คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ในราคา 1,350,000 บาท ชำระเงินมัดจำ 50,000 บาทส่วนที่เหลือแบ่งชำระโดยจะชำระ 800,000 บาทเมื่อโจทก์ได้นำทรัพย์พิพาทเข้าสถาบันการเงินได้และจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในวันนั้น เงินอีก500,000 บาท ผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 30,000 บาทนับถัดจากเดือนที่นำทรัพย์พิพาทเข้าสถาบันการเงินได้จนกว่าจะครบ การชำระหนี้ของโจทก์ไม่ได้กำหนดเวลากันไว้ แต่ตามข้อตกลงที่ว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์เข้าปรับปรุงซ่อมแซมตกแต่งทรัพย์พิพาทได้ทันทีหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายย่อมแสดงว่าโจทก์ก็มีหน้าที่ชำระหนี้ในส่วนที่ค้างในทันทีเช่นกันแต่การที่โจทก์ชำระหนี้ดังกล่าวได้นั้น ตามสัญญากำหนดให้โจทก์เป็นผู้ติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงินซึ่งจะต้องมีการติดต่อกับบุคคลหลายคนหลายฝ่าย และยังจะต้องใช้เอกสารเป็นหลักฐานมิใช่น้อย จึงควรให้เวลาพอสมควร แต่โจทก์เพิ่งจะไปติดต่อขอกู้เงินจากธนาคาร เมื่อเวลาผ่านพ้นไปถึง 4 เดือนเศษหากโจทก์ขวนขวายเพื่อจะชำระหนี้ให้จำเลยอย่างจริงจังโจทก์ก็ น่าจะดำเนินการเสียแต่โดยเร็ว หรืออย่างช้าก็ในช่วงที่โจทก์เข้าไปปรับปรุงซ่อมแซมตกแต่งทรัพย์พิพาทเพื่อให้จำเลยเห็นว่าโจทก์อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ให้จำเลยได้ แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ กลับได้ความว่ามีเจ้าหนี้ของโจทก์ที่ซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อไปซ่อมแซมตกแต่งบ้านพิพาทไปทวงหนี้ให้จำเลยชำระหลายราย ดังนั้นเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์พิพาทมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ในส่วนที่ค้างอยู่ และกรณีมีเหตุอันสมควรที่จะทำให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ไม่ได้จำเลยจึงมีสิทธิบอกกล่าวให้ชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ทนายจำเลยได้มีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้โดยส่งหนังสือดังกล่าวไปทางไปรษณีย์ลงทะเบียน และในวันรุ่งขึ้นได้ส่งถึงผู้รับแล้ว ซึ่งผู้รับไปรษณีย์ภัณฑ์ลงทะเบียนหาได้จำกัดเฉพาะผู้มีชื่อผู้รับจะต้องเป็นผู้รับด้วยตนเองเสมอไปไม่ แม้บุคคลอื่นซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดียวกันและมีอายุเกินกว่า 7 ปี ก็รับแทนกันได้ ดังนั้นเมื่อมีบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดียวกัน และมีอายุกว่า 7 ปีเป็นผู้รับแทนไว้ ก็ต้องถือว่าจำเลยได้ส่งคำบอกกล่าวทวงถามและเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว จำเลยได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว โจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าซื้อที่ชำระให้จำเลยไปบางส่วนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2527 จำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 126985 และเลขที่ 126986 เฉพาะส่วนเนื้อที่ 127 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในราคา 1,350,000 บาท ในวันทำสัญญาโจทก์ได้ชำระเงินมัดจำเป็นเงิน 50,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระกันดังนี้คือ โจทก์ต้องชำระเงินจำนวน 800,000 บาท เมื่อโจทก์ได้นำที่ดินและบ้านดังกล่าวเข้าสถาบันการเงินได้ สำหรับเงินอีก500,000 บาท นั้นผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 30,000 บาทนอกจากมีข้อตกลงในการชำระเงินดังกล่าวแล้ว จำเลยยอมให้โจทก์เข้าไปเพื่อตกแต่งบ้านที่ขายหลังจากนั้นโจทก์เข้าไปดำเนินการตามสัญญาและจ่ายเงินให้จำเลยอีก 99,394.65 บาท ต่อมา ปลายเดือนพฤษภาคม 2528 โจทก์ติดต่อกับธนาคารกรุงเทพ จำกัดเพื่อจำนองที่ดินดังกล่าวได้และแจ้งให้จำเลยโอนที่ดินแก่โจทก์เพื่อที่โจทก์จะได้จำนองแก่ธนาคารในวันที่ 31 พฤษภาคม 2528ครั้นถึงวันนัดจำเลยไม่ไปและในวันเดียวกันจำเลยได้โทรเลขแจ้งให้โจทก์ทราบว่าได้ให้ทนายความบอกเลิกสัญญาแล้วความจริงโจทก์ไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายการกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาจะต้องรับผิดต่อโจทก์โดยเสียค่าปรับวันละ 1,000 บาท นับแต่วันผิดนัด แต่ไม่เกิน50,000 บาท และต้องคืนเงินมัดจำ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญากับเงินจำนวน99,394.65 บาท และเงินค่าซ่อมแซมตกแต่งบ้านที่โจทก์จ่ายไปแล้ว 83,600 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระทั้งสิ้น232,994.65 บาท ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่126985 และ 126986 พร้อมกับทำการโอนที่ดินแก่โจทก์หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยถ้าไม่สามารถส่งมอบและโอนที่ดินดังกล่าวได้ ก็ให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 232,994.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และชำระค่าปรับ วันละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะโอนที่ดินหรือชำระเงินแก่โจทก์แต่ไม่เกิน 50,000 บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระเงินแก่จำเลยเพราะไม่สามารถหาเงินจากสถาบันการเงินได้ จำเลยจึงได้ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามกำหนดระยะเวลา แต่โจทก์ไม่ชำระ สัญญาจึงเป็นอันเลิกกัน เงินมัดจำที่โจทก์วางไว้ต้องถูกริบ สำหรับค่าก่อสร้างจำนวน 83,600 บาท นั้น โจทก์เรียกร้องเอาจากจำเลยไม่ได้ตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลย ข้อ 5 ยอมให้โจทก์และบริวารเข้าอยู่อาศัยในบ้านตามสัญญาและให้ซ่อมแซมได้โจทก์ก็มิได้เข้าอยู่อาศัยแต่กลับทุบทำลายอาคาร รั้วบ้าน และตัดฟันต้นไม้ที่จำเลยปลูกไว้เสียหายคิดเป็นเงิน 145,000 บาทจำเลยไม่สามารถเข้าครอบครองบ้านเพราะโจทก์ไม่ยอมจึงขาดประโยชน์เนื่องจากไม่ได้ค่าเช่ารวม 4 เดือนเป็นเงิน24,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 169,000 บาท โจทก์ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 169,000 บาทแก่จำเลย กับใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าเดือนละ 6,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเข้าครอบครองบ้านและที่พิพาทได้
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นับแต่ทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้วจำเลยได้ขอโฉนดที่ดินพิพาทซึ่งมอบไว้แก่โจทก์ไปเพื่อทำการแบ่งแยก และใช้เวลานานถึง 4 เดือน จึงแบ่งแยกเสร็จและได้รับโฉนด โจทก์ขอให้จำเลยส่งมอบโฉนดเพื่อนำไปให้สถาบันการเงินพิจารณาและปล่อยสินเชื่อเพื่อนำเงินไปชำระแก่จำเลย แต่จำเลยบ่ายเบี่ยง อันเป็นความผิดของจำเลย โจทก์ต้องถ่ายสำเนาโฉนดเพื่อเป็นหลักฐาน และในที่สุดสถาบันการเงินก็อนุมัติให้โจทก์กู้เงินได้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2528 การที่จำเลยไม่ส่งมอบโฉนดแก่โจทก์ก็เนื่องจากจำเลยได้ติดต่อขายบ้านและที่ดินได้ในราคาสูง จึงหาเหตุบอกเลิกสัญญา โจทก์ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามบอกเลิกสัญญาจากจำเลย โจทก์เข้าปรับปรุงบ้านพิพาทและทำให้ที่ดินมีค่าขึ้น จำเลยไม่ได้รับความเสียหายขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยโจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2527 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ในราคา 1,350,000 บาท ชำระเงินมัดจำ 50,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระดังนี้ ชำระ800,000 บาท เมื่อโจทก์ได้นำทรัพย์พิพาทเข้าสถาบันการเงินได้และจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในวันนั้น สำหรับเงินอีก 500,000 บาทผ่อนชำระเป็นรายเดือนเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากเดือนที่นำทรัพย์พิพาทเข้าสถาบันการเงินได้จนกว่าจะครบ และจำเลยยินยอมให้โจทก์เข้าปรับปรุงซ่อมแซมตกแต่งทรัพย์พิพาทได้ ปรากฏรายละเอียดตามสัญญาจะซื้อจะขายและวางมัดจำเอกสารหมายจ.3 หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์ชำระเงินให้จำเลย 99,394.65 บาทโจทก์เช้าไปปรับปรุงซ่อมแซมตกแต่งทรัพย์พิพาท ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2528 โจทก์ได้รับอนุมัติจากธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาท่าเตียน ให้โจทก์กู้เงินได้ 800,000 บาท ซึ่งโจทก์จะต้องนำทรัพย์พิพาทจำนองเงินกู้ดังกล่าว โจทก์แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์และรับเงินในวันที่ 31 พฤษภาคม 2528จำเลยทราบแล้วไม่ไป มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายทรัพย์พิพาท ได้ความตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 3 ระบุว่า “เงินส่วนที่ค้างอยู่ 1,300,000 บาท ผู้จะซื้อตกลงชำระให้แก่ผู้จะขายเมื่อผู้จะซื้อได้นำ ที่ดินดังกล่าวเข้าสถาบันการเงินได้และโอนกรรมสิทธิ์ในวันนั้น เป็นเงินสด 800,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก500,000 บาท ผ่อนชำระเป็นรายเดือน ๆ ละ 30,000 บาท”เห็นว่า ตามสัญญาดังกล่าวมีความหมายว่าเงินค่าที่ดินและบ้านที่ค้างอยู่ 1,300,000 บาท นั้นแบ่งชำระเป็นงวด โดยงวดแรกจำนวน 800,000 บาท จะชำระก็ต่อเมื่อโจทก์ติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือธนาคารเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้จำเลย โดยนำที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ และโจทก์จดทะเบียนการจำนองเงินกู้ในคราวเดียวกัน การชำระหนี้ของโจทก์ไม่ได้กำหนดเวลากันไว้ แต่ก็เป็นที่เห็นได้จากข้อตกลงที่ว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์เข้าปรับปรุงซ่อมแซมตกแต่งทรัพย์พิพาทได้ทันทีหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขาย ย่อมแสดงว่าโจทก์เองก็มีหน้าที่ชำระหนี้ในส่วนที่ค้างอยู่ในทันทีเช่นกัน แต่การที่โจทก์ชำระหนี้ดังกล่าวได้นั้น ตามสัญญากำหนดให้โจทก์เป็นผู้ติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือธนาคาร การกู้เงินดังกล่าวนั้นจะต้องมีการติดต่อกับบุคคลหลายคนหลายฝ่าย และยังจะต้องใช้เอกสารเป็นหลักฐานมิใช่น้อยจึงควรให้เวลาพอสมควร ข้อเท็จจริงตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่ามีการทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์พิพาทในวันที่ 18 ธันวาคม 2527 โจทก์เพิ่งจะไปติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาท่าเตียน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2528 ซึ่งเป็นเวลาถึง 4 เดือนเศษเห็นว่า หากโจทก์ ขวนขวายเพื่อจะชำระหนี้ให้จำเลยตามสัญญาอย่างจริงจัง โจทก์ ก็น่าจะดำเนินการเสียแต่โดยเร็ว หรืออย่างช้าก็ในช่วงที่ โจทก์เข้าไปปรับปรุงซ่อมแซมตกแต่งทรัพย์พิพาท เพื่อให้จำเลยเห็นว่าโจทก์อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ให้จำเลยได้ แต่โจทก์ก็ได้กระทำไม่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่ามีเจ้าหนี้ของโจทก์ที่ซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อไปซ่อมแซมตกแต่งบ้านพิพาทไปทวงหนี้ให้จำเลยชำระหลายราย ดังนั้นเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์พิพาทมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ในส่วนที่ค้างอยู่ และกรณีมีเหตุอันสมควรที่จะทำให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ไม่ได้จำเลยจึงมีสิทธิบอกกล่าวให้ชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้และเลิกสัญญาโดยชอบแล้วหรือไม่ จำเลยมีตัวจำเลยและนายไพบูลย์ จันทรมงคลทนายจำเลยเบิกความประกอบว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2528ทนายจำเลยได้มีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือหากไม่ปฏิบัติถือว่าผิดสัญญาและสัญญาเป็นอันเลิกกันตามเอกสารหมาย ล.8 และได้มีการจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนในวันนั้น และในวันรุ่งขึ้นได้ส่งถึงผู้รับปรากฏตามใบแจ้งผลการไต่สวนเอกสารหมาย ล.21 และหลักฐานการส่งตามเอกสารหมาย ล.22 นอกจากนี้จำเลยยังมีนายคำพูน วุฒิวัฒน์เจ้าหน้าที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นพยานเบิกความอีกว่าพยานได้ไต่สวนกรณีที่ทนายจำเลยส่งไปรษณียภัณฑ์ ถึงโจทก์ได้ความว่าส่งถึงแล้ว พยานฝ่ายโจทก์คงได้ความแต่เพียงว่าในช่วงที่มีการส่งไปรษณียภัณฑ์ บิดาโจทก์ซึ่งมีชื่อผู้รับแทนถึงแก่กรรมและตนไม่เคยรับ เห็นว่า ผู้รับไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนหาได้จำกัดเฉพาะผู้มีชื่อผู้รับจะต้องเป็นผู้รับด้วยตนเองเสมอไปไม่ แม้บุคคลอื่นซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดียวกันและมีอายุเกินกว่า 7 ปีก็รับแทนกันได้ดังนั้นเมื่อมีบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดียวกันและมีอายุกว่า 7 ปีเป็นผู้รับแทนไว้เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2528ก็ต้องถือว่าจำเลยได้ส่งคำบอกกล่าวทวงถามและเลิกสัญญาโดยชอบแล้วตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2528 โจทก์ไม่ชำระหนี้ภายใน15 วัน นับแต่วันรับหนังสือคือภายในวันที่ 27 เมษายน 2528ซึ่งเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์พิพาทเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวเมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนที่โจทก์ได้เข้าไปปรับปรุง ซ่อมแซมตกแต่งทรัพย์พิพาท รวมทั้งไม่มีสิทธิเรียกร้อง ค่ามัดจำคืนจากจำเลยได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์เป็นค่าทรัพย์พิพาทรวมเป็นเงิน 99,394.65 บาท นั้น เมื่อจำเลยได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ แต่โจทก์ขอดอกเบี้ยมานับตั้งแต่วันฟ้อง จึงให้ตามขอ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 99,394.65 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 มิถุนายน 2528) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share