คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6755/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการจัดตลาดนัดย่านพหลโยธินพ.ศ.2526ข้อที่27ระบุว่าผู้ค้าต้องจำหน่ายสินค้าให้ถูกต้องตามประเภทที่กำหนดไว้จะนำสินค้าประเภทอื่นเข้าไปจำหน่ายไม่ได้นั้นมีความหมายว่าผู้ค้าไม่ค้าสินค้าตามประเภทที่ได้รับอนุญาตแต่ไปค้าสินค้าประเภทอื่นอย่างชัดแจ้งเช่นได้รับอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าประเภทอาหารสดแต่กลับไปจำหน่ายสินค้าประเภทต้นไม้เป็นต้นจึงจะถือได้ว่าผู้ค้าได้ฝ่าฝืนระเบียบนี้แต่หากผู้ค้าได้จำหน่ายสินค้าตามประเภทที่ได้รับอนุญาตแล้วและได้จำหน่ายสินค้าประเภทอื่นซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายด้วยเช่นกรณีของจำเลยได้รับอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าประเภทสัตว์มีชีวิตก็ได้จำหน่ายสัตว์มีชีวิตคือปลาเลี้ยงปลาสวยงามต่างๆตรงตามประเภทแล้วยังได้จำหน่ายสินค้าจำพวกอาหารปลาอุปกรณ์การเลี้ยงปลาด้วยย่อมไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบดังกล่าวนอกจากนี้ตามระเบียบว่าด้วยการจัดตลาดนัดย่านพหลโยธิน(ฉบับที่3)พ.ศ.2527ข้อ2ประเภทแผงค้า(4)สัตว์มีชีวิตก็ดีตามทะเบียนผู้ค้าตลาดนัดกรุงเทพมหานครระบุว่าประเภทสินค้าสัตว์มีชีวิตก็ดีมิได้มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าให้เป็นสินค้าเฉพาะสัตว์มีชีวิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้นและตามระเบียบว่าด้วยการจัดตลาดนัดได้ระบุวัตถุประสงค์ในการจัดตลาดนัดไว้ในข้อที่2ว่าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนโดยรวมสินค้าหลายๆประเภทไว้ณสถานที่เดียวกันผู้ซื้อไม่ต้องเดินทางไปซื้อสินค้าหลายชนิดมาจากหลายแห่งช่วยให้ประหยัดเวลาและพาหนะดังนั้นการที่จำเลยจำหน่ายสินค้าสัตว์มีชีวิตจำพวกปลาเลี้ยงปลาสวยงามและมีสินค้าจำพวกอาหารปลาและอุปกรณ์การเลี้ยงปลาไว้จำหน่ายด้วยจึงเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามวัตถุประสงค์ของโจทก์หาเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์ไม่ การค้าปลาของจำเลยจำเป็นต้องใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อให้ออกซิเจนแก่ปลาที่จำหน่ายตลอดเวลาดังนั้นการที่จำเลยต้องหยุดการจำหน่ายปลาเพราะมีเหตุจำเป็นเกี่ยวกับไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ในแผงค้าที่จำเลยได้รับสิทธิยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมิได้จำหน่ายปลาในแผงค้าที่จำเลยได้รับสิทธิโดยฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยการจัดตลาดนัดของโจทก์เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ดำเนินกิจการตลาดนัดให้ชื่อเรียกว่าตลาดนัดย่านพหลโยธิน (ตลาดนัดจตุจักร) โดยวางระเบียบว่าด้วยการจัดตลาดนัดย่านพหลโยธิน มีสาระสำคัญว่าผู้ค้าต้องมาทำการค้าด้วยตนเอง ห้ามผู้ซึ่งไม่มีสิทธิตามทะเบียนผู้ค้ามาทำการค้าแทนในการประกอบการค้ามาทำการค้าแทนในการประกอบการค้าผู้ค้าต้องจำหน่ายสินค้าให้ถูกต้องตามประเภทที่กำหนดไว้ จะนำสินค้าประเภทอื่นเข้าไปจำหน่ายไม่ได้หากผู้ค้ารายใดฝ่าฝืนคณะกรรมการควบคุมการจัดตลาดนัดโจทก์อาจเพิกถอนสิทธิการเข้าทำการค้าชั่วคราวหรือตลอดไป จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้เข้าประกอบการค้าในตลาดนัดย่านพหลโยธิน รวม 4 แผงค้าโดยได้รับอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าเฉพาะประเภทสัตว์มีชีวิตเมื่อระหว่างเดือนมกราคม 2530 ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2530 จำเลยมิได้ไปทำการค้าที่แผงดังกล่าวด้วยตนเอง แต่ให้ผู้อื่นซึ่งไม่มีสิทธิตามทะเบียนผู้ค้าและมิได้รับอนุญาตจากโจทก์มาทำการค้าแทน และได้นำสินค้าจำพวกอาหารปลา และอุปกรณ์การเลี้ยงปลาซึ่งเป็นสินค้าประเภทอื่น มิใช่สินค้าประเภทสัตว์มีชีวิตที่จำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์มาจำหน่ายที่แผงค้าดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์และเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่จำเลยได้ให้สัญญาไว้ในทะเบียนผู้ค้านอกจากนี้จำเลยได้รับอนุญาตจากประธานคณะกรรมการควบคุมการจัดตลาดนัดโจทก์ ให้นำกระแสไฟฟ้าเข้าไปใช้ที่แผงค้าทั้งสี่แผงดังกล่าว แต่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขโดยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2530 จำเลยนำเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงเข้าไปติดตั้งมาตรวัดกระแสไฟฟ้าที่เสาไฟฟ้าของโจทก์และพาดสายไฟฟ้าจากเสาไฟฟ้าของโจทก์ดังกล่าวไปยังเสาไฟฟ้าของโจทก์ต้นอื่นแล้วจึงพาดสายไฟฟ้าเข้าไปที่แผงค้าที่จำเลยได้รับสิทธิ โดยมิได้ดำเนินการปักเสาไฟฟ้าขึ้นใหม่ ตามที่ได้รับอนุญาตจากประธานคณะกรรมการควบคุมการจัดตลาดนัดโจทก์แต่อย่างใด ทั้งยังได้พาดสายไฟฟ้านำกระแสไฟฟ้าไปให้ผู้อื่นใช้ด้วย หัวหน้ากองอำนวยการตลาดนัดโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยรื้อถอนสายไฟฟ้าที่จำเลยพาดสายที่เสาไฟฟ้าของโจทก์ออกภายใน 7 วันมิฉะนั้นถือว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือระเบียบของโจทก์และจะเพิกถอนของจำเลยในแผงค้า จำเลยทราบคำสั่งแล้วแต่ยังคงเพิกเฉย เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตามที่จำเลยได้ตกลงให้สัญญาไว้ต่อโจทก์ในทะเบียนผู้ค้าคณะกรรมการควบคุมการจัดตลาดนัดโจทก์มิได้มติให้เพิกถอนสิทธิการเข้าทำการค้าของจำเลยที่แผงค้าทั้งสี่แผงดังกล่าวเมื่อวันที่9 ธันวาคม 2530 และได้แจ้งให้จำเลยขนย้ายสินค้าและสิ่งของจำเลยออกจากบริเวณแผงค้าดังกล่าวภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2530 จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตาม ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากแผงค้าเลขที่ 13-02-056, 02-057, 13-02-058และ 13-02-059 บริเวณตลาดนัดย่านพหลโยธิน (ตลาดนัดจตุจักร)และให้ส่งมอบสถานที่และแผงค้าดังกล่าวในสภาพเดิมแก่โจทก์ห้ามมิให้เข้ามาเกี่ยวข้องในแผงค้าดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือระเบียบของโจทก์แต่อย่างใด คณะกรรมการควบคุมการจัดตลาดโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเพิกถอนสิทธิของจำเลยในแผงค้าดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากแผงค้าตามฟ้องของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากแผงค้าเลขที่ 13-02-056, 13-02-057, 13-02-058 และ13-02-059 บริเวณตลาดนัดย่านพหลโยธิน (ตลาดนัดจตุจักร) และส่งมอบแผงค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ในสภาพเดิม ห้ามมิให้เข้าเกี่ยวข้องในแผงค้าดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ดำเนินการตลาดนัดย่านพหลโยธิน (ตลาดนัดจตุจักร)มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เข้าไปขายสินค้าในตลาดนัดได้โดยต้องปฏิบัติตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการจัดตลาดนัดย่านพหลโยธิน พ.ศ. 2526 ตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้เข้าไปประกอบการค้าประเภทสัตว์มีชีวิตในตลาดดังกล่าวที่แผงค้าเลขที่ 13-02-056 ถึง 13-02-059 รวม4 แผง ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2530 จำเลยถูกโจทก์เพิกถอนสิทธิในแผงค้าดังกล่าว โดยอ้างว่าจำเลยปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบกรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย จ.1 และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของประธานคณะกรรมการควบคุมการจัดตลาดนัดโจทก์เกี่ยวกับการติดตั้งมาตราวัดกระแสไฟฟ้า การพาดสายไฟและการปักเสาไฟฟ้าใหม่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.11 คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยได้ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือข้อตกลงที่ให้ไว้แก่โจทก์หรือไม่ ในข้อที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยปฏิบัติฝ่าฝืนต่อระเบียบนั้น โจทก์มีนายไมตรี เรืองปิ่นนายสมภพ ระงับทุกข์ นายสาโรช คงนคร และนายเชิดชัย ขจรกลิ่นเป็นพยาน โดยนายไมตรีเบิกความว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้ค้าขายสินค้าประเภทสัตว์มีชีวิตอย่างเดียว แต่จำเลยได้นำสินค้าอื่นเช่น อาหารสัตว์ สายยางสำหรับให้ออกซิเจนแก่ปลาและไม่ได้ค้าขายด้วยตนเอง ได้ให้บริวารเข้ามาค้าขายแทนนายสมภพเบิกความว่าได้รับรายงานจากนายสุรศักดิ์ สอนเกลือซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้างานรายได้ว่า จำเลยมิได้ทำการค้าตั้งแต่เดือนมกราคม 2530โดยมีผู้อื่นมาทำการค้าแทน จึงสั่งให้นายสาโรชหัวหน้างานทะเบียนไปตรวจสอบและรายงานซึ่งนายสาโรจเบิกความว่า ระหว่างปี 2528ถึงสิ้นเดือนเมษายน 2531 ได้เดินตรวจบริเวณตลาดนัดบ่อยครั้งพบว่าจำเลยค้าขายสินค้าผิดประเภท โดยไม่ได้ขายสัตว์มีชีวิตเลยเมื่อได้รับคำสั่งจากนายสมภพให้ไปตรวจสอบจำเลยและได้ไปตรวจสอบแล้วปรากฏว่าจำเลยจำหน่ายสินค้าไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาต แต่จำหน่ายสินค้าประเภทอาหารปลาและอุปกรณ์การเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเบ็ดเตล็ด ได้ทำบันทึกและถ่ายรูปไว้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.16 และรูปถ่ายหมาย จ.17 ส่วนนายเชิดชัดซึ่งมีหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้าในตลาดนัดเบิกความว่า ทำหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้าในซอย 11 ซึ่งจำเลยมีแผงค้ามาตั้งแต่ปี 2529 ถึงปี 2532 ไม่เคยเห็นจำเลยในแผงค้าเลยคนที่ค้าในแผงเป็นญาติพี่น้องของจำเลย และของที่ขายมีอุปกรณ์การเลี้ยงปลาและอาหารปลา แต่ไม่มีสัตว์มีชีวิต จึงได้ทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาปรากฏตามเอกสารหมาย จ.18 ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยและนางสาวนาถอนงค์เอี่ยมโพธิ์ เป็นพยาน เบิกความในทำนองเดียวกันว่า พยานทั้งสองต่างมีแผงค้าประเภทสัตว์มีชีวิตที่ตลาดนัดสวนจตุจักรโดยขายปลาสวยงาม อุปกรณ์การเลี้ยงปลา ตู้ปลา อาหารปลา และยารักษาโรคอยู่ในซอยที่ 11 นอกจากค้าขายที่แผงค้าที่ตนเองได้รับสิทธิแล้ว จำเลยเคยให้นางสาวนาถอนงค์เป็นตัวแทนค้าที่แผงค้าที่จำเลยได้รับสิทธิด้วย นอกจากนี้จำเลยยังมีลูกจ้างช่วยยกของอีกด้วย ร้านค้าของจำเลยต้องใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อผลิตออกซิเจนให้ปลา มิฉะนั้นจะทำให้ปลาตายการใช้ไฟฟ้าของจำเลยมีปัญหาตลอดมา และถูกตัดกระแสไฟฟ้าเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2529นาน 6 เดือน เป็นเหตุให้ขายปลาไม่ได้ และในปี 2530 จำเลยก็ถูกตัดกระแสไฟฟ้าอีกหลายครั้ง เป็นเหตุให้ขายปลาไม่ได้ พิเคราะห์แล้วในข้อที่โจทก์ฟ้องว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2530 ถึงวันที่9 ธันวาคม 2530 จำเลยมิได้ไปทำการค้าที่แผงค้าที่ได้รับอนุญาตด้วยตนเอง แต่ให้ผู้อื่นซึ่งไม่มีสิทธิตามทะเบียนผู้ค้าและมิได้รับอนุญาตจากโจทก์มาทำการค้าแทนจำเลยนั้น ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ได้ความแต่เพียงว่า คนที่ค้าในแผงค้าที่จำเลยได้รับสิทธิเป็นบริวารของจำเลยบ้างเป็นญาติของจำเลยบ้าง แต่ไม่มีรายละเอียดหรือข้อเท็จจริงที่จะชี้ชัดว่าผู้ที่ค้าขายอยู่ในแผงค้าดังกล่าวนั้นชื่ออะไร และไปค้าอยู่ในแผงค้าในวันเวลาใดบ้างคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นแค่เพียงคำเบิกความลอย ๆโดยเฉพาะนายเชิดชัยซึ่งเป็นผู้ทำรายงานตามเอกสารหมาย จ.18นั้น ตามรายงานดังกล่าวระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2530เป็นต้นมา จำเลยมิได้มาทำการค้าประจำในแผงค้าเลย พบแต่ผู้อื่นมาทำการค้าแทนตลอดมา แต่ตามคำเบิกความของนายเชิดชัยตอนตอบทนายจำเลยถามค้านกลับปรากฏว่า นายเชิดชัยเพิ่งรู้จักจำเลยเมื่อราวปี 2531 โดยพบจำเลยเมื่อจำเลยไปติดต่อที่กองอำนวยการของโจทก์ในตลาดนัดเมื่อกรณีเป็นเช่นนี้ นายเชิดชัยรู้ได้อย่างไรว่าตอนไปเก็บเงินผู้ค้ำประกันในปี 2530 นั้น คนไหนคือจำเลย และการไปเก็บเงินดังกล่าวนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีระเบียบจะต้องเก็บจากผู้มีชื่อเป็นผู้ค้าโดยตรง อีกทั้งผู้ค้าในตลาดนัดก็มีจำนวนมากเป็นร้อยรายเมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีเหตุที่นายเชิดชัยจะต้องคอยจดจำหรือจำได้ว่าผู้ที่จ่ายเงินไปแต่ละแผงค้านั้นเป็นผู้ใดด้วย ส่วนจำเลยนั้น นอกจากตัวจำเลยแล้ว ยังมีนางสาวนาถอนงค์เป็นพยานเบิกความว่า มาช่วยจำเลยค้าในแผงเป็นบางครั้ง โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์แล้วตามเอกสารหมาย ล.5กับมีลูกจ้างและภรรยาจำเลยมาช่วยขายด้วย เห็นว่า นางสาวนาถอนงค์เป็นผู้ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้เป็นผู้ค้าได้อยู่แล้วและเป็นน้องสาวของจำเลย ทั้งมีแผงค้าอยู่ใกล้กันด้วย จึงย่อมเป็นผู้ช่วยขายในแผงค้าที่จำเลยได้รับสิทธิได้ ส่วนลูกจ้างหรือบริวารนั้น ปรากฏตามคำเบิกความของพันเอกวินัย สมพงษ์พยานโจทก์ซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้มีตำแหน่งเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการควบคุมการจัดตลาดนัดโจทก์ว่า กรณีผู้ค้าให้ลูกจ้างมาทำการค้าได้ผู้ค้าจะต้องมาดูแลด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกจ้างทำไปฝ่ายเดียวเมื่อทางพิจารณาจำเลยนำสืบว่าเมื่อจำเลยไม่อยู่และมีนางสาวนาถอนงค์มาช่วยค้าแทนย่อมถือได้ว่าผู้ค้าได้มาดูแลด้วยแล้ว สำหรับข้อที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้นำสินค้าจำพวกอาหารปลาและอุปกรณ์การเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นสินค้าประเภทอื่น มิใช่สินค้าประเภทสัตว์มีชีวิตที่จำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์นั้น ทางพิจารณาปรากฏตามพยานเอกสารทั้งของโจทก์และของจำเลยว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าไปค้าในแผงค้าของโจทก์ตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมาโดยค้าสินค้าประเภทสัตว์มีชีวิตแต่ตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2530 จนถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2530 จำเลยได้จำหน่ายสินค้าจำพวกอาหารปลาและอุปกรณ์การเลี้ยงปลา ซึ่งมิใช่สินค้าประเภทสัตว์มีชีวิตที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้จำหน่ายได้และทางพิจารณาโจทก์ก็นำสืบพยานโจทก์ในทำนองนี้ ข้อนี้แสดงว่าตั้งแต่จำเลยได้รับอนุญาตให้ค้าในแผงค้าจากโจทก์เป็นต้นมาจนถึงเดือนธันวาคม 2529 จำเลยมิได้ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยการจัดตลาดนัดของโจทก์ โดยจำเลยได้จำหน่ายสินค้าประเภทสัตว์มีชีวิตตลอดมา ที่ระเบียบว่าด้วยการจัดตลาดนัดตามเอกสารหมาย จ.2ข้อที่ 27 ระบุว่า ผู้ค้าต้องจำหน่ายสินค้าให้ถูกต้องตามประเภทที่กำหนดไว้ จะนำสินค้าประเภทอื่นเข้าไปจำหน่ายไม่ได้นั้นน่าจะมีความหมายว่าผู้ค้าไม่ค้าสินค้าตามประเภทที่ได้รับอนุญาตแต่ไปค้าสินค้าประเภทอื่นอย่างชัดแจ้ง เช่น ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าประเภทอาหารสด แต่กลับไปจำหน่ายสินค้าประเภทต้นไม้เป็นต้น แต่หากผู้ค้าได้จำหน่ายสินค้าตามประเภทที่ได้รับอนุญาตแล้ว และได้จำหน่ายสินค้าประเภทอื่นซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายด้วย เช่น กรณีของจำเลยได้รับอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าประเภทสัตว์มีชีวิต ก็ได้จำหน่ายสัตว์มีชีวิตคือ ปลาเลี้ยง ปลาสวยงามต่าง ๆ ตรงตามประเภทแล้ว ยังได้จำหน่ายสินค้าจำพวกอาหารปลาอุปกรณ์การเลี้ยงปลาด้วย ย่อมไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบดังกล่าว นอกจากนี้ตามระเบียบว่าด้วยการจัดตลาดนัดย่านพหลโยธิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2527 ตามเอกสารหมาย จ.19 ข้อ 2 ประเภทแผงค้า (4) สัตว์มีชีวิตก็ดี ตามทะเบียนผู้ค้าตลาดนัดกรุงเทพมหานครเอกสารหมาย จ.3 ระบุว่าประเภทสินค้าสัตว์มีชีวิตก็ดี มิได้มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าให้เป็นสินค้าเฉพาะสัตว์มีชีวิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้นและตามระเบียบว่าด้วยการจัดตลาดนัดเอกสารหมาย จ.1 ได้ระบุวัตถุประสงค์ในการจัดตลาดนัดไว้ในการจัดตลาดนัดไว้ในข้อที่ 2 ว่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนโดยรวมสินค้าหลาย ๆ ประเภทไว้ ณ สถานที่เดียวกันผู้ซื้อไม่ต้องเดินทางไปซื้อสินค้าหลายชนิดมาจากหลายแห่งช่วยให้ประหยัดเวลาและพาหนะ ดังนั้นการที่จำเลยจำหน่ายสินค้าสัตว์มีชีวิตจำพวกปลาเลี้ยง ปลาสวยงาม และมีสินค้าจำพวกอาหารปลาและอุปกรณ์การเลี้ยงปลาไว้จำหน่ายด้วย จึงเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ ส่วนกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าระหว่างเดือนมกราคม 2530 ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2530 จำเลยมิได้จำหน่ายปลาแผงค้าที่จำเลยได้รับสิทธินั้น เห็นว่า ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งนายสาโรชเป็นผู้ทำ และเอกสารหมาย จ.18ซึ่งนายเชิดชัยเป็นผู้ทำ ระบุข้อความว่าจำเลยมิได้จำหน่ายสัตว์มีชีวิตนั้นลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2530 และ 7 พฤศจิกายน 2530ตามลำดับ ซึ่งทางพิจารณาปรากฏตามพยานโจทก์และพยานเอกสารที่โจทก์และจำเลยส่ง อ้างว่าในช่วงเดือนธันวาคม 2529 เป็นต้นมาจนถึงปลายปี 2530 จำเลยประสบกับปัญหาการใช้กระแสไฟฟ้าในแผงค้าที่จำเลยได้รับสิทธิ โดยถูกตัดกระแสไฟฟ้าและไม่มีไฟฟ้าใช้ตลอดมา การค้าปลาของจำเลยจำเป็นต้องใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อให้ออ๊กซิเจนแก่ปลาที่จำหน่ายตลอดเวลา มิฉะนั้นจะทำให้ปลาตายได้เมื่อไม่มีไฟฟ้าใช้ย่อมเป็นอุปสรรคไม่สามารถนำปลามาวางจำหน่ายได้และต่อมาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2530 พันเอกวินัยพยานโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองอำนวยการตลาดนัดในขณะนั้นได้มีหนังสือถึงจำเลยให้รื้อสายไฟฟ้าออกจากตลาดนัด เหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในช่วงเวลาเดือนเดียวกันกับที่นายสาโรชและนายเชิดชัยทำบันทึกตามเอกสารหมาย จ.16 และ จ.18 นั่นเอง ตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบมา เห็นว่าจำเลยต้องหยุดการจำหน่ายปลาเพราะมีเหตุจำเป็นเกี่ยวกับไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ในแผงค้าที่จำเลยได้รับสิทธิ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ฝ่าฝืนต่อระเบียบว่าด้วยการจัดตลาดนัดตามเอกสารหมาย จ.1
ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือข้อตกลงที่ให้ไว้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารับฟังไม่ได้ว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือข้อตกลงที่ให้ไว้แก่โจทก์ และเมื่อข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยได้ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งหรือข้อตกลงดังได้วินิจฉัยมาแล้ว คณะกรรมการควบคุมการจัดตลาดนัด โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนสิทธิของจำเลยในแผงค้าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เป็นพ้องด้วย
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share