แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ช. เจ้าหนี้โจทก์ได้โอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างให้ ก.และโจทก์ยอมรับว่าจะจ่ายให้ ก. แล้ว สิทธิการรับเงินของ ช.ย่อมหมดไป การที่โจทก์ส่งเงินดังกล่าวให้ศาลตามหมายอายัดเป็นความเข้าใจผิดของโจทก์ โจทก์มีสิทธิติดตามเอาคืนได้ โจทก์ส่งเงินค่าก่อสร้างที่ยังค้างชำระ ช. ให้แก่ศาลตามหมายอายัดในคดีที่ ช. เจ้าหนี้โจทก์ถูกจำเลยฟ้อง โดยโจทก์เข้าใจว่ามีหน้าที่ต้องส่งและศาลคงอายัดไม่ส่งไปชำระหนี้แก่ผู้ใดจะถือว่าโจทก์กระทำตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ไม่ได้ โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิติดตามเอาเงินที่โจทก์ส่งศาลตามหมายอายัด ซึ่งจำเลยกับ ช. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้จำเลยรับเงินดังกล่าวไปคืนจากจำเลยได้ เป็นการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนทรัพย์สินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 จึงไม่มีอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างก่อสร้างอาคาร ในอัตราจ้างเหมายี่สิบล้านบาทเศษการจ่ายค่าจ้างโจทก์จะจ่ายเป็นงวด ๆ ตามผลงานแต่ละงวด ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างทั้งหมดให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด และโจทก์ยินยอมแล้วห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างได้ก่อสร้างอาคารเสร็จแล้วยังมีเงินที่โจทก์จะต้องจ่ายค่าจ้างเหมางวดสุดท้ายให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นเงิน 1,437,834.89 บาท ต่อมาศาลแพ่งมีหมายอายัดเงินค่าก่อสร้างดังกล่าว ห้ามมิให้โจทก์ชำระเงินแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่าง รวม 2 สำนวน โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องนำเงินตามที่ศาลแพ่งออกหมายอายัดมาวางต่อศาลแพ่ง จึงนำส่งเงินทั้งหมดต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งได้แบ่งวางในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8051/2523 จำนวน 1,376,464.68 บาทและวางในอีกสำนวนคดีหนึ่ง 61,369.21 บาท ต่อมาจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างได้ทำสัญญาประนีประนอมกันในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8051/2523 ให้จำเลยรับเงิน 540,000 บาท จากเงินที่ศาลแพ่งมีคำสั่งอายัดไว้ เงินเหลือเท่าใดตกเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างกับพวก และศาลแพ่งจ่ายเงินดังกล่าวให้จำเลยแล้ว ต่อมาธนาคารกรุงไทย จำกัด ทวงถามเงินค่าจ้างเหมาจากโจทก์ โจทก์จึงแจ้งให้ศาลแพ่งทราบว่าเงินที่โจทก์นำมาวางศาลเป็นเงินที่จะต้องจ่ายให้ธนาคารกรุงไทย จำกัดและได้รับเงินที่วางไว้ในอีกสำนวนคดีหนึ่งคืนจากศาลแพ่งแล้วเงินที่จำเลยรับไปจากศาลแพ่งเป็นเงินส่วนหนึ่งที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ธนาคารกรุงไทยจำกัดจำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าว โจทก์ต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องซ้ำอีกจึงมีสิทธิติดตามเอาเงินที่จำเลยรับไปคืนจากจำเลย ขอให้บังคับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 540,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่าจำเลยรับเงินดังกล่าวโดยสุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวจากจำเลย โจทก์นำเงินมาวางต่อศาลแพ่งตามอำเภอใจโดยมิได้โต้แย้งหรือชี้แจงว่าเงินดังกล่าวได้มีการโอนสิทธิเรียกร้องไปแล้ว เป็นเหตุให้จำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกับห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่าง ทำให้จำเลยสิ้นสิทธิดำเนินคดีดังกล่าวต่อไป จำเลยจึงไม่ต้องคืนให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะยังมิได้ชำระเงินให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัดคดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 540,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางพิจารณาที่โจทก์นำสืบและจำเลยอ้างมาในฎีกา มีข้อเท็จจริงตรงกันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ มีนายจงรัก ปรีชานนท์ เป็นอธิการบดีซึ่งเป็นผู้ทำการแทนโจทก์ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2520 โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างทำการก่อสร้างอาคารกลุ่มบี 2 ในราคา 20,564,826 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาให้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 โจทก์แจ้งตอบไม่ขัดข้องต่อธนาคารกรุงไทย จำกัดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างได้ทำการก่อสร้างและเบิกเงินค่าจ้างไปแล้ว 23 งวด คงเหลือค่าจ้างงวดสุดท้าย คืองวดที่ 24 เป็นเงิน 422,653 บาท เงินสะสมซึ่งโจทก์หักไว้เป็นค่าประกันงาน 1,082,241.30 บาท และเงินปรับราคา(K.FACTOR) จำนวน 63,347.95 บาท ก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างจะเบิกเงินงวดสุดท้ายดังกล่าว วันที่ 19มิถุนายน 2523 จำเลย (บริษัทนิวโก้ประเทศไทย จำกัด) ได้เป็นโจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างตามคดีหมายเลขดำที่ 8051/2523 ของศาลแพ่ง และห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนากรุงเทพได้เป็นโจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่าง ตามคดีหมายเลขดำที่ 9807/2523 ของศาลแพ่ง และโจทก์ทั้งสองคดีดังกล่าวได้ขอให้ศาลแพ่งอายัดเงินที่โจทก์จะต้องจ่ายแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างและให้ส่งเงินไปยังศาลแพ่งปรากฏตามเอกสารหมาย จ.20, จ.21 โจทก์จึงขออนุญาตต่อกระทรวงการคลังและกระทรวงการคลังอนุญาตให้โจทก์เบิกเงินดังกล่าวส่งไปศาลแพ่งได้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.22 โจทก์ส่งเงินให้ศาลแพ่งปรากฏตามเอกสารหมาย จ.23 ทั้งนี้โดยโจทก์เข้าใจว่า เมื่อศาลแพ่งรับเงินไปแล้ว ศาลแพ่งจะจ่ายให้ใครจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2524 จำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างกับพวกได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมรับเงินที่โจทก์ส่งศาลตามหมายอายัดของศาลแพ่งในคดีดังกล่าวจำนวน 540,000 บาท ครั้นวันที่ 12 พฤษภาคม 2524ธนาคารกรุงไทย จำกัด แจ้งให้โจทก์ส่งเงินที่เหลือทั้งหมดที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างจะได้รับให้กับธนาคารกรุงเทพจำกัด โจทก์จึงพบว่าที่ส่งเงินไปให้ศาลแพ่งเป็นการผิดพลาด และได้แจ้งศาลแพ่งเพื่อขอเรียกเงินคืน ศาลแพ่งได้ส่งเงินที่เหลือจำนวน61,369.21 บาทคืนคดีคงมีปัญหาว่า โจทก์จะเรียกเงิน 540,000 บาทจำเลยรับไปในคดีหมายเลขดำที่ 8051/2523 ของศาลแพ่งคืนได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำนวนเงินดังกล่าวและเงินตามสัญญาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.1 ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่างคู่สัญญาก่อสร้างของโจทก์ได้โอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างให้ธนาคารกรุงไทยจำกัด ตามเอกสารหมาย จ.2 และโจทก์ได้ยอมรับว่าจะจ่ายให้ธนาคารกรุงไทย จำกัดตามเอกสารหมาย จ.3แล้ว ดังนั้นสิทธิเรียกร้องในการรับเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยวิวัฒน์การช่าง ย่อมหมดไปแล้ว การที่โจทก์ส่งเงินมาให้ตามหมายอายัดของศาลแพ่งเป็นความเข้าใจผิดของโจทก์ โจทก์มีสิทธิติดตามคืนได้ ที่จำเลยฎีกาว่าการส่งเงินไปยังศาลแพ่งของโจทก์เป็นการกระทำตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 นั้น เห็นว่าโจทก์ส่งเงินไปเพราะศาลแพ่งมีหมายอายัดมา โจทก์จึงเข้าใจว่าต้องส่งไปให้ศาลและศาลคงอายัด ไม่ได้ส่งไปชำระหนี้แก่ผู้ใด จึงใช้บทมาตรา 407 บังคับโจทก์ไม่ได้ส่วนเรื่องอายุความนั้นจำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์คืนในฐานะลาภมิควรได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 มีอายุความเพียง 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้นเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิติดตามเอาเงิน 540,000 บาทคืนจากจำเลยคดีนี้ได้ซึ่งโจทก์บรรยายเช่นนี้เป็นการใช้สิทธิติดตามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความบัญญัติห้ามไว้ ฎีกาทั้งสองข้อของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีชอบแล้ว”
พิพากษายืน