คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3389/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาให้บริการวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงภายในประเทศระบุว่า “ในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระหนี้ค่าใช้บริการ…ผู้ใช้บริการยินยอมเสียค่าปรับในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน สำหรับค่าใช้บริการที่ค้างชำระ” อันเป็นกรณีที่ลูกหนี้สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 หาใช่ดอกเบี้ยไม่และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดอัตราไว้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดเบี้ยปรับกรณีจำเลยผิดนัดชำระหนี้ค่าใช้บริการในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 24 ต่อปีได้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลดเบี้ยปรับลงเป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นคุณแก่จำเลยแล้ว
สิทธิเรียกร้องค่าบริการให้เช่าวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงเป็นการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ มีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (6) อายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ค่าบริการรายเดือนถึงกำหนดชำระ ตามมาตรา 193/12 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2545 มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าว 523,123 บาท ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2545 จำเลยมีหนังสือยืนยันยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระต่อโจทก์ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2545 เป็นเงินจำนวนดังกล่าว รายการที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นให้ถือว่าไม่เกี่ยวข้อง แม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นวิธีปฏิบัติของการตรวจสอบบัญชีแต่ก็ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) จะต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าบริการรายเดือนที่ถึงกำหนดชำระนับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2544 ตามใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับถึงวันฟ้องจึงสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2545 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุด โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2546 ยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 721,411 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 523,123 บาท นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 721,123 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 523,123 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 เมษายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 9,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์ติดตั้งอุปกรณ์วงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงเต็มประสิทธิภาพในการใช้งานแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาให้บริการวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงภายในประเทศ ข้อ 6 กำหนดว่าในกรณีที่บริการ Non POTS เกิดการขัดข้อง…หรือเครื่องอุปกรณ์ปลายทางเกิดการชำรุดบกพร่องใช้งานไม่ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ผู้ใช้บริการจะต้องแจ้งให้หน่วยงานที่ผู้ให้บริการจัดเตรียมไว้เพื่อการรับแจ้งเหตุขัดข้องและหรือชำรุดบกพร่องทราบทันทีเพื่อที่ผู้ให้บริการจะได้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขข้อขัดข้อง…และ ข้อ 7 กำหนดว่า หากบริการ Non POTS เกิดการขัดข้อง…หรือเครื่องอุปกรณ์ปลายทางเกิดการชำรุดบกพร่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงติดต่อกันในเดือนใด ผู้ให้บริการยินยอมปรับลดค่าใช้บริการในเดือนนั้นสำหรับเวลาที่ไม่สามารถใช้บริการ Non POTS ได้ ดังนี้ หากอุปกรณ์วงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงเกิดการขัดข้อง หรือชำรุดบกพร่องไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งานบ่อยครั้งจริง จำเลยก็น่าจะมีหลักฐานการแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้มาดำเนินการแก้ไข หรือหลักฐานที่โจทก์ผู้ให้บริการยินยอมปรับลดค่าใช้บริการในเดือนที่เครื่องอุปกรณ์ปลายทางเกิดการชำรุดบกพร่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงติดต่อกันในเดือนนั้น ทำให้จำเลยไม่สามารถรับบริการได้ตามข้อตกลงในสัญญามาแสดงบ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหลักฐานดังกล่าวมาแสดง คงมีเพียงนายจิรศักดิ์ อธิการบดีของจำเลยขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาให้บริการวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงฯแทนจำเลยคนเดียวเป็นพยานเบิกความอ้างว่านับแต่โจทก์ให้บริการวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงจะมีปัญหาการใช้บริการทุกสัปดาห์ โจทก์ทราบปัญหาดังกล่าวโดยจำเลยและโจทก์ได้ประสานงานกันในระบบคอมพิวเตอร์และทางโทรศัพท์ซึ่งจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบปัญหาแล้วเท่านั้น จึงมีน้ำหนักน้อย ทำให้น่าเชื่อตามที่ผู้จัดการฝ่ายการเงินของโจทก์เบิกความว่า ภายหลังจากโจทก์ให้บริการวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงแก่จำเลย จำเลยไม่เคยโต้แย้งในเรื่องประสิทธิภาพการให้บริการของโจทก์ดังกล่าว ทั้งไม่เคยขอคืนเงินเนื่องจากไม่สามารถใช้บริการช่องสัญญาณของโจทก์ได้ด้วย นอกจากนี้ เมื่อโจทก์ปิดการให้บริการวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงและให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ค่าใช้บริการและใบตอบรับทางไปรษณีย์ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยยกเรื่องวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงมีปัญหาการใช้บริการขึ้นกล่าวอ้างแก่โจทก์แต่อย่างใด พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ติดตั้งอุปกรณ์วงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงเต็มประสิทธิภาพในการใช้งานแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การเรียกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับแตกต่างกัน เพราะการเรียกดอกเบี้ยหากไม่มีข้อตกลงกันไว้ก็จะเรียกได้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วนการเรียกเบี้ยปรับก็จะต้องมีข้อกำหนดในสัญญาให้เรียกได้ เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยมาตามคำฟ้องโดยในสัญญาไม่ได้กำหนดให้โจทก์เรียกได้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกนั้น เห็นว่า ตามสัญญาให้บริการวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงภายในประเทศ ข้อ 18 ระบุว่า “ในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระหนี้ค่าใช้บริการ…ผู้ใช้บริการยินยอมเสียค่าปรับในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน สำหรับค่าใช้บริการที่ค้างชำระ” อันเป็นกรณีที่ลูกหนี้สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 381 หาใช่ดอกเบี้ยไม่ และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดอัตราไว้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดเบี้ยปรับกรณีจำเลยผิดนัดชำระหนี้ค่าใช้บริการในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 24 ต่อปีได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลดเบี้ยปรับดังกล่าวลงเป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นคุณแก่จำเลยแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า สิทธิเรียกร้องค่าบริการวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงเป็นการให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) อายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ค่าบริการรายเดือนถึงกำหนดชำระ ตามมาตรา 193/12 ได้ความว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2545 โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ค่าบริการวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงที่จำเลยค้างชำระเป็นเงิน 523,123 บาท ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2545 จำเลยมีหนังสือยืนยันยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระต่อโจทก์ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2545 เป็นเงิน 523,123 บาท รายการที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ให้ถือว่าไม่เกี่ยวข้องแม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นวิธีปฏิบัติของการตรวจสอบบัญชี แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) จะต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าบริการรายเดือนที่ถึงกำหนดชำระนับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2544 ตามตารางคำนวณดอกเบี้ยที่ครบกำหนดชำระตามใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับถึงวันฟ้องจึงสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2545 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุด โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2546 ยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนสิทธิเรียกร้องค่าบริการรายเดือนที่ถึงกำหนดชำระก่อนวันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 นั้น แม้จำเลยมีหนังสือยืนยันยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระต่อโจทก์ดังกล่าวข้างต้นไปภายหลังจากสิทธิเรียกร้องค่าบริการรายเดือนถึงกำหนดชำระก่อนวันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 เกิน 2 ปี ขาดอายุความแล้วจะไม่เป็นการรับสภาพหนี้ อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง แต่ถือได้ว่าจำเลยสละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสียแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกอายุความเดิมขึ้นต่อสู้และต้องรับผิดชำระหนี้ค่าบริการรายเดือนที่ค้างชำระดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 9,000 บาท แทนโจทก์

Share