แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สามีภริยาได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกัน และทำบันทึกแบ่งทรัพย์สินให้ภริยาด้วยนั้นการแบ่งทรัพย์นี้ไม่ใช่คำมั่นว่าจะให้แต่เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1512
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ชนะคดีนางประเทืองจำเลยที่ 2 และได้นำยึดที่ดินและห้องแถว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ปกครองจำเลยที่ 3, 4, 5 บุตรร้องขัดทรัพย์ ศาลจึงสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด ความจริงทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1, 3, 4, 5
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์พิพาทแก่จำเลยที่ 2 ตามหนังสือหย่ายังไม่ได้จดทะเบียน จึงไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกให้จำเลยที่ 3, 4, 5 ได้พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 3, 4 และ 5 เสีย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อหย่าขาดจากกันนั้น เป็นข้อตกลงแบ่งทรัพย์ระหว่างสามีภริยา ไม่ใช่การให้โดยเสน่หา ข้อตกลงนั้นจึงมิใช่คำมั่นว่าจะให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525, 526 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ในขณะที่หย่ากันนั้นยังไม่ได้รับรองการทำประโยชน์ในที่ดินที่พิพาทซึ่งมีแต่สิทธิครอบครอง ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองที่ดินและห้องแถวพิพาทตามข้อตกลงแบ่งทรัพย์ที่ดินและห้องแถวก็ตกเป็นสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ตามที่ได้ครอบครอง โดยผลของข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ยอมให้ทรัพย์พิพาทเป็นสิทธิแก่จำเลยที่ 2 นั้น ฉะนั้น จำเลยที่ 1จึงไม่มีสิทธิที่จะเอาทรัพย์พิพาทไปโอนยกให้จำเลยที่ 3, 4, 5 ซึ่งความจริงก็ได้ความว่าเป็นการโอนระหว่างที่โจทก์ฟ้องคดีจำเลยที่ 2 แล้ว และเป็นการโอนให้บุตรนั้นเอง ทั้งเมื่อโอนแล้วจำเลยที่ 2 ก็ครอบครองทรัพย์พิพาทแทนบุตรผู้รับโอนอยู่ดังเดิมพฤติการณ์ดังกล่าวนี้เป็นที่เห็นได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 ปล่อยให้จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์พิพาทให้บุตร โดยจำเลยที่ 2 ครอบครองทรัพย์พิพาทแทนต่อไปนั้น เป็นการกระทำเป็นพิธี เพื่อป้องกันมิให้โจทก์บังคับคดีที่จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในกาลต่อไปเท่านั้น เมื่อไม่มีการโอนการครอบครองแก่กัน ปัญหาเรื่องอายุความตามที่จำเลยอ้างก็ไม่เกิดขึ้น
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย