คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การวินิจฉัยว่าประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าอันหนึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าอีกอันหนึ่งหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆไป มิใช่จากความรู้สึกของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปควายสีทองยืนอยู่ตัวเดียว มีรูปต้นไม้ ภูเขา ก้อนเมฆ เป็นภาพประกอบ ของจำเลยเป็นรูปควายสีค่อนข้างดำ และมีรูปสิงห์โตคู่เหยียบอีแปะ และรูปพระอาทิตย์มีรัศมีเป็นสารสำคัญของเครื่องหมายอีกด้วย ทั้งพื้นภาพก็เป็นสีต่างกันตลอดจนตัวอักษรเจ้าของเครื่องหมายการค้าก็วางในที่ต่างกัน และของโจทก์ยังเป็นอักษรภาษาอังกฤษ เห็นได้ชัดว่ามิใช่เครื่องหมายการค้าอันเดียวกัน และยังปรากฏว่ามีบุคคลอื่นๆ อีกที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งมีรูปควายเป็นสารสำคัญ หรือส่วนของเครื่องหมายการค้า จึงเป็นการยากที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ไม่ถือว่าจำเลยมีเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “ตราควาย”จดทะเบียนไว้ต่อกรมทะเบียนการค้า กระทรวงเศรษฐการ โดยใช้กับสินค้าผ้าดำออกจำหน่ายเป็นเวลาหลายปีมาแล้วตามรูปเครื่องหมายการค้าโจทก์หมาย ๑ ท้ายฟ้อง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยใช้เครื่องหมายการค้าตามรูปหมาย ๒ ท้ายฟ้องกับสินค้าผ้าดำออกจำหน่ายโดยเจตนาให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๔, ๘๓
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าหมาย ๒ ท้ายฟ้องเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย แต่ไม่เป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าหมาย ๑ ของโจทก์ตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์สำหรับปัญหาข้อเท็จจริงได้ด้วย
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าหมาย ๒ท้ายฟ้องเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย แต่เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยมีลักษณะแตกต่างกันมากทั้งรูปภาพและสี ไม่ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การวินิจฉัยว่าประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าอันหนึ่งเป็นของอีกอันหนึ่งได้หรือไม่ นั้น จะต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไป มิใช่จากความรู้สึกของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปควายสีทองยืนอยู่ตัวเดียว มีรูปต้นไม้ ภูเขา ก้อนเมฆเป็นภาพประกอบ ของจำเลยเป็นรูปความสีค่อนข้างดำ และยังมีรูปสิงห์โตคู่เหยียบอีแปะ และรูปพระอาทิตย์มีรัศมีเป็นสารสำคัญของเครื่องหมายการค้านี้ด้วย ทั้งสีของพื้นภาพก็ต่างกันตลอดจนตัวอักษรเจ้าของเครื่องหมายการค้าก็วางไว้ในที่ต่างกัน และของโจทก์ยังเป็นอักษรภาษาอังกฤษ ทั้งยังได้ความว่ามีเจ้าของเครื่องหมายการค้ารายอื่น ๆที่ใช้ควายเป็นสารสำคัญของเครื่องหมายด้วย จึงเป็นการยากที่ประชาชนจะเข้าใจผิดหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เห็นได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์
พิพากษายืน.

Share