แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1424 ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน และขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แบ่งแยกที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1425 ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน เป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิฟ้องเรียกส่วนแบ่งที่ดินแต่ละแปลงจากจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เฉพาะตัว โจทก์แต่ละคนชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลโดยลำพังเป็นรายแปลง แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องคดีรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกเป็นรายแปลง เมื่อที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1424 มีราคา 955,960 บาท ที่ดินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน จึงเป็นเงินคนละ 136,565.71 บาท ส่วนที่ดินหนังสือรับรองการกระทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1425 มีราคา 925,000 บาท ที่ดินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน จึงเป็นเงินคนละ 132,142.86 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนแยกเป็นรายแปลงจึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีนี้ ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำไม่ขอรับมรดก เอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 หรือเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 ว่า ไม่มีความประสงค์ขอรับโอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลงนั้น เพื่อให้ใส่ชื่อ ส. บิดาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ถือแทนส่วนของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ด้วยนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1424 ตำบลหาดพันไกร อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1425 ตำบลหาดพันไกร อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวมคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน และให้จำเลยที่ 1 นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1424 และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1425 ดังกล่าว ไปยื่นขอแบ่งแยกแก่โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ ถ้าแบ่งแยกไม่ได้ ให้ประมูลราคากันเองระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่หรือขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งแก่โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1424 ตำบลหาดพันไกร อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จดทะเบียนแบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1425 ตำบลหาดพันไกร อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองถือสิทธิรวมในที่ดินดังกล่าวคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน และให้จำเลยทั้งสี่จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองตามส่วนดังกล่าว โดยให้ตกลงแบ่งกันเองระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสี่หากตกลงกันไม่ได้ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสี่ หากตกลงประมูลราคากันไม่ได้ ให้ขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวแล้วนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1424 ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน และขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แบ่งแยกที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1425 ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน เป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิฟ้องเรียกส่วนแบ่งที่ดินแต่ละแปลงจากจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เฉพาะตัว โจทก์แต่ละคนชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลโดยลำพังเป็นรายแปลง แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องคดีรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกเป็นรายแปลง เมื่อที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1424 มีราคา 955,960 บาท ที่ดินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน จึงเป็นเงินคนละ 136,565.71 บาท ส่วนที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1425 มีราคา 925,000 บาท ที่ดินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน จึงเป็นเงินคนละ 132,142.86 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนแยกเป็นรายแปลงจึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีนี้ ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำไม่ขอรับมรดกเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 หรือเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 ว่า ไม่มีความประสงค์ขอรับโอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลงนั้น เพื่อให้ใส่ชื่อนายสมปองบิดาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ถือแทนส่วนของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ด้วยนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อคดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 (เดิม) ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า นายสมปองกับนางสารภี เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่เป็นบุตรของนายสมปองกับนางสารภี ต่อมานางสารภีถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 2 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1424 และเลขที่ 1425 ตำบลหาดพันไกร อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร วันที่ 30 ธันวาคม 2552 โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นบุตรของนางสารภีไม่ประสงค์ขอรับมรดกที่ดินทั้ง 2 แปลง โดยให้นายสมปองเป็นผู้รับโอนมรดกดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ตามบันทึกถ้อยคำไม่ขอรับมรดก วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 นายสมปองโอนที่ดินทั้ง 2 แปลง เป็นชื่อของตนเอง ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2555 นายสมปองไปขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทั้ง 2 ฉบับ ตามคำขอออกใบแทน จากนั้นวันที่ 16 สิงหาคม 2555 และวันที่ 20 มีนาคม 2558 นายสมปองจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1424 ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1425 ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตามลำดับ ตามรายการสารบัญจดทะเบียน
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองเพียงว่า การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นบุตรของนางสารภีไม่ประสงค์ขอรับมรดกที่ดินทั้ง 2 แปลง โดยให้นายสมปองเป็นผู้รับโอนมรดกดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ตามบันทึกถ้อยคำไม่ขอรับมรดก เป็นการสละมรดกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกถ้อยคำไม่ขอรับมรดกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชุมพรว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่บุตรของเจ้ามรดกมีสิทธิรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวด้วยในฐานะทายาทโดยธรรม ได้ทราบการขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทตามประกาศของสำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร ฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2552 แล้ว ไม่มีความประสงค์ขอรับโอนมรดกดังกล่าวยินยอมให้นายสมปอง เป็นผู้รับโอนมรดกดังกล่าว ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสั่งการโอนมรดกให้ผู้ขอได้บันทึกถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นการสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 และ 1613 เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใดและยังมีทรัพย์มรดกส่วนอื่นอีกที่มิได้มีการสละด้วย แต่เป็นกรณีที่ทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันโดยสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง ประกอบมาตรา 850 ซึ่งมีผลบังคับได้ตามมาตรา 852 โจทก์ทั้งสองเรียกร้องทรัพย์มรดกส่วนนี้ไม่ได้ จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ