คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2090/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการยึดเครื่องถ่ายเอกสารที่เช่าซื้อคืนเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วเครื่องถ่ายเอกสารอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมเพราะจำเลยยังคงใช้เครื่องถ่ายเอกสารของโจทก์ต่อไป โจทก์จึงคิดค่าเสียหายจากการเสื่อมราคา เงินค่าเสียหายในส่วนนี้เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อได้เลิกกันแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยอายุความ 6 เดือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องถ่ายเอกสาร จำนวน 1 เครื่อง จากโจทก์ ในราคา 176,000 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญาจำนวน 22,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 154,000 บาท ตกลงผ่อนชำระเป็นงวด งวดละ 14,000 บาท รวม 11 งวด โดยชำระทุกวันที่ 14 ของเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 14 สิงหาคม 2541 มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 3 ซึ่งต้องชำระในวันที่ 14 ตุลาคม 2541 สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกัน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบเครื่องถ่ายเอกสารคืนซึ่งหากจำเลยที่ 1 ส่งคืน โจทก์สามารถนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าอย่างน้อยเดือนละ 7,000 บาท นับตั้งแต่วันผิดนัดถึงวันที่โจทก์ยึดเครื่องถ่ายเอกสารคืน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2542 เป็นเวลา 10 เดือน เป็นเงิน 70,000 บาท และเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ส่งมอบเครื่องถ่ายเอกสารคืนให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้ดี แต่จำเลยที่ 1 ยังครอบครองใช้เครื่องถ่ายเอกสารต่อไปอีกอย่างหนักจนเกินอัตรากำลังของเครื่องและไม่บำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ทำให้เครื่องถ่ายเอกสารทรุดโทรมเสื่อมสภาพซึ่งขณะยึดคืนเครื่องถ่ายเอกสารดังกล่าวมีมูลค่าเพียง 10,000 บาท โจทก์คิดค่าเสื่อมราคา 110,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 180,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 180,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องถ่ายเอกสารจากโจทก์จริง ซึ่งโจทก์ได้ออกรับประกันสินค้าให้จำเลยที่ 1 ว่า หากเครื่องถ่ายเอกสารที่เช่าซื้อชำรุดบกพร่องใช้การไม่ได้โจทก์ต้องทำการซ่อมแซมแก้ไข หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อได้เพียง 2 เดือน เครื่องถ่ายเอกสารชำรุดไม่สามารถใช้การได้ จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ซ่อมแซมแก้ไข แต่โจทก์เพิกเฉย ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถรับจ้างถ่ายเอกสารได้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์จึงไม่เป็นการผิดสัญญา ค่าเสื่อมราคาที่โจทก์เรียกร้องเป็นเงิอน 110,000 บาท เป็นการเรียกร้องเกินกว่าความเป็นจริงและขาดอายุความหกเดือน นับแต่โจทก์รับเครื่องถ่ายเอกสารคืนจากจำเลยที่ 1 แล้วส่วนค่าขาดประโยชน์เดือนละ 7,000 บาท นั้น โจทก์ไม่อาจเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสองได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์ฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจิงว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องถ่ายเอกสารยี่ห้อมิต้ารุ่นดีซี 4060 ไปจากโจทก์ 1 เครื่อง ราคา 176,000 บาท ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา 22,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 154,000 บาท ตกลงผ่อนชำระ 11 งวด งวดละ 14,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 14 สิงหาคม 2541 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 14 ของเดือนจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ภายหลังทำสัญญา จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 3 ประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2541 เป็นต้นมา สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 11 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบเครื่องถ่ายเอกสารคืนแก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2542 โจทก์ยึดเครื่องถ่ายเอกสารคืนได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสื่อมราคาเครื่องถ่ายเอกสารที่เช่าซื้อขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ค่าเสื่อมราคาหรือความเสียหายอันเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของทรัพย์ที่เช่าซื้อที่โจทก์เรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 1 เป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จงใจกระทำขึ้นภายหลังจากที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2541 มิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างอายุสัญญาเช่าซื้อตามมาตรา 562 และมาตรา 563 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ค่าเสียหายดังกล่าวจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายค่าเสียหายในส่วนนี้ว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน จำเลยที่ 1 ยังใช้เครื่องถ่ายเอกสารของโจทก์ต่อไปอย่างหนักจนเกินอัตรากำลังของเครื่องถ่ายเอกสารและไม่บำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ทำให้เครื่องถ่ายเอกสารทรุดโทรมเสื่อมสภาพขณะที่ยึดคืนเครื่องถ่ายเอกสารมีมูลค่าเพียง 10,000 บาท ซึ่งโจทก์ขอคิดค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 110,000 บาท ดังนี้ เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการยึดเครื่องถ่ายเอกสารที่เช่าซื้อคืนเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วเครื่องถ่ายเอกสารอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมเพราะจำเลยที่ 1 ยังคงใช้เครื่องถ่ายเอกสารของโจทก์ต่อไป ทำให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหายเสื่อมราคาลงอย่างมาก โจทก์จึงขอคิดค่าเสียหายจากการเสื่อมราคานี้เป็นเงิน 110,000 บาท เงินค่าเสียหายในส่วนนี้เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อได้เลิกกันแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยอายุความ 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ข้อเท็จจริงปรากฎว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2541 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 ภายในกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องที่โจทก์ที่เรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ขาดอายุความ ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เนื่องจากศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นความเสียหายในส่วนนี้ เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้าเสียเวลา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ในประเด็นค่าเสียหายในส่วนของค่าเสื่อมราคา โจทก์มีนายสุกิจ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และนายธีรศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายช่างของโจทก์เปิดความว่า เครื่องถ่ายเอกสารที่จำเลยที่ 1เช่าซื้อ จะต้องใช้ผงหมึกซึ่งเป็นวัสดุสิ้นเปลืองของโจทก์ แต่หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ไม่เคยสั่งซื้อผงหมึกจากโจทก์เลย แสดงว่าจำเลยที่ 1 ใช้ผงหมึกจากบุคคลอื่นกับเครื่องถ่ายเอกกสารทำให้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่างๆ เสียหาย เมื่อโจทก์ยึดเครื่องถ่ายเอกสารคืนมา เครื่องถ่ายเอกสารมีสภาพทรุดโทรมและเสียหายมาก หากนำออกขายจะได้ราคาเพียง 10,000 บาท แต่ถ้าทำการซ่อมแซมเปลี่ยนเครื่องอะไหล่ให้มีสภาพเดิมจะต้องเสียค่าซ่อม 110,000 บาท เห็นว่า เครื่องถ่ายเอกสารเป็นทรัพย์ที่เมื่อมีการใช้งานแล้วจะเกิดการสึกหรอสูง ทำให้เสื่อมราคาลงอย่างรวดเร็ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองใช้ประโยชน์จากเครื่องถ่ายเอกสารหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วเป็นเวลา 10 เดือน นับว่าเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร เมื่อมีการใช้เครื่องถ่ายเอกสารนี้ตลอดมา น่าเชื่อว่าเครื่องถ่ายเอกสารอยู่ในสภาพทรุดโทรมดังที่พยานโจทก์เบิกความ แต่ที่โจทก์ตีราคาเครื่องถ่ายเอกสารมาเพียง 10,000 บาท น่าจะเป็นราคาที่ต่ำเกินไป เพราะจากบันทึกการตรวจสภาพเอกสารหมาย จ.5 ก็ยังระบุว่า สภาพเครื่องใช้งานได้ อุปกรณ์ และอะไหล่เสื่อมสภาพตามระยะเวลาและจำนวนการใช้งาน ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ถึงจำนวนเงินลงทุนของโจทก์กับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์บางส่วน ประกอบกับค่าขาดประโยชน์ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำนวน 50,000 บาทแล้วเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 70,000 บาท เมื่อรวมกับค่าขาดประโยชน์จำนวน 50,000 บาทแล้วรวมจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 120,000 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 120,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share