คำวินิจฉัยที่ 46/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๖/๒๕๕๓

วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพิษณุโลกโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๑ นางทวี บัวแก้ว ที่ ๑ นางกุหลาบ ดาวเรือง ที่ ๒ นางสมคิด บัวแก้วหรือตรงต่อกิจ ที่ ๓ โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จำเลย ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๐๙/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์ทั้งสามครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมือเปล่าคนละ ๑ แปลง ส่วนของโจทก์ที่ ๑ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๔๕ ตารางวา ส่วนของโจทก์ที่ ๒ เนื้อที่ ๒ งาน ๘๗ ตารางวา และส่วนของโจทก์ที่ ๓ เนื้อที่ ๒ งาน ๖๐ ตารางวา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก โดยครอบครองทำประโยชน์มาเป็นระยะเวลากว่า ๓๐ ปี และครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ จำเลยมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินให้แก่วัดวังสารภี (ร้าง) ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก โดยที่ดินดังกล่าวที่จำเลยขอออกหนังสือนั้นทับซ้อนที่ดินของโจทก์ทั้งสามทั้งหมด โจทก์ทั้งสามคัดค้าน ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลกจึงสอบสวนเปรียบเทียบแล้วออกโฉนดที่ดินให้แก่วัดวังสารภี (ร้าง) เนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๑๑ ตารางวา พร้อมแจ้งให้โจทก์ทั้งสามว่าหากคัดค้านให้ไปใช้สิทธิทางศาล การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสาม และให้จำเลยไปขอยกเลิกเพิกถอนคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินส่วนที่ทับซ้อนที่ดินของโจทก์ทั้งสามต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก สาขาพรหมพิราม หากจำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าวขอถือเอาคำพิพากษาศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ทั้งสามรวมถึงบรรพบุรุษของโจทก์ทั้งสามไม่ได้เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท เพราะที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของวัดวังสารภี (ร้าง) ซึ่งกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขึ้นทะเบียนที่ดินไว้มีเนื้อที่ประมาณ ๕๐ ไร่ ๒ งาน และเมื่อปี ๒๕๔๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกได้มีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก สาขาพรหมพิราม ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๗๒๘ และที่ ๑๙๙๔๐ ของนายสนิท มูลราช และนางเชื้อ นาคทอง เนื่องจากโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงได้ออกทับที่ดินของวัดวังสารภี (ร้าง) การกระทำของจำเลยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมากจากการที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก สาขาพรหมพิราม มีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่วัดวังสารภี (ร้าง) แม้คำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจะมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่การที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน และห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตามคำขอของโจทก์ทั้งสามได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินส่วนที่พิพาทกันเป็นของโจทก์ทั้งสามหรือวัดวังสารภี (ร้าง) อันเป็นประเด็นสำคัญในคดี ดังนั้นคดีระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินแต่อย่างใด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการพระพุทธศาสนา ส่งเสริมพัฒนาพระพุทธศาสนา และดูแลรักษาศาสนสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ และมีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาวัดร้างตามมาตรา ๓๒ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ด้วย การที่จำเลยมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดพิษณุโลกไปยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินให้แก่วัดวังสารภี (ร้าง) ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก สาขาพรหมพิราม และได้นำรังวัดชี้แนวเขตที่ดิน เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยจึงมิได้อยู่ในฐานะเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีที่โต้แย้งเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดิน แต่ข้อพิพาทตามคำฟ้องเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยไม่มีการกระทำของเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทแต่อย่างใด สำหรับประเด็นปัญหาว่า ระหว่างโจทก์กับวัดวังสารภี (ร้าง) ผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่าการออกโฉนดที่ดินให้แก่วัดวังสารภี (ร้าง) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าโจทก์หรือวัดวังสารภี (ร้าง) ผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทดังกล่าว จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงอาจนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ว่าโจทก์ทั้งสามเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสามอ้างว่า โจทก์ทั้งสามครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมือเปล่าคนละ ๑ แปลง ส่วนของโจทก์ที่ ๑ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๔๕ ตารางวา ส่วนของโจทก์ที่ ๒ เนื้อที่ ๒ งาน ๘๗ ตารางวา และส่วนของโจทก์ที่ ๓ เนื้อที่ ๒ งาน ๖๐ ตารางวา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก โดยครอบครองทำประโยชน์มาเป็นระยะเวลากว่า ๓๐ ปี และครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ จำเลยมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินให้แก่วัดวังสารภี (ร้าง) ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก สาขาพรหมพิราม โดยจำเลยนำรังวัดและชี้แนวเขตรุกล้ำทับซ้อนที่ดินของโจทก์ทั้งสามทั้งหมด โจทก์ทั้งสามคัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก สาขาพรหมพิราม สอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่วัดสารภี (ร้าง) พร้อมแจ้งให้โจทก์ทั้งสามไปใช้สิทธิทางศาล การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสาม และให้จำเลยไปขอยกเลิกเพิกถอนคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินส่วนที่ทับซ้อนที่ดินของโจทก์ทั้งสามต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก สาขาพรหมพิราม หากจำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าวขอถือเอาคำพิพากษาศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งสามและบรรพบุรุษของโจทก์ทั้งสามไม่ได้เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท เพราะที่ดินพิพาทเป็นของวัดวังสารภี (ร้าง) ซึ่งกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขึ้นทะเบียนที่ดินไว้แล้ว การกระทำของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามที่โจทก์ทั้งสามมีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางทวี บัวแก้ว ที่ ๑ นางกุหลาบ ดาวเรือง ที่ ๒
นางสมคิด บัวแก้วหรือตรงต่อกิจ ที่ ๓ โจทก์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ ติดราชการ
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share