คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาคำร้องขอดำเนินคดีที่ศาลแรงงานกลางของโจทก์แล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้อง จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่า การพิจารณาในศาลแรงงานกลางไม่เป็นการสะดวก จึงไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นคำฟ้องตามที่ขอตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์อุทธรณ์ก็เพื่อให้เห็นว่า การพิจารณาคดีในศาลแรงงานกลางจะเป็นการสะดวก อุทธรณ์โจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการพิจารณาอนุญาตของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินที่คงค้างอยู่พร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องรวม 15,349.16 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางเห็นว่าเป็นกรณีมีมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลแรงงานภาค 5 ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคสอง จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง (พอแปลความได้ว่าศาลแรงงานกลางพิจารณาคำร้องขออนุญาตฟ้องแล้ว เห็นว่า เป็นการไม่สะดวกจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง)
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นฟ้องคดีปรากฏว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างซึ่งมีสถานที่ที่ทำงานที่จังหวัดลำปาง ส่วนจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาที่กรุงเทพมหานคร โดยโจทก์ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีที่ศาลแรงงานกลาง ให้เหตุผลว่าสัญญาจ้างแรงงาน สัญญาค้ำประกัน ได้ทำที่กรุงเทพมหานคร เอกสารหลักฐานและพยานบุคคลต่าง ๆ อยู่ที่กรุงเทพมหานครอันเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นคดีอยู่ในเขตศาลแรงงานภาค 5 จึงไม่รับฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร มีลูกจ้างประจำการในสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ พยานหลักฐานต่าง ๆ ตามสัญญาจ้างแรงงานจะเก็บไว้ที่ภูมิลำเนาของโจทก์ และในคดีนี้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์แล้วนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาคำร้องขอดำเนินคดีที่ศาลแรงงานกลางของโจทก์แล้ว มีคำสั่งไม่รับฟ้องจึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่า การพิจารณาในศาลแรงงานกลางไม่เป็นการสะดวก จึงไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นคำฟ้องตามที่ขอตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์อุทธรณ์ก็เพื่อให้เห็นว่าการพิจารณาคดีในศาลแรงงานกลางจะเป็นการสะดวก อุทธรณ์โจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการพิจารณาอนุญาตของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์.

Share