แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยประพันธ์และนำพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2521 เมื่ออ่านแล้วได้ความว่า รถยนต์คันที่โจทก์นั่งมาเป็นฝ่ายผิด เจ้าพนักงานตำรวจเข้าปฏิบัติหน้าที่ต่อคู่กรณีตามความเป็นจริงกลับถูกโจทก์ตะคอกด่าว่า”โง่ทำงานไม่เป็น” แล้วโจทก์สั่งให้คนขับรถขับรถยนต์หนีไป โจทก์เป็นคนขนาดเคยเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยกลับเหยียดหยามกฎหมาย ดังนี้ จำเลยจะอ้างว่าข้อความที่จำเลยประพันธ์เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ตามข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 14 สิงหาคม2521 หาได้ไม่ เพราะมีการยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์ด่าว่าเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ทั้ง ๆ ที่รถยนต์ที่โจทก์นั่งมาเป็นฝ่ายผิดแล้วโจทก์ยังให้คนขับรถยนต์หนีไป ซึ่งข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ไม่ได้ด่าว่าเจ้าพนักงานตำรวจ และไม่ได้สั่งให้คนขับรถยนต์หนีไปจึงเป็นการใส่ความโจทก์อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
ในคดีที่ฎีกาได้แต่ปัญหาข้อกฎหมายเมื่อพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดีโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี เพราะข้อความที่จำเลยประพันธ์สืบเนื่องมาจากข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม 2521 จำเลยจึงประพันธ์ข้อความในคดีนี้ขึ้นในหนังสือพิมพ์ฉบับวันรุ่งขึ้นในหัวข้อเรื่อง “บุคคลในข่าว” อันเป็นการวิจารณ์ข่าวเพิ่มเติม มิใช่ประพันธ์เรื่องขึ้นใหม่ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประพันธ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2521 มีข้อความหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 7, 8
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุก 1 เดือนกับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จำนวน7 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าข้อความที่จำเลยประพันธ์ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท พิเคราะห์แล้วข้อความที่จำเลยประพันธ์และนำพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับที่ 7511 วันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2521 หน้า 4 เมื่ออ่านแล้วได้ความว่า รถยนต์คันที่โจทก์นั่งมาเป็นฝ่ายผิด จ่าสิบตำรวจเจริญ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าปฏิบัติหน้าที่ต่อคู่กรณีตามความเป็นจริงกลับถูกโจทก์ตะคอกด่าว่า “โง่ทำงานไม่เป็น” แล้วโจทก์สั่งให้คนขับรถยนต์หนีไปโจทก์เป็นคนขนาดเคยเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยกลับเหยียดหยามกฎหมาย จำเลยอ้างว่าข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตในการวิจารณ์ข่าวซึ่งลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 14 สิงหาคม2521 อันเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ตามข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว เห็นว่าข้อความที่จำเลยประพันธ์มิใช่เพียงติชมการกระทำของโจทก์ตามข่าวเท่านั้น แต่ยังเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ด่าว่าเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ ทั้ง ๆ ที่รถยนต์ที่โจทก์นั่งมาเป็นฝ่ายผิด แล้วโจทก์ยังให้คนขับรถยนต์หนีไป ซึ่งข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วว่า โจทก์ไม่ได้ด่าว่าเจ้าพนักงานตำรวจ และไม่ได้สั่งให้คนขับรถยนต์หนีไปจึงเป็นการใส่ความโจทก์ อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์ที่ปรากฏในคดีนี้โทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมายังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี เพราะข้อความที่จำเลยประพันธ์นั้นสืบเนื่องมาจากข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม 2521 (เอกสารหมาย ล.1) ในหัวข้อข่าวที่ว่า “สมัครเกิดโมโหเดือดด่าใส่ตำรวจโง่” ภายในข่าวมีข้อความว่า รถของโจทก์เบียดกับรถเมล์เล็กเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจที่เกิดเหตุแล้วยืนยันว่ารถของโจทก์เป็นฝ่ายผิดทำให้โจทก์ไม่พอใจจึงว่าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในเครื่องแบบผู้นั้นว่า “โง่ทำงานไม่เป็น” ฯลฯ เรื่องราวเป็นมาเช่นนี้จำเลยจึงประพันธ์ข้อความนั้นขึ้นในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2521 ในหัวข้อเรื่อง “บุคคลในข่าว” (เอกสารหมาย จ.1) อันเป็นการวิจารณ์ข่าวเพิ่มเติม มิใช่ประพันธ์เรื่องขึ้นใหม่ สภาพแห่งความผิดไม่ร้ายแรง ประกอบทั้งจำเลยก็ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และโจทก์กับจำเลยไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัว ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน โดยพฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีเห็นว่ามีเหตุสมควรรอการลงโทษให้ เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 1 เดือนปรับ 1,000 บาท ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56, 58 ไม่ชำระค่าปรับจัดการ ตามมาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์