คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4147/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนมีความผิดโดยไม่คำนึงถึงว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ แต่หากเด็กหญิงนั้นยินยอมก็มิได้หมายความว่า เด็กหญิงนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย เมื่อเด็กหญิงถูกกระทำชำเรา แม้เด็กหญิงจะยินยอมก็เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนเด็กหญิง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2)
จำเลยโทรศัพท์นัดหมายให้ ส. พาเพื่อนไปขายบริการทางเพศแก่จำเลย ส. จึงชักชวนเด็กหญิงทั้งสามอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปกระทำการดังกล่าวแล้วจำเลยรับตัวเด็กหญิงทั้งสามไว้กระทำชำเราโดยเด็กหญิงทั้งสามยินยอมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 5 และที่ 3 โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร แต่การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการรับไว้หรือล่อไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยทุจริต เพราะจำเลยมิได้รับเด็กหญิงทั้งสามไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องจากจำเลยมีเจตนาประสงค์จะกระทำชำเราเด็กหญิงทั้งสามเท่านั้น ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 312 ตรี วรรคสอง

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณารวมกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1044/2544 ของศาลชั้นต้น แต่คดีสำนวนดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 เวลากลางวัน จำเลยกับนางสาว ส. ซึ่งแยกไปดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดปทุมธานีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ร่วมกันพรากเด็กหญิง ด. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากนางปราณี นามวงศ์ ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และโดยทุจริต ล่อไป หรือพาไปซึ่งเด็กหญิง ด. โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมร่วมกันพรากเด็กหญิง อ. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากนายคมสันต์ สว่างภพ ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแล และโดยทุจริต ล่อไป หรือพาไปซึ่งเด็กหญิง อ. โดยเด็กนั้นยินยอม ร่วมกันล่อไปหรือพาไปซึ่งเด็กหญิง ด. อายุยังไม่เกิน 15 ปี เพื่อให้กระทำการค้าประเวณีโดยเด็กนั้นยินยอม และจำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง ด. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นยินยอม วันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 เวลากลางวัน จำเลยกับนางสาว ส. ร่วมกันพรากเด็กหญิง ด. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร และโดยทุจริตล่อไปหรือพาไปซึ่งเด็กหญิง ด. โดยเด็กนั้นยินยอม ร่วมกันพรากเด็กหญิง อ. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และโดยทุจริต ล่อไป หรือพาไปซึ่งเด็กหญิง อ. โดยเด็กนั้นยินยอม ร่วมกันล่อไปหรือชักพาไปซึ่งเด็กหญิง อ. อายุยังไม่เกิน 15 ปี เพื่อให้กระทำการค้าประเวณีโดยเด็กนั้นยินยอม และจำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง อ. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นยินยอม วันที่ 22 ธันวาคม 2543 เวลากลางวัน จำเลยกับนางสาว ส. ร่วมกันพรากเด็กหญิง ด. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และโดยทุจริตต่อไป หรือพาไปซึ่งเด็กหญิง ด. โดยเด็กนั้นยินยอม ร่วมกันพรากเด็กหญิง ส. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากนางราตรี จรจิต ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และโดยทุจริต ล่อไปหรือพาไปซึ่งเด็กหญิง ส. โดยเด็กนั้นยินยอม ร่วมกันพรากนางสาว อ. ผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารและโดยทุจริต ล่อไป หรือพาไปซึ่งนางสาว อ. โดยบุคคลนั้นยินยอมร่วมกันล่อไป หรือพาไปซึ่งเด็กหญิง ด. อายุยังไม่เกิน 15 ปี เพื่อให้กระทำการค้าประเวณีโดยเด็กนั้นยินยอม ร่วมกันล่อไป หรือชักพาไปซึ่งเด็กหญิง ส. อายุยังไม่เกิน 15 ปี เพื่อให้กระทำการค้าประเวณีโดยเด็กนั้นยินยอม จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง ด. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงนั้นยินยอม และวันที่ 3 มกราคม 2544 เวลากลางวัน จำเลยกับนางสาว ส. ร่วมกันพรากเด็กหญิง ด. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา โดยปราศจากเหตุอันสมควร และโดยทุจริตล่อไป หรือพาไป ซึ่งเด็กหญิง ด. โดยเด็กนั้นยินยอม ร่วมกันพรากเด็กหญิง ส. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และโดยทุจริต ล่อไป หรือพาไปซึ่งเด็กหญิง ส. โดยเด็กนั้นยินยอม ร่วมกันล่อไปหรือพาไปซึ่งเด็กหญิง ส. อายุยังไม่เกิน 15 ปี เพื่อให้กระทำการค้าประเวณี โดยเด็กนั้นยินยอม และจำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง ส. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นยินยอมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 312 ตรี, 317, 319 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นางปราณี นามวงศ์ มารดาเด็กหญิง ด. นางราตรี จรจิต มารดาเด็กหญิง ส. นายคมสันต์ สว่างภพ ผู้ปกครองเด็กหญิง อ. และนางศรีสุด สว่างภพ มารดาเด็กหญิง อ. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางปราณี นางราตรีและนายคมสันต์เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหากระทำชำเรา และความผิดต่อเสรีภาพ ส่วนนางศรีสุดเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหากระทำชำเราเด็กหญิง อ. โดยเรียกผู้ร้องดังกล่าวเป็นโจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 4 กระทง จำคุก 16 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ตรี วรรคสอง, 317 วรรคสาม ด้วย ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 4 กระทง จำคุก 20 ปี สำหรับความผิดฐานกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก และฐานโดยทุจริต ล่อไป หรือพาไปซึ่งเด็กตามมาตรา 312 ตรี วรรคสอง เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราตามมาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก กระทงละ 4 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 16 ปี รวมจำคุก 36 ปี ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 4 เข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหากระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุ เด็กหญิง ด. มีอายุ 13 ปีเศษ เป็นบุตรโจทก์ร่วมที่ 2 เด็กหญิง ส. มีอายุ 14 ปีเศษ เป็นบุตรโจทก์ร่วมที่ 3 และเด็กหญิง อ. มีอายุ 14 ปีเศษ เป็นบุตรโจทก์ร่วมที่ 5 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ผู้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนนั้นมีความผิดโดยไม่คำนึงว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหญิงนั้นยินยอมก็มิได้หมายความว่า เด็กหญิงนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย เมื่อเด็กหญิง ด. เด็กหญิง ส. และเด็กหญิง อ. ถูกกระทำชำเราแม้เด็กหญิงทั้งสามจะยินยอมก็เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำความผิดข้อหานี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนเด็กหญิง ด. เด็กหญิง ส. และเด็กหญิง อ. ตามลำดับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (1) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดข้อหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 (2) คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่… พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยโทรศัพท์นัดหมายให้นางสาว ส. พาเพื่อนไปขายบริการทางเพศแก่จำเลย นางสาว ส. จึงชักชวนเด็กหญิง ด. เด็กหญิง อ. และเด็กหญิง ส. ไปกระทำการดังกล่าว แล้วจำเลยรับตัวเด็กหญิงทั้งสามไว้กระทำชำเราโดยเด็กหญิงทั้งสามยินยอมที่โรงแรมผกาอินท์ เป็นการล่วงอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 5 และที่ 3 ตามลำดับ โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำชำเราเด็กหญิง ด. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิง ด. โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 กระทำชำเราเด็กหญิง อ. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิง อ. โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 และกระทำชำเราเด็กหญิง ส. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิง ส. โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร ในวันที่ 22 ธันวาคม 2543 และวันที่ 3 มกราคม 2544 แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการรับไว้หรือล่อไปซึ่งเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยทุจริต เพราะจำเลยหาได้รับเด็กหญิงทั้งสามไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ เนื่องจากจำเลยมีเจตนาประสงค์จะกระทำชำเราเด็กหญิงทั้งสามเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ตรี วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวมาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ตรี วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share