คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4178/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีมีประเด็นพิพาทเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการหรือไม่ ดังนั้นเมื่อคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนละคนกับ ป. ผู้ขับรถยนต์คนเกิดเหตุ จึงมิได้เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการก็ย่อมไม่ต้องรับผิดด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ป. ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ใช้ ป. ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ เมื่อรถยนต์คันดังกล่าวชนเสาไฟฟ้าของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายในเหตุละเมิดตามฟ้อง เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ห-5698 กรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 2 ไปตามถนนหลวงหมายเลข 3344 ตอนพัฒนาการ-บางนา จากบางนามุ่งหน้าไปทางพัฒนาการโดยขับด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เมื่อขับมาถึงบริเวณ กม. 5 + 800 จำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถควบคุมและบังคับรถให้ไปตามช่องเดินรถได้ เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับเสียการทรงตัวตกลงในร่องระบายน้ำพุ่งชนเสาไฟฟ้าต้นหมายเลข 86 ทำให้เสาไฟฟ้าด้งกล่าวซึ่งเป็นเสากิ่งคู่ 1 ต้น โคมโซเดียม 2 ชุด สายไฟฟ้า 30 เมตร แผงฟิวส์คู่ 1 ชุด และฐานเสาคอนกรีต 1 ฐาน ซึ่งอยู่ในความดูและรักษาของโจทก์เสียหายคิดเป็นเงินจำนวน 32,738 บาท การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ครอบครองรถยนต์ดังกล่าวและเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โจทก์ทราบเหตุละเมิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 57,281.74 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 32,738 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันพิพาทไปในวันเกิดเหตุรถยนต์คันพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 แต่ไม่เคยตกคูระบายน้ำอันเป็นเหตุให้ชนเสาไฟฟ้าของโจทก์ โจทก์ไม่ได้ประเมินค่าเสียหายในวันเกิดเหตุ แต่มาประเมินในภายหลังค่าเสียหายจึงไม่ตรงต่อความจริง และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย ประกอบกับคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ในส่วนจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 32,738 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดคือ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 24,543.75 บาท ตามที่โจทก์ขอกับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ สำหรับค่าทนายความไม่กำหนดให้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อโจทก์ได้ถอนอุทธรณ์ในส่วนจำเลยที่ 1 แล้ว ข้อเท็จจริงในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงต้องถือตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ซึ่งได้วินิจฉัยไว้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกโจทก์ฟ้องให้รับผิดในฐานะตัวการก็ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดด้วย เห็นว่า คดีนี้มีประเด็นพิพาทเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการหรือไม่ ดังนั้นเมื่อคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนละคนกับนายประสิทธิ์ ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ จึงมิได้เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการก็ย่อมไม่ต้องรับผิดด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายประสิทธิ์ ที่เป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุและให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวน เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ใช้นายประสิทธิ์ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ เมื่อรถยนต์คันดังกล่าวชนเสาไฟฟ้าของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายในเหตุละเมิดตามฟ้องนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share