คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3728/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การซื้อขายรถยนต์ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ซึ่งระบุว่ากรรมสิทธิ์ของยานยนต์ที่ซื้อขายจะยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะได้ชำระราคาซื้อขายด้วยเงินสดครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาเสียก่อนนั้น เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข ย่อมบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 เมื่อคู่สัญญาตกลงซื้อขายกำหนดราคากันไว้เป็นจำนวนแน่นอนและผู้ขายให้ผู้ซื้อชำระราคาในวันทำสัญญาไว้จำนวนหนึ่งแล้วให้ผ่อนชำระราคาส่วนที่เหลือเป็นงวด และมีข้อตกลงว่าหากผู้ซื้อผิดนัดชำระราคางวดใด ยอมให้ผู้ขายเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลือพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีทั้งหมดได้ทันที จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขาย แม้จะปรากฏต่อมาว่ารถยนต์ที่ซื้อขายถูกคนร้ายลักไปโดยไม่ปรากฏว่าเป็นความผิดของโจทก์หรือจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ตามสัญญาซื้อขายระบุไว้ชัดว่า หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ซื้อย่อมไม่หมดสิ้นไปเนื่องจากการสูญหายของยานยนต์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์แก่โจทก์จนครบถ้วน เพราะข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการยกเว้นบทบัญญัติ มาตรา 372 วรรคแรก แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาย่อมตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ ไม่เป็นโมฆะ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์บรรทุก อีซูซุ ไปจากโจทก์1 คัน ในราคา 788,248 บาท ชำระราคาครั้งแรก 118,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระ 36 งวด งวดละเดือน เดือนละ 18,618 บาท โดยมีจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระได้ 9 งวด รวมกับที่ชำระครั้งแรกเป็นเงิน 285,562 บาท แล้วไม่ชำระอีกเลยจนกระทั่งรถถูกคนร้ายลักไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2529 โจทก์ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยเป็นเงิน 400,000 บาท โดยโจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ไป 25,187 บาท เมื่อนำเงินประกันและเบี้ยประกันหักชำระราคาแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระราคา127,873 บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 139,061 บาทแก่โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 127,873 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคาเงินผ่อนโดยโจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มร้อยละ 14 ต่อปี จากราคาเงินสด 590,000 บาท รวมเป็นราคาเงินผ่อน 788,248 บาท เมื่อนำเงินประกัน 400,000 บาท และราคาที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้วมาหักออกจากราคาเงินสด โจทก์จะได้รับเงินไปคุ้มกับราคารถแล้ว หากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดก็ไม่เกินราคาค่าเบี้ยประกัน 25,187 บาท เท่านั้นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน23,238 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6ธันวาคม 2529 จนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์จึงมีเพียงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องร่วมกันรับผิดชำระราคารถยนต์และเบี้ยประกันจำนวนดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่าการซื้อขายรถยนต์ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 1 ซึ่งระบุว่า กรรมสิทธิ์ของยานยนต์ที่ซื้อขายจะยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะได้ชำระราคาซื้อขายด้วยเงินสดครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาเสียก่อนนั้น เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขย่อมบังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 เมื่อคู่สัญญาตกลงซื้อขายกำหนดราคากันไว้เป็นจำนวนแน่นอนและผู้ขายให้ผู้ซื้อชำระราคาในวันทำสัญญาไว้จำนวนหนึ่ง แล้วให้ผ่อนชำระราคาส่วนที่เหลือเป็นงวดและมีข้อตกลงว่าหากผู้ซื้อผิดนัดชำระราคางวดใดยอมให้ผู้ขายเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลือพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี ทั้งหมดได้ทันทีตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 3การที่จำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบต่อสู้ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของราคาซื้อเงินสดคือจากราคา 590,000บาท จำเลยที่ 1 ชำระแล้ว 285,562 บาท และโจทก์ได้รับเงินจากผู้รับประกันภัยไป 400,000 บาท เกินราคาเงินสดแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับชำระราคาจากจำเลยที่ 1 อีกนั้น จึงมิได้เป็นการต่อสู้หรือนำสืบปฏิเสธข้อตกลงในสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.2 ย่อมไม่อาจทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดที่ต้องชำระราคาให้โจทก์ตามข้อตกลงในสัญญาไปได้ จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขายเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยผิดนัดชำระราคาตามงวดที่ได้ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามข้อตกลงและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดด้วย แม้จะปรากฏต่อมาว่าเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2529 ซึ่งเป็นเวลาก่อนถึงกำหนดชำระราคารถยนต์งวดที่ 14 รถยนต์ที่ซื้อขายถูกคนร้ายลักไปโดยไม่ปรากฏว่าเป็นความผิดของโจทก์หรือจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 2 ระบุไว้ชัดว่า หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ซื้อย่อมไม่หมดสิ้นไปเนื่องจากการสูญหายของยานยนต์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์แก่โจทก์จนครบถ้วน เพราะข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการยกเว้นบทบัญญัติมาตรา 372 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาย่อมตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ ไม่เป็นโมฆะตามมาตรา 114 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในทำนองว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของราคาซื้อเงินสดโดยคิดจากราคาที่เหลือจากการที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระไปในวันทำสัญญาแล้วให้จำเลยที่ 1ผ่อนชำระซึ่งเมื่อหักจำนวนเงินประกันภัยที่โจทก์ได้รับมาออกแล้วโจทก์ยังมีกำไรเหลือและไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระราคาที่ค้างอีกนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากการที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ เพราะคู่สัญญาได้ตกลงซื้อขายกันในราคาผ่อนส่ง มิใช่ราคาเงินสด เมื่อกำหนดราคากันไว้เท่าใดย่อมผูกพันกันตามนั้น เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระราคาจนครบถ้วนตามสัญญาจำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดไม่มีทางที่จะแปลสัญญาเป็นอย่างอื่นไปได้สำหรับเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้ชำระแทนไป จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระให้โจทก์เต็มจำนวน แต่ในส่วนอัตราดอกเบี้ยของเงินค่าเบี้ยประกันภัยมิได้กำหนดกันไว้ในสัญญาเหมือนเช่นเงินราคาค่ารถโจทก์จึงเรียกได้เพียงในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เท่านั้น ทั้งเงินราคาค่ารถและเงินค่าเบี้ยประกันภัยโจทก์คิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 และที่ 3ผิดนัด ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 3 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2529 คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 102,686 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวและชำระเงินจำนวน 25,187 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 6ธันวาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์.

Share