คำวินิจฉัยที่ 56/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๖/๒๕๕๓

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๑ บริษัทไซเบอร์คอล จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๗๘๒/๒๕๕๑ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ โจทก์ทำสัญญากับจำเลย โดยจำเลยตกลงให้โจทก์เป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้วยเสียงโทรศัพท์ (AUDIOTEX) ผ่านทางโครงข่ายโทรศัพท์ของจำเลยทั่วประเทศ มีกำหนดระยะเวลาสิบห้าปีนับแต่วันลงนามในสัญญา โดยโจทก์เป็นผู้ลงทุนและออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามสัญญาทั้งหมด แต่จำเลยสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินการให้บริการเองหรือให้รายอื่นดำเนินการให้บริการเช่นเดียวกันได้อีก โจทก์ต้องชำระเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต่อปี เป็นค่าเชื่อมโยงโครงข่ายโทรศัพท์ เพื่อให้บริการตามสัญญาและจำเลยตกลงจ่ายส่วนแบ่งรายได้ค่าดำเนินการให้บริการข้อมูลด้วยเสียงโทรศัพท์แก่โจทก์ในอัตราร้อยละหกสิบของรายได้จากการใช้บริการของผู้ใช้บริการตามที่จำเลยได้รับจริง หลังจากหักภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โจทก์ต้องดำเนินการให้บริการให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของสัญญาและถูกต้องตามกฎหมาย และห้ามดำเนินการเพื่อประโยชน์อื่นใดที่อาจก่อให้เกิดภยันตรายต่อสังคมหรือความมั่นคงของรัฐ โดยโจทก์ได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)) สาขาสำนักสาทร เลขที่ ๐๔๗-๕-๐๔๙๗๖-๓๕๙๙-๐๐๐๐๑-๐๐๑ ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ จำนวนเงิน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยไว้เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา หลังจากทำสัญญา โจทก์ได้เสนอจัดทำผังแสดงการให้บริการให้จำเลยพิจารณาและอนุญาต และจำเลยได้ทำสัญญาร่วมให้บริการข้อมูลด้วยเสียงโทรศัพท์กับผู้ให้บริการรายอื่นๆ อีกนับสิบราย ทำให้มีการแข่งขันการให้บริการสูง และผู้ให้บริการบางรายได้ให้บริการในลักษณะที่ผิดสัญญาและกฎหมาย และในปี ๒๕๕๐ จำเลยได้มีหนังสือให้โจทก์ยุติการให้บริการแชทไลน์ (Chat Line) โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันปัญหาการให้บริการอันเป็นการขัดต่อกฎหมาย โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำผิดสัญญาหรือข้อตกลงใดๆ กับจำเลย การระงับการให้บริการดังกล่าวของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายรายได้ของโจทก์ลดลงอย่างมาก โจทก์จึงมีหนังสือขอระงับการดำเนินการให้ข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์เนื่องจากบริการถูกจำกัดสิทธิจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่จำเลยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาพร้อมเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ โจทก์เห็นว่า จำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์จึงมีหนังสือถึงธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ให้ยุติการจ่ายเงินไว้ก่อนจนกว่าโจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายและศาลมีคำพิพากษาที่ถึงที่สุด การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากบริการแชทไลน์เป็นบริการที่ทำรายได้หลักในการให้บริการข้อมูลด้วยเสียงโทรศัพท์ เมื่อจำเลยยกเลิกบริการดังกล่าวโดยที่โจทก์ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายกระทำผิดสัญญา ทำให้โจทก์ต้องเสียประโยชน์จากการขาดรายได้และการที่ไม่สามารถให้บริการได้ตามกำหนดระยะเวลาในสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาเป็นเงิน ๔๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และจำเลยมิได้กระทำผิดสัญญาตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญาต่อจำเลย เนื่องจากในระหว่างการร่วมดำเนินการตามสัญญา โจทก์ประกอบกิจการให้บริการแชทไลน์โดยมุ่งเน้นการให้บริการสนทนาทางโทรศัพท์เรื่องเพศและกามารมณ์หรือแอบแฝงซึ่งเป็นการผิดสัญญา ข้อ ๒๐ และโจทก์ค้างชำระหนี้ค่าเชื่อมโยงโครงข่ายโทรศัพท์ประจำปี ๒๕๕๑ พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มและค้างชำระค่าเช่าวงจร จำเลยมีหนังสือทวงถามไปยังโจทก์และธนาคารผู้ค้ำประกันแล้ว แต่โจทก์และธนาคารผู้ค้ำประกันเพิกเฉย จำเลยจึงแจ้งการยกเลิกสัญญาร่วมดำเนินการให้บริการข้อมูลด้วยเสียงโทรศัพท์เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๑ โดยให้มีผลยกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๑ ซึ่งจำเลยจะได้ใช้สิทธิเรียกร้องเอากับโจทก์และธนาคารผู้ค้ำประกันในภายหลังเป็นอีกคดีหนึ่ง การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียประโยชน์จากการขาดรายได้และค่าเสียหายจากจำเลย เนื่องจากเป็นสิทธิเรียกร้องอันมิชอบด้วยกฎหมายและยังเป็นสิทธิเรียกร้องในจำนวนเงินที่ไม่อาจมีขึ้นหรือคาดหมายได้ในอนาคต และโจทก์มิได้เสียหายเป็นเงินจำนวนตามที่เรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า จำเลยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๗ มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมของประเทศและเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ ต่อมาได้มีการแก้ไขกฎหมายและจำเลยได้แปรสภาพเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด แต่จำเลยยังคงมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ ประกอบกิจการและให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิด จำเลยจึงยังคงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาร่วมดำเนินการให้บริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์ระหว่างโจทก์และจำเลย เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาทางด้านโทรคมนาคมของประเทศเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
โจทก์ยื่นคำชี้แจงว่า สัญญาร่วมดำเนินการให้บริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์เป็นกรณีที่คู่สัญญาสมัครใจแสวงหาประโยชน์ร่วมกันในทางธุรกิจ ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นสัญญาทางแพ่งของฝ่ายปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม อนึ่ง โจทก์เคยยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๖๑/๒๕๕๑ ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๑๖๘๑/๒๕๕๑ เนื่องจากเห็นว่าสัญญาร่วมดำเนินการดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง แต่เป็นสัญญาทางแพ่งของฝ่ายปกครอง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาร่วมดำเนินการให้บริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์ระหว่างโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นสัญญาที่จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์ผ่านทางโครงข่ายโทรศัพท์ของจำเลยซึ่งเรียกว่า ออดิโอเท็กซ์ (AUDIOTEX) มีวัตถุประสงค์ในการร่วมกันดำเนินธุรกิจและแสวงหาประโยชน์จากการให้บริการข้อมูลด้วยเสียงโทรศัพท์เท่านั้น ซึ่งโจทก์จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากส่วนแบ่งรายได้ของจำเลยในอัตราร้อยละ ๖๐ ของรายได้ อันเกิดจากการใช้บริการเสียงทางโทรศัพท์ที่โจทก์ทำขึ้นเท่านั้น การให้บริการดังกล่าวไม่เป็นกิจการที่จำเป็นแก่ประชาชนทั่วไป สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะที่คู่สัญญาสมัครใจร่วมกันแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจและต่างฝ่ายต่างตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน หาใช่ลักษณะของการร่วมกันจัดทำบริการสาธารณะแต่อย่างใดไม่ สัญญาดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เป็นข้อพิพาท อันเนื่องมาจากสัญญาร่วมดำเนินการให้บริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์ที่โจทก์ทำกับจำเลย คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า สัญญาพิพาทเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่ เห็นว่า เดิมจำเลยเป็นนิติบุคคลและเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๗ มีชื่อว่า องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนและดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์และธุรกิจอื่นซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการโทรศัพท์ตามมาตรา ๖ ดังนั้น องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะโดยมีวัตถุประสงค์ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิด รวมถึงการให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ ต่อมาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้แปรสภาพนิติบุคคลเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์กรโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๕ และมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น จำเลยจึงยังคงมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิด รวมถึงการให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์อันเป็นบริการสาธารณะ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการพัฒนาทางด้านโทรคมนาคมของประเทศและเพื่อสามารถใช้ประโยชน์เพิ่มเติมจากโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานของจำเลยให้ได้มากที่สุด โดยมีการตกลงให้โจทก์เป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์ผ่านโครงข่ายโทรศัพท์ของจำเลยทั่วประเทศในรูปแบบการให้บริการข้อมูล ข่าวสารเพื่อประโยชน์ของรัฐ รวมทั้งสาระบันเทิงและอื่นๆ ผ่านทางระบบโทรศัพท์พื้นฐานที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งบริการดังกล่าวเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวได้ตกลงให้โจทก์เข้ารับสัมปทานในการให้บริการข้อมูลข่าวสารทั้งระบบโทรศัพท์หรือโทรสารแล้วแต่ประเภทของข้อมูล ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามสัญญาเป็นเวลา ๑๕ ปี นับแต่วันลงนามในสัญญา โดยโจทก์เป็นผู้ลงทุนและออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามสัญญานี้ทั้งหมด และจำเลยตกลงจ่ายส่วนแบ่งรายได้ค่าดำเนินงานในการให้บริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์ให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละหกสิบของรายได้จากการใช้บริการตามที่จำเลยได้รับจริง หลังจากหักภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว สัญญาร่วมดำเนินการดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานที่จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ได้มอบหมายให้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนเข้าจัดทำบริการสาธารณะเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาด้านโทรคมนาคมของประเทศ อันเป็นบริการสื่อสารสาธารณะภายในระยะเวลาที่สัญญากำหนดไว้ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังมีเงื่อนไขที่ให้เอกสิทธิ์แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจทางปกครองฝ่ายเดียวในการยกเลิกสัญญาสัมปทานนี้ได้ สัญญาดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้สรุปได้ว่า เดิมจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐบาลใช้ชื่อว่า “องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย” สังกัดกระทรวงคมนาคม จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๗ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนและดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์และธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่องใกล้เคียงกับหรือซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการโทรศัพท์ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต่อมาได้แปรสภาพเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๕ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด จึงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทุกประเภทเช่นเดียวกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จำเลยจึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาร่วมดำเนินการให้บริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาร่วมดำเนินการให้บริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้สัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญเพียงว่าเป็นการให้โจทก์บริการข้อมูลด้วยเสียงโทรศัพท์ผ่านทางโครงข่ายโทรศัพท์ของจำเลยซึ่งไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทไซเบอร์คอล จำกัด โจทก์ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share