช่าซื้อ 210,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1นำรถมาคืนให้โจทก์ โจทก์ประเมินราคารถพร้อมอุปกรณ์ได้ราคา 100,000 บาทหักกับค่าเช่าซื้อและดอกเบี้ยที่ค้างชำระแล้ว จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่126,252.98 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถพิพาทจริง แต่ผู้ลงนามในสัญญาเช่าซื้อของโจทก์มิใช่กรรมการหรือผู้มีอำนาจของห้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ได้รับคืนไปแล้วหักค่าเสื่อมราคาแล้ว ราคารถขณะที่รับคืนไปควรจะเป็น 337,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไปแล้ว 250,000 บาท จึงเป็นจำนวนเงินเกินกว่าค่าเสียหายที่โจทก์จะพึงได้รับ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายอีก
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินที่ค้างกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถแบบดันพร้อมตักตีนตะขาบจากโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 460,000 บาท ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา 60,000 บาท ที่เหลืออีก 400,000 บาท ผ่อนชำระ 12 เดือน จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อถึงงวดเดือนกรกฎาคม 2521 แล้วไม่ชำระค่าเช่าซื้ออีกเลยจนวันที่ 1 พฤษภาคม 2522 จำเลยที่ 1 จึงนำรถไปคืนให้แก่โจทก์รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระทั้งหมด 250,000 บาท คงขาดไป 210,000 บาท แล้ววินิจฉัยว่าตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์มิได้นำนายกมลหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างโจทก์ที่ 1และมิได้นำนายทะเบียนมาสืบ จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและมอบอำนาจให้นายคุนน้ำเป็นผู้ฟ้องคดีแทนนั้น เห็นว่าโจทก์มีหนังสือมอบอำนาจและหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครประกอบคำเบิกความของนายคุนน้ำเป็นพยานโดยที่จำเลยมิได้นำสืบหักล้างแต่ประการใด ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและมอบอำนาจให้นายคุนน้ำฟ้องคดีแทนจริงโดยไม่จำเป็นต้องนำนายกมลและนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครมาสืบประกอบก็รับฟังได้
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อนั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้มอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.3 ให้นายคุนน้ำเป้นผู้มีอำนาจลงชื่อทำสัญญาให้เช่าซื้อแทนได้ จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นทั้งในขณะทำสัญญาเช่าซื้อก็มิได้โต้แย้งความข้อนี้ คดีจึงฟังได้ว่านายคุนน้ำได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องได้
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 6 ที่ให้เช่าซื้อตีราคารถพร้อมทั้งอุปกรณ์ที่ผู้ให้เช่าซื้อเอาคืนและครอบครองนั้นได้แต่เพียงผู้เดียว โดยถือเป็นเด็ดขาด และเมื่อผู้ให้เช่าซื้อคิดหักกับราคาที่ผู้เช่าซื้อได้ผ่อนชำระมาบางส่วนแล้ว ปรากฏว่าผู้เช่าซื้อยังคงเป็นหนี้อยู่ผู้เช่าซื้อก็ยินยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อฟ้องร้องบังคับเอาแก่ผู้เช่าซื้อได้ทันทีเป็นการให้อำนาจผู้ให้เช่าซื้อตีราคาตามอำเภอใจเป็นการเอาเปรียบผู้เช่าซื้อเป็นโมฆะศาลอุทธรณ์ต้องรับวินิจฉัยให้เพราะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ต้องห้ามอุทธรณ์นั้นศาลฎีกาเห็นว่าข้อที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างดังกล่าวมานั้นหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 สมัครใจทำสัญญาเสียเปรียบเอง เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
ในเรื่องค่าเสียหายศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เรื่องนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามสัญญาเช่าซื้อ ในกรณีผิดสัญญาได้มีการตกลงกันไว้ในสัญญาข้อ 5 ว่าถ้าผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 2 งวดติดต่อกันสัญญาเป็นอันสิ้นสุดลงโดยพลัน ผู้ให้เช่าซื้อชอบที่จะเอาคืนรถพร้อมทั้งอุปกรณ์ได้ ข้อ 6 ว่า เมื่อผู้ให้เช่าซื้อเอารถพร้อมอุปกรณ์คืนตามข้อ 5 แล้วผู้เช่าซื้อยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อตีราคารถพร้อมอุปกรณ์ได้แต่เพียงผู้เดียว เมื่อคิดหักกับราคาที่ผู้เช่าซื้อได้ผ่อนชำระมาบางส่วนแล้ว ปรากฏว่าผู้เช่าซื้อยังคงเป็นหนี้อยู่ก็ยอมให้ฟ้องร้องเอาแก่ผู้เช่าซื้อได้ทันที ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าวซึ่งสัญญาข้อนี้มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้จะใช้อัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามสัญญาข้อ 10 ไม่ได้ต้องใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7
ที่โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่าควรมีอำนาจฟ้องในฐานะส่วนตัวด้วยนั้น เห็นว่าแม้โจทก์ที่ 2 จะเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นผู้จัดการของห้างโจทก์ที่ 1 ก็ตาม แต่กรณีนี้หาใช่กิจการส่วนตัวของโจทก์ที่ 2 ไม่ เป็นเรื่องของโจทก์ที่ 1 โดยเฉพาะ โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะส่วนตัว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 110,000 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2ชำระแทน