คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2905/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ร. เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินการทุกอย่างเพื่อยับยั้งและกำจัดการเลียนแบบการปลอมแปลง การละเมิดและการกระทำใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับการชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ รูปและรอยประดิษฐ์ ตลอดจนสิ่งต่างๆ ทำนองเดียวกันที่เกี่ยวข้องหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการมอบอำนาจทั่วไป ซึ่งผู้รับมอบอำนาจสามารถใช้ในการดำเนินคดีแก่บุคคลใดก็ได้ จึงไม่จำต้องระบุให้มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะเจาะจง
โจทก์ฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลจำเลยที่ 1 โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายและยังมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียน จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาถึงกรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 และเกี่ยวข้องกับอำนาจฟ้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ 2 อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งนี้เพี่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นนี้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำให้การ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสาม และ มาตรา 180 เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว และไม่ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะอนุญาตหรือไม่ หากศาลเห็นสมควรศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องอำนาจวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้อยู่แล้วเนื่องจากเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามมาตรา 142 (5)
จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรีและนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรีเป็นผู้รับจดทะเบียน ไม่ใช่จำเลยที่ 2 ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2491) ฉบับที่ 20 (พ.ศ.2527) ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2536) ออกตามความใน ป.พ.พ. (ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท) ระบุว่า การจัดตั้งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครและสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดอื่น มีการกำหนดเขตพื้นที่รับผิดชอบแยกกันอย่างชัดเจนจึงเห็นได้ชัดว่าที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบงานทะเบียนของจำเลยที่ 1 และไม่ใช่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรีที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียน จึงเป็นการฟ้องผิดตัว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่2
สัญญาการจัดจำหน่าย ข้อ 13 (2) ระบุว่า ผู้จำหน่ายมีสิทธิและหน้าที่ในการใช้ชื่อ เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายการบริการของโจทก์เฉพาะกับสินค้าและบริการของโจทก์ตามที่ได้รับอนุมัติและจะต้องไม่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทของผู้จำหน่ายโดยไม่ได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรโดยชัดแจ้งล่วงหน้าจากโจทก์ก่อนดังนั้น ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโจทก์หรือไม่ จึงมิใช่สาระสำคัญเพราะถึงอย่างไรก็ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่จำนำชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการของโจทก์ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1
โจทก์ใช้คำว่า เบนซ์ และ BENZ เป็นชื่อทางการค้าและใช้รูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมกับกิจการค้าขายรถยนต์ของโจทก์มาเป็นเวลานานจนเป็ที่เรียกขานเป็นยี่ห้อสินค้าที่มีชื่อเสียงทั่วไป ชื่อและรูปประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิในการที่จะใช้ชื่อทางการค้าและรูปประดิษฐ์ดังกล่าวในการประกอบกิจการค้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ ป.อ. มาตรา 272 (1)
กลุ่มผู้บริหารจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าโดยซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ของโจทก์จากตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ไปจำหน่ายต่อให้ลูกค้าตั้งแต่ปี 2535 จนกระทั่งปี 2539 เป็นเวลานนาน 4 ปี จึงนำชื่อคำว่า เบนซ์, BENZ และรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมไปจดทะเบียนและดวงตรานิติบุคคล ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่โจทก์จัดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยแล้วเกือบ 40 ปี ย่อมทราบดีว่า ชื่อเสียงเกียรติคุณของชื่อทางการค้าและรูปรอยประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมของโจทก์เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค เป็นเสมือนหลักประกันคุณภาพของสินค้าและบริการ อีกทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สาธารณชนเลือกที่จะซื้อสินค้าและบริการจากโจทก์หรือตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ก่อให้เกิดรายได้และผลประโยชน์ตอบแทนอย่างสูงแก่ผู้ประกอบการพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบกิจการประเภทเดียวกับโจทก์ ใช้ชื่อ บริษัท เบนซ์แจ้งวัฒนะ จำกัด และชื่อภาษาอังกฤษว่า BENZ CHANGWAT-TANA CO., LTD. อันเป็นการนำคำว่า เบนซ์ และ BENZ ไปเป็นคำนำหน้าชื่อในส่วนสำคัญ ตลอดจนใช้รูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมเป็นดวงตรานิติบุคคล ย่อมแสดงถึงเจตนาที่คาดหมายว่าสาธารณชนทั่วไปจะเข้าใจว่ากิจการของจำเลยที่ 1 เป็นกิจการในเครือ หรือเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับโจทก์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงเป็นการมุ่งแสวงหาประโยชน์จากเชื่อเสียงเกียรติคุณจากชื่อทางการค้าและรูประดิษฐ์ของโจทก์โดยไม่สุจริต
จำเลยที่ 1 สั่งซื้อรถยนต์ยี้ห้อเบนซ์จากแหล่งอื่นมาจำหน่ายต่อให้ลูกค้าภายใต้ชื่อบริษัทที่มีชื่อทางการค้าของโจทก์ประกอบอยู่ในส่วนสาระสำคัญ โดยไม่ลงทุนในค่าสิทธิและไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรฐานของโจทก์เฉกเช่นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโจทก์รายอื่น เข้าลักษณะเป็นการแข่งขันทางการค้ากับบริษัทในเครือหรือตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโจทก์ และทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้จากการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิ ไม่สามารถควบคุมระดับคุณภาพของสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังไม่อาจควบคุมระดับคุณภาพของสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังไม่อาจควบคุมราคาสินค้าและบริการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของโจทก์ได้ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าคำว่า เบนซ์,BENZ และรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมโดยชอบ จำเลยที่ 1 นำไปใช้ในการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เป็นการแสวงหาประโยชน์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ระงับความเสียหายและห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อและรูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์ได้สิทธิของโจทก์ในเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรไว้แล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวเพื่อใช้เครื่องหมายนั้นสำหรับสินค้าจำพวกที่ได้จดทะเบียนไว้เพื่อแยกแยะให้เห็นว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของผู้อื่นเท่านั้น มิได้รวมถึงการนำเครื่องหมายนั้นมาใช้เป็นชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลด้วย จำเลยที่ 1 นำคำว่า เบนซ์, BENZ และรูปรอยประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลม มาใช้เป็นชื่อบริษัทและดวงตรานิติบุคคลไม่ได้นำมาใช้กับสินค้า การกระทำดังกล่าวจึงมิได้เป็นการใช้คำและรูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ จึงไม่ได้ละเมิดสิทธิโจทก์ในเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 44
คำว่า เบนซ์, BENZ และรูปรอยประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของโจทก์ที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ ป.อ. มาตรา 272 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำชื่อและรูปประดิษฐ์ของโจทก์ไปใช้โดยไม่สุจริตทำให้โจทก์เสียหาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อและรูปรอยประดิษฐ์นั้นได้ ซึ่งแม้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะมิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ในที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแก้ไขชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 แต่การห้ามมิให้ใช้ดังกล่าวก็ย่อมมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจประกอบกิจการค้าจำหน่ายรถยนต์และให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ภายใต้ชื่อ “บริษัทเบนซ์แจ้งวัฒนะ จำกัด” และใช้ดวงตรานิติบุคคลที่เป็นรูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์ได้อีก อันเป็นการห้ามมิให้กระทำการละเมิดอันก่อความเสียหายแก่โจทก์อยู่ในตัว
จำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้ให้ปรากฏเป็นป้ายชื่อโชว์รูม ตลอดจนใช้ในการโฆษณาตามสื่อสิ่งพิมพ์รูปแบบต่างๆ เพื่อเผยแพร่กิจการค้าของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำคำและรูปรอยประดิษฐ์ตามฟ้องไปใช้กับสินค้าของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจอ้างความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ได้ แต่ ป.อ. มาตรา 272 (1) วางโทษทางอาญาสำหรับผู้ใดที่เอาชื่อรูปรอยประดิษฐ์หรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความรายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นเมื่อจำเลยที่ 1 นำชื่อและรูปรอยประดิษฐ์อันเป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้โดยส่อเจตนาให้ประชาชนสับสนหลงผิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนทางการค้าของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิข้อบังคับห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ในลักษณะที่เป็นชื่อทางการค้าและรูปรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของโจทก์ในการประกอบธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 1 ได้
โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการ หรือใช้ หรือเข้าเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางใดกับชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการของโจทก์ รวมทั้งชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการอื่นใดที่เหมือน หรือคล้ายกับชื่อทางการค้าเครื่องหมายทางการค้า และเครื่องหมายบริการของโจทก์ไม่ว่ากับกิจการค้าสินค้าหรือบริการใดๆ ซึ่งเป็นคำขอในอนาคตที่โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการ คำว่า MERCEDES-BENZ, MERCEDES, BENZ, เมอร์ซิเดส-เบนซ์, เมอร์ซิเดส, เบนซ์ และรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลม เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปในประเทศไทย เครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ระหว่างวันที่ 26 กันยายน 2539 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยที่ 1 ได้นำคำว่า BENZ และเบนซ์ รวมทั้งรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลม ซึ่งเป็นชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการของโจทก์ไปยื่นขอจดชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ใช้ชื่อนิติบุคคลว่า บริษัทเบนซ์แจ้งวัฒนะ จำกัด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังนำเครื่องหมายการค้างของโจทก์ไปใช้ให้ปรากฏเป็นป้ายชื่อและโชว์รูม ใช้ในการโฆษณาตามสื่อสิ่งพิมพ์รูปแบบต่างๆ เพื่อเผยแพร่กิจการค้าของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ตลอดจนใช้ในการประกอบกิจการค้า จำหน่ายและซ่อมแซมยานพาหนะซึ่งเป็นกิจการค้าประเภทเดียวกับโจทก์ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและเป็นการล่วงละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์อันพึงได้จากการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ และทำให้โจทก์ไม่สามารถควบคุมระดับคุณภาพสินค้าและบริการของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อพ้องกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลให้จำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นชื่อและดวงตรานิติบุคคลที่เหมือนและมีชื่อเสียงเรียกขานตรงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจก่อให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่ากิจการของจำเลยที่ 1 เป็นกิจการของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 แก้ไขชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคล โดยมิให้มีคำว่า BENZ หรือเบนซ์ และรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลม หากไม่ดำเนินการให้จำเลยที่ 2 เพิกถอน หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยที่ 1 ยุติการแสดงชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการของโจทก์ในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 โดยสิ้นเชิง ห้ามจำเลยที่ 1 ยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการใช้หรือเข้าเกี่ยวข้องในชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการของโจทก์และที่เหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์ในกิจการค้าสินค้าหรือบริการใดๆ กับให้จำเลยที่ 1ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะยุติการทำละเมิด
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศเยอรมนี และผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ดำเนินคดีนี้ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของชื่อทางการค้า เครื่องหมายทางการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่พิพาทและเครื่องหมายการค้าที่โจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ก็มิได้มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเปิดเผยเป็นเวลานานกว่า 10 ปี และได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้วโดยชอบ จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าขายรถยนต์และอะไหล่รถใหม่ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ โดยสั่งซื้อมาจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด หรือบริษัทเดมเลอร์ไครสเล่อร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ สินค้าดังกล่าวเป็นของใหม่แท้จริง มิใช่ของปลอมหรือของเลียนแบบ การที่จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์ของโจทก์มาจำหน่าย ตลอดจนโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้โจทก์โดยโจทก์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จำเลยที่ 1 ให้บริการซ่อมแซม บำรุงรักษารถยนต์แก่ลูกค้าตามมาตรฐานประเทศเยอรมนี ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทของจำเลยที่ 1ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในจังหวัดนนทบุรี เจ้าพนักงานผู้มีอำนายหน้าที่ตามกฎหมายในการพิจารณาและสั่งรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท แก้ไขรายการจดทะเบียน เพิกถอนชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 คือนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรี ไม่ใช่จำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานทะเบียนของห้างหุ้นส่วนบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในพื้นที่เขนกรุงเทพมหานครเท่านั้น การที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรีรับจดทะเบียนชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ.2528 จึงไม่เป็นทำการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐ ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อ “เบนซ์” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 กันยายน 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะยุติการใช้ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดเป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิต จำหน่ายรถยนต์ รถโดยสาร รถบรรทุกและยานพาหนะอื่นที่ใช้เครื่องยนต์อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและโจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการ คำว่า MERCEDES-BINZ, MERCEDES, BENZ, เมอร์ซิเดส-เบนซ์, เมอร์ซิเดส, เบนซ์ และรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลม เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป สำหรับในประเทศไทยเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวก 12 ประเภทรถยนต์ รถบรรทุก รถบัส รถจักรยานยนต์ ฯลฯ และบริการจำพวก 37 ได้แก่ บริการบำรุงรักษาซ่อมแซม ให้บริการตรวจซ่อมถนอมรักษายวดยานยนต์ เครื่องยนต์และอุปกรณ์ประกอบ ตามสำเนาทะเบียนเครื่องหมายการค้า เอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.18 สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2500 ซึ่งเดิมโจทก์ตั้งให้บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของโจทก์ ปี 2535 กลุ่มผู้บริหารจำเลยที่ 1 ได้ก่อตั้งบริษัทเอส. เอส.ออโต้เซล จำกัด ขึ้น ประกอบการค้าซื้อรถยน์ยี่ห้อเบนซ์ของโจทก์จากบริษัทธนยุรี ประกอบรถยนต์ จำกัด ไปจำหน่ายต่อ รวมถึงให้บริการซ่อม ดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ใช้ชื่อในการดำเนินกิจการว่า “เบนซ์แจ้งวัฒนะ” ปี 2539 จึงได้ก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นโดยนำคำว่า BENZ และเบนซ์ รวมทั้งรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมไปยื่นขอจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรีและได้รับการจดทะเบียนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ต่อมาปี 2541 โจทก์ก่อตั้งบริษัทเดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้น เพื่อดูแลการจัดจำหน่ายรถยนต์ และพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่ต้องการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของโจทก์ในประเทศไทย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์มีพยานหลักฐานมาแสดงว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศเยอรมนี และหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ระบุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ในข้อนี้ โจทก์มีนายรุทธร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและเบิกความยืนยันว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศเยอรมนี โจทก์มอบอำนาจให้พยานดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจกับหนังสือรับรองลายมือชื่อพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.10 และหนังสือถ้อยแถลงเกี่ยวกับชื่อและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เอกสารหมาย จ.21 ซึ่งหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวลงนามโดยผู้มีอำนายกระทำการแทนโจทก์ มีเจ้าหน้าที่โนตารีปับลิคลงนามรับรองลายมือชื่อและประธานศาลแขวงแห่งเมืองสตุทท์การ์ท ประเทศเยอรมนีรับรองว่าเจ้าหน้าที่โนตารีปับลิคมีอำนาจรับรองโดยชอบ โดยมีเจ้าหน้าที่สถานกงสุลไทย ณ เมืองสตุทท์การ์ทรับรองลายมือชื่อและตราประทับของประธานศาลแขวง จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบหักล้าง เมื่อหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.10 ระบุชื่อโจทก์ที่หัวกระดาษ และมีการรับราองลงลายมือชื่อถูกต้องทั้งจากโตตารีปับลิคและสถานกงสุลไทยส่วนหนังสือถ้อยแถลงเกี่ยวกับชื่อและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.21 มีข้อความระบุว่าโจทก์เป็นนุติบุคคลที่จัดตั้งและอยู่ภายใต้กฎหมายประเทศเยอรมนีมีสำนักงานอยู่ที่เมืองสตุทท์การ์ท ประเทศเยอรมนี จึงรับฟังว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศเยอรมนี ส่วนปัญหาว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.10 มีข้อความว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายรุทธร เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินการทุกอย่างเพื่อยับยั้งและกำจัดการเลียนแบบ การปลอมแปลง การละเมิดการกระทำใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ รูปและรอยประดิษฐ์ ตลอดจนสิ่งต่างๆ ทำนองเดียวกันที่เกี่ยวข้อง หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการมอบอำนาจทั่วไป ซึ่งผู้รับมอบอำนาจสามารถใช้ในการดำเนินคดีแก่บุคคลใดก็ได้เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างบุคคลนั้นๆ กับโจทก์เกี่ยวกับกิจการค้าของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายไว้ฉะนั้น จึงไม่จำต้องระบุให้มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะเจาะจงหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ของจำเลยที่1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและอนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำให้การภายหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้วเป็นการขัดต่อหลักการรับฟังพยานหลักฐานและไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ทำให้โจทก์เสียเปรียบ เห็นว่า เอกสารทั้งหมดตามคำร้องของจำเลยที่2 ที่ขอระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เป็นสำเนาเอกสารราชการที่เป็นคำสั่งทั่วไป ไม่ได้เป็นคำสั่งที่มีผลเฉพาะเจาะจงต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจโดยเหตุปลว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ระบุพยานเพิ่มเติมได้ก่อนพิพากษาคดีตามมาตรา 88 วรรคสาม กับอนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำให้การแม้จะพ้นระยะเวลาที่ก็หมายอกำนดแล้ว โดยเห็นว่าแม้จะมิใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร อันเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยตรง จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงลเรียบร้อยของประชาชน กรณีมีเหตุสมควรให้แก้ไขคำให้การนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร แต่ทางนำสืบของโจทก์ประกอบกับปรากฏจากสำเนาแบบจองชื่อนิติบุคคล หนังสือบริคณห์สนธิ คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.19 กลับได้ความว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรี และนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรีเป็นผู้รับจดทะเบียน ไม่ใช่จำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมซึ่งเป็นสำเนาเอกสารราชการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานทะเบียนในสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัด โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลจำเลยที่ 1 โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายและยังมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียน จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาถึงกรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 และเกี่ยวข้องกับอำนาจฟ้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ 2 อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นนี้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและอนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำให้การ ตามประมวลกฎหมายวิธีพจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม และมาตรา 180 เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว และในกรณีนี้ ไม่ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะอนุญาตหรือไม่ก็ตาม หากศาลเห็นสมควรศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องจำเลยที่2 ได้อยู่แล้วเนื่องจากเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวดัวยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามมาตรา 142 (5) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่1 ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรีและนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรีเป็นผู้รับจดทะเบียน ไม่ใช่จำเลยที่ 2 ซึ่งตามกฎหมายกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2491) ฉบับที่ 20 (พ.ศ.2536) ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท) ระบุว่าการจัดตั้งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครและสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดอื่น มีการกำหนดเขตพื้นที่รับผิดชอบแยกกันอย่างชัดเจนจึงเห็นได้ชัดว่าที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบงานทะเบียนของจำเลยที่ 1 และไม่ใช่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรีที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียน จึงเป็นการฟ้องผิดตัว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ศาลทรัพย์สินทางปํญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งและวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปมีว่า การที่จำเลยที่ 1 นำคำว่า เบนซ์, BENZ และรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และโจทก์เสียหายหรือไม่ปัญหานี้ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์และบริษัทเดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด รับรู้และยอมรับมาตลอดว่าจำเลยที่ 1 และบริษัท เอส.เอส. ออโต้เซล จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของโจทก์มาก่อนหน้าที่โจทก์จะก่อตั้งบริษัทเดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 1 กับบริษัทเอส. เอส. ออโต้เซล จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายที่แต่งตั้งโดยบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด และได้ใช้ชื่อหน้าร้านโชว์รูมว่า “เบนซ์แจ้งวัฒนะ) มาตั้งแต่ปี 2535 แต่จากทางนำสืบของจำเลยที่ 1 กลับได้ความจากคำเบิกความและบันทึกถ้อยคำของนายธรรศ กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ต่างตอบคำถามค้านทนายโจทก์ยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ในปัญหาเรื่องสิทธิในการใช้ชื่อทางการค้าเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการของตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโจทก์ พิจารณาจากสัญญาการจัดจำหน่ายเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 13 (2) ระบุว่า ผู้จำหน่ายมีสิทธิและหน้าที่ในการใช้ชื่อเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายการบริการของโจทก์เฉพาะกับสินค้าและบริการของโจทก์ตามที่ได้รับอนุมัติ… และจะต้องไม่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทของผู้จำหน่ายโดยไม่ได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษร์อักษรโดยชัดแจ้งล่วงหน้าจากโจทก์ก่อน ดังนั้น ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโจทก์หรือไม่จึงมิใช่สาระสำคัญเพราะถึงอย่างไรก็ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่จะนำชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการของโจทก์ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัท โจทก์ใช้คำว่า เบบนซ์ และ BENZ เป็นชื่อทางการค้าและใช้รูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมกับกิจการค้าขายรถยนต์ของโจทก์มาเป็นเวลานนานจนเป็นที่เรียกขานเป็นยี่ห้อสินค้าที่มีชื่อเสียงทั่วไป ชื่อและรูปประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิในการที่จะใช้ชื่อทางการค้าและรูปประดิษฐ์ดังกล่าวในการประกอบกิจการค้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิ กลุ่มผู้บริหารจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าโดยซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ของโจทก์จากตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ไปจำหน่ายต่อให้ลูกค้าตั้งแต่ปี 2535 จนกระทั่งปี 2539 เป็นเวลานาน 4 ปี จึงนำชื่อคำว่า เบนซ์, BENZ และรูปประดิษฐ์ดังกล่าวไปจดทะเบียนชื่อและดวงตรานิติบุคคล ซึ่งเป็นเวลากลังจากที่โจทก์จัดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยแล้ว เกือบ 40 ปี ย่อมทราบดีว่า ชื่อเสียงเกียรติคุณของชื่อทางการค้าและรูปรายประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมของโจทก์เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค เป็นเสมือนหลักประกันคุณภาพของสินค้าและบริการ อีกทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สาธารณชนเลือกที่จะซื้อสินค้าและบริการจากโจทก์หรือตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ ก่อให้เกิดรายได้และผลประโยชน์ตอบแทนอย่างสูงแก่ผู้ประกอบการ พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบกิจการประเภทเดียวกับโจทก์ ใช้ชื่อ บริษัท เบนซ์แจ้งวัฒนะ จำกัด และชื่อภาษาอังกฤษว่า BENZ CHANGWATTANA CO., LTD. อันเป็นการนำคำว่า เบนซ์ และ BENZ ไปเป็นคำนำหน้าชื่อในส่วนสำคัญ ตลอดจนใช้รูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมเป็นดวงตรานิติบุคคล ย่อมแสดงถึงเจตนาที่คาดหมายว่าสารธารณชนทั่วไปจะเข้าใจว่ากิจการของจำเลยที่ 1 เป็นกิจการในเครือหรือเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับโจทก์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อันเป็นการมุ่งแสวงหาประโยชน์โดยไม่สุจริต ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์อ้างว่า โจทก์ไม่เสียหายเนื่องจากจำเลยที่ 1 ขายสินค้ารถยนต์และอะไหล่ยี้ห้อเบนซ์ จึงเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์อีกทางหนึ่งและยังเป็นเผยแพร่โฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์ ส่วนนี้กลับได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายธรรศ พยานจำเลยที่ 1 ว่าหลังจากที่บริษัทเดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัดความสัมพันธ์ทางการค้า จำเลยที่ 1 จำเป็นต้องหารถยนต์เมอร์ซีเดสเบนซ์จากแหล่งอื่นมาขายให้ลูกค้าเพื่อความอยู่รอดของบริษัทนอกจากนี้นายสุรสิทธิ์ พยานจำเลยที่ 1 อีกปากหนึ่งยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโจทก์จะต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี ต้องลงทุนและดำเนินธุรกิจตามเงื่อนไขที่โจทก์กำหนด ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้… ตัวแทนจำหน่ายแต่ละแห่งอาจมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน เช่น การใช้อะไหล่แท้หรือปลอม อัตราค่าบริการ การฝึกอบรมช่าง เป็นต้น จากบันทึกถ้อยคำและคำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสองปากนี้ประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 เคยเสนอขอเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโจทก์ แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทราบดีถึงความแตกต่างและสิทธิประโยชน์ในผู้ค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโจทก์กับผู้ค้าที่ไม่ได้เป็น รวมถึงเรื่องที่อาจมีความแตกต่างของคุณภาพสินค้าที่จัดจำหน่ายโดยตรงจากโจทก์หรือจากตัวแทน กับสินค้าที่มาจากแหล่งอื่น ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าและบริการของจำเลยที่ 1 ได้ และที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าการกระทำดังกล่าวไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดเนื่องจากโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบนั้น หากโจทก์กระทำเช่นว่านั้น โจทก์ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ยเพิ่มขึ้นทั้งที่ไม่ควรจะต้องเสีย จึงหาใช่เป็นการขยายช่องทางทางการค้าอย่างที่จำเลยที่ 1 อ้างไม่ การที่จำเลยที่ 1 ที่สั่งซื้อรถยน์ยี่ห้อเบนซ์จากแหล่งอื่นมาจำหน่ายต่อให้ลูกค้าภายใต้ชื่อบริษัทที่มีชื่อทางการค้าของโจทก์ประกอบอยู่ในส่วนสาระสำคัญ โดยไม่ลงทุนในค่าใช้สิทธิและไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรฐานของโจทก์เฉกเช่นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโจทก์รายอื่น เข้าลักษณะเป็นการแข่งขันทางการค้ากับบริษัทในเครือหรือตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโจทก์ และทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้จากการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิ ไม่สามารถควบคุมระดับคุณภาพของสินค้าและอัตราค่าบริการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ในส่วนที่ลูกค้าจะต้องรับภาระให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของโจทก์ได้ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้า คำว่า เบนซ์, BENZ และรูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมโดยชอบ จำเลยที่ 1 นำชื่อดังกล่าวไปใช้ในการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อทางการค้าของโจทก์โดยไม่สุจริตทำให้โจทก์ผู้เบ็นเจ้าของชื่อเสื่อมประโยชน์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 iระงับความเสียหายและห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อและรูปรรอยประดิษฐ์ของโจทก์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟั้งไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่าโจทก์มีสิทธิขอบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคลที่พิพาทหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิคำว่า เบนซ์, BENZ และรูปรอยประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลม ไม่ใช่เพียงในฐานะที่เป็นนามหรือชื่อทางการค้าของโจทก์เท่านั้น คำและรูปประดิษฐ์ดังกล่าวยังมีสถานะเป็นเครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรด้วย โจทก์จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 โดยเป็นผู้มีสิทธิเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ เห็นว่า สิทธิของโจทก์ในเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรไว้แล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 เป็นสิทธิแต่ผู้เดียวเพื่อใช้เครื่องหมายนั้นสำหรับสินค้าจำพวกที่ได้จดทะเบียนไว้เพื่อแยกแยะให้เห็นว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของผู้อื่นเท่านั้น หาได้รวมถึงการนำเครื่องหมายนั้นมาใช้เป็นชื่อนิติบุคคลและดวงตรานิติบุคคด้วยไม่ จำเลยที่ 1 นำคำว่า เบนซ์, BENZ และรูปรอยประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลม มาใช้เป็นชื่อบริษัทและดวงตรานิติบุคลไม่ได้นำมาใช้กับสินค้า การกระทำดังกล่าวจึงมิได้เป็นการใช้คำและรูปรายประดิษฐ์ของโจทก์ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ จึงไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ในเครื่องหมายการค้าตามนัยแห่ง มาตรา 44 ดังที่โจทก์อุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ดังที่วินิจฉัยแล้วว่า คำว่า เบนซ์, BENZ และรูปรอยประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของโจทก์ที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำชื่อและรูปประดิษฐ์ของโจทก์ไปใช้โดยไม่สุจริตทำให้โจทก์เสียหาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อและรูปรอยประดิษฐ์นั้นได้ ซึ่งแม้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะมิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ในที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแก้ไขชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 แต่การห้ามมิให้ใช้ดังกล่าวก็ย่อมมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจประกอบกิจการค้าจำหน่ายรถยนต์และให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ภายใต้ชื่อ “บริษัทเบนซ์แจ้งวัฒนะ จำกัด” และใช้ดวงตรานิติบุคคลที่เป็นรูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์ได้อีก อันเป็นการห้ามมิให้กระทำการละเมิดอันก่อความเสียหายแก่โจทก์อยู่ในตัวแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 อยุติการแสดงชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ คำว่า BENZ, เบนซ์, MERCEDES-BENZ, MERCEDES และรูปประดิษฐ์ดาวสามแกในวงกลมของโจทก์ในการประกอบธุรกิจโดยสิ้นเชิง โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องเพื่อห้ามมิให้จำเลยที่ 1 จำหน่ายสินค้าของโจทก์ แต่ขอห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนของโจทก์ในการประกอบกิจการค้า การโฆษณาประชาสัมพันธ์กิจการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำขอส่วนนี้ของโจทก์โดยวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เอง จึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้ให้ปรากฎเป็นป้ายชื่อโชว์รูมตลอดจนใช้ในการโฆษณาตามสื่อสิ่งพิมพ์รูปแบบต่างๆ เพื่อเผยแพร่กิจการค้าของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ตามภาพถ่ายหมาย จ.7 แต่เมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 นำคำและรูปรอยประดิษฐ์ตามฟ้องไปใช้กับสินค้าของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจอ้างความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2543 มาตรา 44 ได้ อย่างไรก็ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) วางโทษทางอาญาสำหรับผู้ใดที่เอาชื่อ รูปรอยประดิษฐ์หรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฎที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้ห้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่น เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นแจ้งชัดถึงเจตนาในการนำชื่อและรูปรอยประดิษฐ์ อันเป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้โดยส่อเจตนาให้ประชาชนสับสนหลงผิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนทางการค้าของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอบังคับห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ในลักษณะที่เป็นชื่อทางการค้าและรูปรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของโจทก์ในการประกอบธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัท เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการ หรือใช้หรือเข้าเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางใดกับชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ รวมทั้งชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการของโจทก์ไม่ว่ากับกิจการค้าสินค้าหรือบริการใดๆ เห็นว่า ส่วนนี้เป็นคำขอให้อานาคตที่โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 เรื่อง ค่าเสียหายนั้น เมื่อการกระทำของจำเลยที่1 เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น สำหรับจำนวนค่าความเสียหายนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานใดๆ มานำสืบแสดงให้เป็นว่าโจทก์ต้องเสียหายถึงเดือนละ 300,000 บาท ตามที่เรียกร้อง แต่กิจการค้าของโจทก์เป็นกิจการขนาดใหญ่ สินค้ารถยนต์ของโจทก์จัดว่าเป็นสินค้ามูลค่าสูงที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วไปไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย ผู้ที่ประสงค์จะเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโจทก์จะต้องลงทุนด้วยเงินเป็นจำนวนมากทั้งในด้านทำแลที่ตั้งของสถานประกอบการ การก่อสร้างอาคารสำนักงานและโชว์รูม ค่าเช่าเครื่องมีและอุปกรณ์ การอบรมพนักงาน เงินทุนหมุนและเครดิตทางการค้า ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์เพียงเดือนละ 2,000 บาท ยังถือว่าน้อยเกินไป ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้รูปประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมเป็นดวงตรานิติบุคคลชองจำเลยที่ 1 อีกต่อไป และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 แสดงชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ คำว่า BENZ, เบนซ์, MERCEDES-BENZ, MERCEDES และรูปรอยประดิษฐ์ดาวสามแฉกในวงกลมของโจทก์ในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 500,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 27 กันยายน 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะยุติการใช้ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share