แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นช่างซ่อมบำรุง ไม่ได้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของโจทก์ ที่โจทก์หักค่าจ้างร้อยละ 5 ไว้เป็นเงินประกันหรือเงินสะสมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10, 76 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะดำเนินธุรกิจแข่งขันกับโจทก์ในขณะที่ยังเป็นลูกจ้างของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย และจำเลยที่ 2 ใช้เวลาทำงานไปทำกิจการส่วนตัวอันเป็นการทุจริตเวลาทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 10.2 หรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างระเบียบข้อบังคับการทำงานของโจทก์เพื่อปฏิเสธที่จะคืนเงินค่าจ้างของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์หักไว้ หากจำเลยที่ 2 กระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 ยังเป็นลูกจ้างโจทก์ก็ชอบที่โจทก์จะดำเนินคดีฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ดังที่ได้ดำเนินคดีไว้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง โจทก์ต้องคืนเงินค่าจ้างที่หักไว้แก่จำเลยที่ 2 คดีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้โจทก์คืนเงินที่โจทก์หักจากค่าจ้างของจำเลยที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 23/2547 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 ให้โจทก์คืนเงินประกัน-เงินสะสมแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 12,575 บาท ของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์คืนเงินจำนวน 12,575 บาท ที่โจทก์หักจากค่าจ้างจำเลยที่ 2 หรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นช่างซ่อมบำรุง ไม่ได้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของโจทก์ ที่โจทก์หักค่าจ้างร้อยละ 5 ไว้เป็นเงินประกันหรือเงินสะสมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 และมาตรา 76 เมื่อจำเลยที่ 2 ลาออกโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่หักไว้ทั้งหมด โจทก์หาได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า การหักเงินค่าจ้างดังกล่าวชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 และมาตรา 76 แล้วไม่ โจทก์คงอุทธรณ์เพียงว่า จำเลยที่ 2 ดำเนินธุรกิจแข่งขันกับโจทก์ในขณะที่ยังเป็นลูกจ้างของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย และจำเลยที่ 2 ใช้เวลาทำงานไปทำกิจการส่วนตัวอันเป็นการทุจริตเวลาทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 10.2 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินประกัน-เงินสะสมเท่านั้น เห็นว่า ไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะได้กระทำการอันเป็นความผิดฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์หักเงินค่าจ้างเพื่อเป็นเงินประกันหรือเงินสะสมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจจะอ้างระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์เพื่อปฏิเสธที่จะคืนเงินค่าจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์หักไว้ได้ ทั้งหากจำเลยที่ 2 กระทำให้เกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้นแก่โจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 ยังเป็นลูกจ้างของโจทก์ก็ชอบที่โจทก์จะดำเนินคดีฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังที่โจทก์ได้ดำเนินคดีฟ้องร้องแก่จำเลยที่ 2 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง โจทก์จำต้องคืนเงินค่าจ้างที่หักไว้แก่จำเลยที่ 2 คดีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.