คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หมวด 7 บัญญัติวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีการจดทะเบียน และวิธีการดำเนินกิจการสหภาพแรงงานไว้โดยเฉพาะแตกต่างจากการจัดตั้งบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้โจทก์จะเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานผู้ใช้แรงงานยาสูบ แต่โจทก์มิได้เป็นกรรมการบริหารสหภาพแรงงานจึงไม่มีบัตรอนุญาตผ่านเข้าออกประจำตัวกรรมการบริหารสหภาพแรงงานที่จะใช้แทนใบผ่านได้ การที่โจทก์ผ่านเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 ในระหว่างที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารสหภาพแรงงานโดยไม่มีใบผ่านจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งผู้อำนวยการยาสูบ จำเลยที่ 7 และที่ 8 ลงโทษให้โจทก์ทำทัณฑ์บนเป็นเวลา 6เดือน และจำเลยที่ 3 ให้โจทก์งดทำงานล่วงเวลาเป็นเวลา 1 ปีมิใช่เป็นการลงโทษภาคทัณฑ์ตามระเบียบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์ฯของจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานรายชั่วโมงของจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ทั้งสองในข้อหาเข้าออกโรงงานยาสูบ 5โดยไม่มีใบผ่านระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 28 มีนาคม2533 จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า โจทก์ทั้งสองได้กระทำผิดวินัยเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 โดยไม่มีใบผ่านเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อำนวยการยาสูบที่ ท.140/2517 ลงวันที่ 2 เมษายน2517 ข้อ 2.3 มีความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ จำเลยที่ 7 และที่ 8ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ จึงมีคำสั่งลงโทษโจทก์ทั้งสอง โดยพักงาน 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2534 และทำทัณฑ์บนเป็นเวลา 6 เดือน โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 มีคำสั่งให้ลงโทษโจทก์ทั้งสอง คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และคำสั่งลงโทษของจำเลยที่ 7 และที่ 8 กับที่ 3 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้นโจทก์ทั้งสองยังถูกงดทำงานล่วงเวลามีกำหนด 1 ปีตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 และที่ 9 คำสั่งของจำเลยที่ 3 และที่ 9ขัดต่อระเบียบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์และการเลิกจ้าง พ.ศ. 2515ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยลงโทษของจำเลยที่ 7 และที่ 8 และคำสั่งลงโทษของจำเลยที่ 3 และที่ 9 โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3คืนสิทธิประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองพึงได้รับเสมือนไม่เคยถูกลงโทษและให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนค่าจ้างระหว่างวันที่ 26ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2534 จำนวน 1,369.68 บาท และ 1,333.44 บาทแก่โจทก์ทั้งสองตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชดใช้ค่าเสียหายที่ห้ามโจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2534 จนถึงวันฟ้องคนละ 7,500 บาท และค่าเสียหายถัดจากเดือนที่ฟ้องถึงเดือนสิงหาคม 2535 รวมเป็นเงินค่าเสียหาย 165,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งเก้าให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ออกคำสั่งที่ ท.140/2517 ลงวันที่ 2 เมษายน 2517 กำหนดให้พนักงานยาสูบที่เข้าออกบริเวณโรงงานต้องมีใบผ่านและคำสั่งที่ ท.53/2520 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2520 กำหนดให้พนักงานยาสูบที่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานผ่านเข้าออกบริเวณโรงงานยาสูบโดยไม่ต้องใช้ใบผ่านแต่ต้องใช้บัตรอนุญาตผ่านเข้าออกประจำตัวกรรมการสหภาพ ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2532 และวันที่ 6ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2533 โจทก์ทั้งสองเข้าออกบริเวณโรงงานยาสูบ 5 โดยไม่ได้ใช้ใบผ่าน การกระทำของโจทก์ทั้งสองแสดงว่าไม่มีหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่จำเลยที่ 2 จึงสั่งลงโทษทางวินัยโจทก์ทั้งสองให้พักงานคนละ3 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้าง ฐานละทิ้งหน้าที่ ตามระเบียบโรงงานยาสูบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์และการเลิกจ้าง พ.ศ. 2515 และคำสั่งของจำเลยที่ 3 และที่ 9 ที่ห้ามพนักงานยาสูบที่ถูกลงโทษทางวินัยทำงานล่วงเวลาเป็นเวลา 1 ปี โดยให้นับวันชนวันซึ่งเป็นคำสั่งที่มีต่อลูกจ้างทั่วไป มิได้ใช้บังคับเฉพาะโจทก์ทั้งสองเท่านั้นจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย การทำงานล่วงเวลาอยู่ในดุลพินิจของนายจ้างที่จะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา มิใช่ว่าลูกจ้างทุกคนจะได้ทำงานล่วงเวลา จำเลยที่ 2 หักค่าจ้างตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง เนื่องจากโจทก์ทั้งสองไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยทั้งเก้าจึงไม่ต้องคืนค่าจ้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง และไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยตามฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา18(2) และมาตรา 11(2) จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า มีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ จึงได้ส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2ศาลแรงงานกลางอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมิได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องแต่ประเด็นข้อ 2 ถึงข้อ 4 ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัย เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ ฝผล.3/2534 และคำสั่งที่ ฝผล.1/2534 ของจำเลยที่ 7 และที่ 8 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 คำสั่งลงโทษของจำเลยที่ 3 และที่ 9 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 และ 12 ให้จำเลยที่ 3 คืนค่าจ้างระหว่างวันที่ 26 ถึง 28 สิงหาคม 2534 จำนวน 1,369.61 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,333.44 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองอีกคนละ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 9 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…จำเลยที่ 1 และที่ 3ถึงที่ 9 อุทธรณ์ประการที่สองว่า สถานะของผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานมีพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หมวด 8(ที่ถูกเป็นหมวด 7) ว่าด้วยสหภาพแรงงานอันเป็นกฎหมายเฉพาะใช้บังคับอยู่แล้วไม่อาจนำไปเทียบเคียงกับผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานแม้ว่าจะยังไม่ได้เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน แต่ก็ถือว่าการกระทำของผู้เริ่มก่อการจัดตั้งเป็นการกระทำของสหภาพแรงงานจึงไม่ถือว่าโจทก์ทั้งสองขาดงานโดยเทียบเคียงกับผู้เริ่มก่อการบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นการคลาดเคลื่อนนั้น เห็นว่า การจัดตั้งสหภาพแรงงาน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หมวด 7ได้บัญญัติวัตถุที่ประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีการจดทะเบียนสหภาพแรงงาน และวิธีการดำเนินกิจการสหภาพแรงงานไว้โดยเฉพาะแตกต่างจากการจัดตั้งบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกรณีเป็นเรื่องจำเลยที่ 7 และที่ 8 ลงโทษโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง โดยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งผู้อำนวยการยาสูบ ที่ ท.140/2517 ลงวันที่2 เมษายน 2517 มีความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ จึงมีปัญหาวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดดังที่จำเลยกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาตามคำสั่งและระเบียบหรือข้อบังคับของโรงงานยาสูบกระทรวงการคลัง คือคำสั่งผู้อำนวยการยาสูบที่ ท.140/2517เรื่องหลักเกณฑ์การปฏิบัติภายในโรงงานตามเอกสารหมาย ล.1 ที่กำหนดว่าพนักงานยาสูบที่เข้าปฏิบัติงานในโรงงานแล้ว หากประสงค์จะผ่านออกนอกโรงงานจะต้องแจ้งให้หัวหน้างานทราบและรับอนุญาตจากหัวหน้าแผนกหรือประจำแผนกที่ได้รับมอบหมายเสียก่อนแล้วจึงจะขอใบผ่านได้การออกนอกโรงงานโดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กล่าวถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่และมีข้อยกเว้นคือ คำสั่งโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังที่ ท.53/2520 เรื่องการใช้บัตรอนุญาตผ่านเข้าออกประจำตัวกรรมการบริหารสหภาพแรงงานยาสูบ ตามเอกสารหมาย ล.2 ที่กำหนดให้กรรมการบริหารสหภาพแรงงานที่มีความจำเป็นต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนสมาชิกสหภาพ ใช้บัตรอนุญาตผ่านเข้าออกประจำตัวกรรมการบริหารสหภาพแทนใบผ่านได้เฉพาะวันทำงานปกติ โดยต้องแสดงบัตรและแจ้งเหตุผลต่อผู้บังคับบัญชา ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติว่า โจทก์ทั้งสองพ้นจากตำแหน่งกรรมการสหภาพแรงงานยาสูบตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2532 ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้เป็นผู้ก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานผู้ใช้แรงงานยาสูบ นายทะเบียนรับจดทะเบียนสหภาพแรงงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2532 และได้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งกรรมการสหภาพแรงงานผู้ใช้แรงงานยาสูบเมื่อวันที่ 29มีนาคม 2533 ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 28 มีนาคม2533 โจทก์ทั้งสองมิได้เป็นกรรมการสหภาพแรงงานและได้ผ่านเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 โดยไม่มีใบผ่าน ศาลฎีกาเห็นว่า ในระหว่างวันที่6 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2533 แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานผู้ใช้แรงงานยาสูบ แต่โจทก์ทั้งสองมิได้เป็นกรรมการบริหารสหภาพแรงงาน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีบัตรอนุญาตผ่านเข้าออกประจำตัวกรรมการบริหารสหภาพแรงงานที่จะใช้แทนใบผ่านได้ ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าเป็นกรรมการบริหารสหภาพแรงงานมีสิทธิผ่านเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 โดยไม่ต้องมีใบผ่านตามคำสั่งโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังที่ ท.53/2520 เรื่องการใช้บัตรอนุญาตผ่านเข้าออกประจำตัวกรรมการบริหารสหภาพแรงงานยาสูบเอกสารหมาย ล.2 หาได้ไม่ การที่โจทก์ทั้งสองผ่านเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่28 มีนาคม 2533 โดยไม่มีใบผ่านจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งผู้อำนวยการยาสูบที่ ท.140/2517 ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดวินัย จำเลยที่ 7 และที่ 8 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจลงโทษโจทก์ทั้งสองตามระเบียบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์และการเลิกจ้างพ.ศ. 2515 ได้ และแม้โจทก์ทั้งสองจะไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2532 แต่โจทก์ทั้งสองได้ละทิ้งหน้าที่ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 28มีนาคม 2533 คำสั่งของจำเลยที่ 7 และที่ 8 ที่ลงโทษโจทก์ทั้งสองตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 โดยระบุว่า โจทก์ทั้งสองกระทำผิดวินัยเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 โดยไม่มีใบผ่านให้ลงโทษพักงานมีกำหนด 3 วัน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยระเบียบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์และการเลิกจ้าง พ.ศ. 2515 ของโรงงานยาสูบกระทรวงการคลัง ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน และตามบัญชีกำหนดอำนาจการลงโทษ ลดขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้างพักงานหรือภาคทัณฑ์ ท้ายระเบียบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์และการเลิกจ้าง พ.ศ. 2515 ของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังดังกล่าว กำหนดว่าโทษภาคทัณฑ์ให้ใช้บังคับเฉพาะปีงบประมาณเดียวจำเลยที่ 7 และที่ 8 ให้โจทก์ทั้งสองทำทัณฑ์บนเป็นเวลา 6 เดือนและจำเลยที่ 3 ให้โจทก์ทั้งสองงดทำงานล่วงเวลาเป็นเวลา 1 ปีมิใช่เป็นการลงโทษภาคทัณฑ์ จึงไม่ถูกจำกัดให้ใช้บังคับเฉพาะปีงบประมาณเดียวดังข้ออ้างของโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ทำงานล่วงเวลา และจำเลยที่ 3ไม่ต้องคืนค่าจ้างสำหรับวันที่โจทก์ทั้งสองถูกลงโทษพักงานด้วยที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษของจำเลยที่ 7 และที่ 8 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 คำสั่งลงโทษของจำเลยที่ 3 และที่ 9 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 และ 12 กับให้จำเลยที่ 3 คืนค่าจ้าง และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 9ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share