คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความเดิม เพียงแต่สิทธิถูกโต้แย้ง ก็มีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามได้
ผู้ร้องร้องเข้ามามีใจความสำคัญว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะรับโอนสิทธิการเช่าจากจำเลยได้ เพราะจำเลยได้ทำนิติกรรมโอนขายให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องได้รับโอนพร้อมทั้งชำระเงินให้แก่จำเลยเรียบร้อยแล้ว การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการโต้แย้งคัดค้านข้อกล่าวหาของผู้ร้องเกี่ยวกับการรับโอนสิทธิการเช่าตึกรายเดียวกันว่า เมื่อจำเลยได้ตกลงยอมโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้แก่ผู้ร้องไปแล้วนั้น โจทก์ยังจะคงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ได้หรือไม่ ดังนี้ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอดเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าตึกแถว 2 ชั้น จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมาจำเลยได้เสนอขอโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวแก่โจทก์ เรียกค่าตอบแทนเป็นเงิน 300,000 บาท โดยมีข้อแม้ว่าจำเลยจะจัดการให้บุคคลที่อยู่ในตึกพิพาทออกไปก่อน โจทก์สนองรับข้อเสนอ ต่อมาจำเลยฟ้องขับไล่นายไพฑูรย์ ซึ่งเป็นบุคคลอยู่ในห้องพิพาท และทำสัญญายอมความกันในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 107/2515 ของศาลจังหวัดนครปฐม ใจความว่า นายไพฑูรย์จะขนย้ายออกไปจากตึกพิพาทภายใน 3 ตุลาคม 2515 ครบกำหนด จำเลยกลับยอมใหนายไพฑูรย์อยู่ต่อไป ครั้น 27 ธันวาคม 2515 จำเลยยังทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้แก่นางวรรัตน์ เวศวรุตม์ ด้วยเป็นการผิดสัญญา ขอให้ศาลบังคับจำเลยจัดการบังคับนายไพฑูรย์ออกจากตึกแถวพิพาทตามสัญญายอมความในสำนวนคดีดังกล่าว บังคับให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้แก่โจทก์ ฯลฯ

จำเลยให้การว่า เดิมนายไพฑูรย์มีสิทธิเช่าห้องพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ต่อมาได้มากู้ยืมเงินจำเลยและทำหลักฐานให้จำเลยมีสิทธิไปขอรับโอนห้องเป็นของจำเลยเพื่อประกันหนี้ จำเลยจึงไปขอรับโอนสิทธิการเช่าเป็นของจำเลย ต่อมาจำเลยมีความจำเป็นต้องใช้เงินจึงเสนอขอโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ในอัตรา 300,000 บาท แต่โจทก์มิได้ตอบสนองภายใน 30 วัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ต่อมานายไพฑูรย์ชำระหนี้ให้จำเลย จำเลยจึงโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้นายไพฑูรย์ โดยโอนให้บุคคลที่นายไพฑูรย์ประสงค์จะให้รับโอน

ก่อนสืบพยานโจทก์ นางวรรัตน์ เวศวรุตม์ โดยนายไพฑูรย์ ผู้รับมอบอำนาจ ได้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความว่า ผู้ร้องสอดเป็นคู่สัญญากับจำเลย จำเลยตกลงยินยอมโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้ผู้ร้อง ผู้ร้องชำระเงินค่าตอบแทนให้แก่จำเลยโดยสุจริตไปแล้ว ผู้ร้องขอร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้เป็นฝ่ายที่สาม เพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้โจทก์ถอนเรื่องราวการขอรับโอนสิทธิในการเช่าตึกแถวพิพาทที่ยื่นไว้ต่อสำนักงานทรัพย์สินฯ และพิพากษาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอรับโอนสิทธิการเช่าจากจำเลย เพราะจำเลยทำนิติกรรมโอนให้ผู้ร้องแล้ว ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องตึกพิพาทต่อไป ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องเป็นรายเดือน เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ผู้ร้องเข้ามาในคดี จนกว่าคดีนี้จะถึงที่สุด

ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องสอดของผู้ร้อง

ผู้ร้องสอดอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องสอดฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความเดิม เพียงแต่สิทธิถูกโต้แย้งก็มีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามได้

คดีนี้ นางวรรัตน์ เวศวรุตม์ ได้ร้องสอดเข้ามามีใจความสำคัญว่า การโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะรับโอนสิทธิการเช่าจากจำเลยได้ เพราะจำเลยได้ทำนิติกรรมโอนขายให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องได้รับโอนพร้อมทั้งชำระเงินให้แก่จำเลยเรียบร้อยแล้ว การฟ้องคดีของโจทก์นี้เป็นการโต้แย้งคัดค้านข้อกล่าวหาของผู้ร้องเกี่ยวกับการรับโอนสิทธิการเช่ารายเดียวกันว่า เมื่อจำเลยได้ตกลงยอมโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้แก่ผู้ร้องไปแล้วนั้น โจทก์ยังจะคงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยโอนสิทธิการเช่านั้นให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ กรณีเช่นนี้ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอดเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามอนุมาตรา (1) ของมาตรา 57 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินคดีต่อไปตามกระบวนความ

Share