คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 593/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมีหนี้ต่อกันแล้ว คู่กรณีก็อาจแปลงหนี้อย่างหนึ่งเป็นหนี้อีกอย่างหนึ่งได้ในภายหลังโจทก์จำเลยตกลงกันว่าให้หนี้เงินค่าจ้างระหว่างโจทก์จำเลยผูกพันกันในรูปเป็นหนี้เงินกู้ โจทก์จำเลยจึงมีความผูกพันต่อกันในหนี้เงินกู้ ในการกู้ยืมที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อจะนำสืบการใช้เงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว จะนำพยานบุคคลมาสืบถึงการใช้เงินนั้นไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรค 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้และรับเงินของโจทก์ไปโดยสัญญาจะใช้คืนภายในเวลาที่กำหนด แต่จำเลยก็ไม่ชำระ ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยสู้ว่า จำเลยทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้จริง แต่เป็นการกู้ไม่มีตัวเงินจำเลยไม่เคยรับเงินตามสัญญากู้จากโจทก์สัญญากู้นี้ทำขึ้นเพื่อให้โจทก์ไปรับเงินค่าลากไม้ และโจทก์ได้รับเงินไปแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์ตามคำให้การของจำเลยเป็นเรื่องโจทก์จำเลยตกลงกันว่าให้หนี้เงินค่าจ้างระหว่างโจทก์จำเลยผูกพันกันในรูปเป็นหนี้เงินกู้ หนี้เงินค่าจ้างก็มีต่อกันจริง เพราะโจทก์ได้ทำงานที่จ้างเสร็จตามสัญญาแล้ว กรณีที่เป็นหนี้ต่อกันแล้ว คู่กรณีก็อาจแปลงหนี้อย่างหนี้เป็นหนี้อีกอย่างหนึ่งได้ในภายหลัง โจทก์จำเลยจึงมีความผูกพันต่อกันในหนี้เงินกู้ เมื่อเป็นหนี้เงินกู้ ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติเรื่องกู้ยืม ในการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว จำเลยจะขอนำพยานบุคคลมาสืบถึงการใช้เงินจึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ วรรค ๒
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share