คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4165/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการชำระบัญชีเพื่อเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อผู้ชำระบัญชีได้เลือกกำหนดเอาสถานที่ใดเป็นสำนักงานชำระบัญชี ต้องถือว่าสถานที่นั้นเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการในการชำระบัญชีของห้างนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 49 แม้จะเสร็จการชำระบัญชีและได้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้วก็ตามแต่ภูมิลำเนาเฉพาะการดังกล่าวนั้น จะยังคงอยู่ ณ สถานที่นั้นต่อไปอีกจนสิ้นระยะเวลาสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี เมื่อเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้ผู้ชำระบัญชีของห้างที่จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดทราบโดยชอบแล้วก็มีผลใช้ได้ แม้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ จะไม่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดได้จดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2527 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2527 โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1เจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบภาษีของจำเลยที่ 1 ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2525 และ 2526 แล้ว ได้แจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1ให้ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายและภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมทั้งเงินเพิ่ม เป็นเงิน 348,818.67 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ชำระค่าภาษีดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6ไม่อุทธรณ์การประเมิน เมื่อจดทะเบียนเลิกห้างจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีได้จ่ายทุนพร้อมกำไรคืนแก่จำเลยที่ 2ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในระยะเวลาการชำระบัญชี และยังมิได้จดทะเบียนวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โดยจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ยังมีหนี้ภาษีอากรค้างและยังไม่ชำระแก่โจทก์อันเป็นการชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าภาษีค้างจำนวน 348,818.67 บาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของยอดเงินค่าภาษีค้างดังกล่าว นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีค้างตามจำนวนดังกล่าวแล้วโดยให้รับผิดตามจำนวนเงินที่แต่ละคนได้รับคืนตามบัญชีคืนทุนหุ้นส่วนโดยให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีแบ่งคืนทรัพย์สินให้ผู้ถือหุ้นโดยมิชอบ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินให้โจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3ถึงที่ 6 กับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินที่แต่ละคนจะต้องรับผิด นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงาน ทำให้ไม่มีโอกาสยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ชำระบัญชีเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้ภาษีอากรค้างชำระแก่โจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบรายการชำระภาษีในปีพ.ศ. 2525 และ พ.ศ. 2526 ทั้งได้ชำระค่าภาษีเสร็จสิ้นแล้วจำเลยที่ 2 จึงคืนทุนแก่ผู้ถือหุ้นไปโดยสุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิคิดเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนตามฟ้องของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ในระหว่างการพิจารณาคดี โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 ศาลอนุญาต
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีเป็นเงิน 348,818.67 บาท กับให้เสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือนของยอดเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ชดใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์โดยรับผิดตามจำนวนเงินที่แต่ละคนได้รับไป คือรับผิดใช้เงินคนละ 56,167 บาท ทั้งนี้โดยให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีร่วมกันหรือแทนจำเลยที่ 4 และที่ 6 ชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าการแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่นำไปปิดไว้ที่บ้านเลขที่ 495/37 ถนนสาธุประดิษฐ์แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการชำระบัญชีเพื่อเลิกห้าง จำเลยที่ 1นั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีได้กำหนดเอาบ้านเลขที่ดังกล่าวข้างต้นเป็นสำนักงานชำระบัญชี จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2ได้เลือกเอาบ้านดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 49 เพื่อเป็นที่ติดต่อเกี่ยวกับการชำระบัญชีของห้าง จำเลยที่ 1 แม้จะปรากฏต่อมาว่า จำเลยที่ 2 ได้ชำระบัญชีเสร็จสิ้นและจดทะเบียนเลิกห้างแล้วก็ตามแต่ห้างจำเลยที่ 1 ก็ดี จำเลยที่ 2 ผู้ชำระบัญชีก็ดี รวมตลอดถึงผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ 1 ก็ดี อาจถูกฟ้องเรียกหนี้สินที่ตนเป็นลูกหนี้อยู่ภายในระยะเวลาสองปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 ได้ ดังนั้นภูมิลำเนาเฉพาะการเกี่ยวกับการชำระบัญชีของห้างจำเลยที่ 1 จึงยังคงอยู่ที่บ้านเลขที่ 495/37 ดังกล่าวต่อไปอีกจนสิ้นระยะเวลาสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี คดีนี้ปรากฏว่า วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีคือวันที่ 18 พฤษภาคม 2527 แต่โจทก์แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยเจ้าพนักงานสรรพากรนำไปปิดไว้ที่บ้านเลขที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2529 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 197 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี จึงถือได้ว่าโจทก์ได้แจ้งการประเมินต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของห้างจำเลยที่ 1 ณ ภูมิลำเนาเฉพาะการเกี่ยวกับการชำระบัญชีแล้ว การแจ้งการประเมินของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 8 ส่วนจำเลยที่ 4และที่ 6 นั้น แม้จะไม่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 6 ทั้งนี้เพราะหนี้ตามหนังสือแจ้งการประเมิน เป็นหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 เมื่อได้แจ้งให้ผู้ชำระบัญชีของห้างจำเลยที่ 1 โดยชอบแล้ว ก็มีผลใช้ได้ไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 4 และที่ 6ซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นทราบด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางจำเลยที่ 3 และที่ 5 ได้ชำระหนี้ส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 5 แก่โจทก์แล้ว ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องลดลงนั้น ปรากฏตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 2 กันยายน 2529 ที่ขอถอนฟ้อง จำเลยที่ 3และที่ 5 นั้น โจทก์ได้ยอมรับว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 ได้นำเงินตามจำนวนที่ได้แบ่งคืนทุนพร้อมกำไรคนละ 56,167.40 บาท ไปชำระแก่โจทก์แล้ว ดังนั้นจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้บางส่วนแล้วความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องลดลงตามจำนวนดังกล่าวอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรค้าง236,483.87 บาท กับให้เสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของยอดเงิน 348,818.67 บาท จนถึงวันที่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ได้ชำระภาษีที่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ต้องรับผิด หลังจากนั้นให้คิดเงินเพิ่มในอัตราดังกล่าวจากยอดเงิน 236,483.87 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share