คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4182/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนอันถือได้ว่าเป็นการขายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) และได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อผู้ที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์รวมให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน จึงไม่ถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมตรา 91/2 (6) โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1673 ตำบลวัดอรุณ (บางกอกใหญ่ฝั่งเหนือ) อำเภอบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา หรือ 940 ตารางวา ซึ่งมารดาโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2522 จำนวน 1 ใน 2 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 470 ตารางวา และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 อีกจำนวน 235 ตารางวา โดยมิได้ระบุว่าเป็นที่ดินส่วนใด เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2538 โจทก์ให้บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนของโจทก์จำนวน 1 ใน 3 ส่วน โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นส่วนใด ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินให้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่นรวมเป็นเงิน 343,200 บาท โดยเจ้าพนักงานประเมินให้เหตุผลว่า โจทก์ต้องชำระภาษีธุรกิจเฉพาะตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ซึ่งตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ถือว่าการให้กรรมสิทธิ์รวมแก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นการขาย โจกท์อุทธรณ์การประเมิน ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ลดภาษีที่เรียกเก็บลง คงเหลือ 114,400 บาท โจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในการโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ เนื่องจากเป็นการให้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโดยไม่มีการแบ่งแยกไม่ได้ระบุว่าเป็นส่วนใด ถือว่าโจทก์ให้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนที่ถือครองเกิน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ที่ดินมา ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.3(อธ.3)/272/2547 ลงวันที่ 15 มกราคม 2547 (ที่ถูกลงวันที่ 30 มิถุนายน 2547) หรือขอให้ลดค่าภาษีที่ต้องชำระเหลือเพียง 10,400 บาท
จำเลยให้การว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.3(อธ.3) 272/2547 ลงวันที่ 15 มกราคม 2547 (ที่ถูกวันที่ 30 มิถุนายน 2547) คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2522 มารดาโจทก์ได้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยไม่มีค่าตอบแทนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1673 ตำบลวัดอรุณ (บางกอกใหญ่ฝั่งเหนือ) อำเภอบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 1 ใน 2 ส่วน โดยที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา เท่ากับถือกรรมสิทธิ์รวมคนละ 470 ตารางวา ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 มารดาโจทก์ได้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนของมารดาโจทก์อีก 1 ใน 2 ส่วน โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 235 ตารางวา รวมทั้งสิ้นโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม 705 ตารางวา ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม 2538 โจทก์ได้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่นายสุรเชษฐ์ บุญธินันท์ บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เฉพาะส่วนของโจทก์จำนวน 1 ใน 3 ส่วน โดยตีราคาทรัพย์ที่โอน 5,200,000 บาท ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนที่ดิน 5,170,000 บาท ตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 30 ถึง 35 และบันทึกการประเมินราคาทรัพย์เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 36 โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินให้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่นรวม 343,200 บาท ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 9 โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ลดภาษีที่เรียกเก็บลงเป็นเงินภาษี 104,000 บาท เงินเพิ่ม 104,000 บาท และภาษีส่วนท้องถิ่น 20,800 บาท รวมลดให้ทั้งสิ้น 228,800 บาท คงเหลือเรียกเก็บเป็นเงินภาษี 52,000 บาท เงินเพิ่ม 52,000 บาท และภาษีส่วนท้องถิ่น 10,400 บาท รวมเรียกเก็บทั้งสิ้นเป็นเงิน 114,400 บาท โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากโจทก์ได้รับแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมาไม่พร้อมกัน โดยจำนวน 470 ตารางวา ใน 940 ตารางวา ได้รับมาเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2522 เป็นการถือครองที่ดินเกินกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ และจำนวน 235 ตารางวา ใน 470 ตารางวา ได้รับมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นการถือครองเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้แก่บุตรจำนวน 235 ตารางวา ไม่สามารถระบุว่าเป็นที่ดินส่วนใด จึงพิจารณาปรับปรุงรายรับตามการประเมินลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ส่วนของราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน เป็นผลให้ภาษีตามการประเมินเปลี่ยนแปลงลดลงตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 4 ถึง 5
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทน เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า มาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติยกเว้นกรณีโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทน จึงถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร เพราะเข้าลักษณะขายอสังหาริมทรัพย์ไปภายใน 5 ปี นับแต่ได้มา ส่วนมาตรา 4 (6) (ง) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 ซึ่งบัญญัติว่า การโอนอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตน ไม่ให้ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป ย่อมไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการกรณีของโจทก์ด้วยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ยังมีข้อยกเว้นหลายประการที่ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร แสดงว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มามิใช่เป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาเป็นแต่ละกรณีไป แม้คดีนี้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าโจทก์แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนอันถือได้ว่าเป็นการขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่เมื่อผู้ที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน การโอนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) โจทก์จึงไม่จำต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share