คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4176/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุคคลผู้เกิดนอกราชอาณาจักรไทยโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทยส่วนบิดามิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ปรากฏว่าบิดามีสัญชาติใด บุคคลนั้นย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(2)
โจทก์ติดต่อให้จำเลยจดแจ้งชื่อโจทก์ซึ่งเป็นคนมีสัญชาติไทยลงในทะเบียนบ้านแล้ว จำเลยปฏิเสธอ้างว่าโจทก์เป็นคนมีสัญชาติลาว ดังนี้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว
ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 57 กำหนดให้ผู้ซึ่งประสงค์ขอพิสูจน์สัญชาติไทยปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนเมื่อไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่จะร้องขอต่อศาลให้พิจารณาก็ได้ แต่กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ มิใช่การร้องขอต่อศาลให้พิจารณาเกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติ หากแต่เป็นการฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ต่อศาล จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนดังนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นผู้เยาว์เกิดที่แขวงปากซัน ประเทศลาว เป็นบุตรนางทองน้อย นายทองดี นรางทองน้อยเป็นบุคคลสัญชาติไทย ส่วนนายทองดีไม่ปรากฏสัญชาติ โจทก์ทั้งห้าเป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายทองดีจึงมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย ต่อมานางทองน้อยพาโจทก์ทั้งห้ากลับมาอยู่ภูมิลำเนาเดิมที่อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด และพาโจทก์ทั้งห้าไปแจ้งต่อจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนราษฎร ให้จดแจ้งชื่อโจทก์ทั้งห้าในทะเบียนบ้านจำเลยปฏิเสธ ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นบุคคลสัญชาติไทย และให้จำเลยจดแจ้งชื่อโจทก์ทั้งห้าในทะเบียนบ้าน

จำเลยให้การว่าโจทก์ทั้งห้าเกิดนอกราชอาณาจักรจากบิดามาดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้สัญชาติไทย โจทก์มีหน้าที่ต้องต้องยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อพิสูจน์สัญชาติก่อน หากโจทก์ทั้งห้าไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้พิจารณาทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 57 แต่ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งห้ามิได้ดำเนินการขอพิสูจน์สัญชาติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้จำเลยรับแจ้งเข้าทะเบียนบ้าน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นางทองน้อยเป็นคนมีสัญชาติไทยนางทองน้อยไปรับจ้างทำงานอยู่ที่ประเทศลาว ได้นายทองดีเป็นสามี มิได้จดทะเบียนสมรสกันเกิดบุตรด้วยกันรวม 5 คนคือโจทก์ทั้งห้า การที่โจทก์ทั้งห้าเกิดนอกราชอาณาจักรไทยโดยนางทองน้อยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย เมื่อนายทองดีมิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งห้า และไม่ปรากฏว่านายทองดีมีสัญชาติไทย โจทก์ทั้งห้าย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(2)

นางทองน้อยไปติดต่อให้จำเลยจดแจ้งชื่อโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นคนมีสัญชาติไทยลงในทะเบียนบ้านแล้ว จำเลยปฏิเสธ อ้างว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นคนมีสัญชาติลาว ดังนี้การที่จำเลยปฏิเสธดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ทั้งห้ามิได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติก่อนจึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องนั้น พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 57 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย

การพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่จะร้องขอต่อศาลให้พิจารณาก็ได้ ฯลฯ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้ซึ่งประสงค์ขอพิสูจน์สัญชาติไทยปฏิบัติตามขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน เมื่อไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่จะร้องขอต่อศาลให้พิจารณาก็ได้ แต่กรณีที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ มิใช่การร้องขอต่อศาลให้พิจารณาเกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติ หากแต่เป็นการฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งห้าต่อศาล โจทก์ทั้งห้าจึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนดังบทกฎหมายที่จำเลยฎีกา ดังนี้ โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

พิพากษายืน

Share