คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 862/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ในความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ปรับไม่เกิน 100 บาทคดีโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยจึงเป็นการมิชอบศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหาความผิดนั้น และข้อเท็จจริงในข้อหาดังกล่าวย่อมยุติ อัยการสูงสุดจะรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 หาได้ไม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกาศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 พาอาวุธมีดคนละ 1 เล่ม ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร และจำเลยทั้งสามกับพวกอีก 3 คน ร่วมกันใช้มีด ไม้ และใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297, 371, 83, 91
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8), 371 เรียงกระทงลงโทษฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส จำคุก 4 ปี ฐานพาอาวุธ ปรับ100 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ จำคุก 3 ปีปรับ 75 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยอัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองว่า มีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1และที่ 3 นั้นอัตราโทษอย่างสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดรวมถึงอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ด้วย โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรีบัญญัติไว้จึงเป็นการมิชอบ ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหาความผิดดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จึงเป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ศาลฎีกาจึงต้องพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้เสีย เมื่อโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ และอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี ดังกล่าวแล้วข้อเท็จจริงในข้อหาดังกล่าวย่อมยุติ อัยการสูงสุดจะรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 หาได้ไม่ เพราะมิใช่กรณีฎีกาของโจทก์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218, 219 และ 220 การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มาทั้งหมดจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ตามฎีกาของโจทก์ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3เฉพาะในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 เท่านั้นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกระทำผิดด้วยหรือไม่…”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) ประกอบด้วย มาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละ 1 ใน 4 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้คนละ 9 เดือน และยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share