คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4059/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์จ่ายเงินเข้าบัญชีให้พนักงาน พนักงานมีหน้าที่จะต้องรำเงินที่จ่ายให้ส่งเป็นเงินประกันตัวและเมื่อส่งเป็นเงินประกันตัวแล้ว โจทก์จะนำเข้าฝากในบัญชีประจำของพนักงานพนักงานไม่มีสิทธิถอนเงินจำนวนนี้จนกว่าจะออกจากงานและถ้าออกโดยทำความเสียหายให้แก่โจทก์ โจทก์ก็จะหักเป็นค่าเสียหาย จึงถือไม่ได้ว่าเงินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพนักงานโดยเด็ดขาด มีลักษณะเป็นการตั้งบัญชีสำรองจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษไว้โดยมิได้มีการจ่ายจริง จึงเป็นเงินสำรองตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(1) จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่พนักงานรวม5 ปีเงิน 39,203,772.37 บาท โดยโอนเงินบำเหน็จพิเศษเข้าบัญชีเงินประกันตัวพนักงาน ขณะเดียวกันก็โอนเงินประกันตัวพนักงานเข้าบัญชีเงินฝากประจำของพนักงานแต่ละคนเป็นเงินค่าจ้างที่โจทก์จ่ายให้พนักงานแต่ละคนโดยเด็ดขาดตามระเบียบที่วางไว้ และถือปฏิบัติทำนองเดียวกับเงินเดือนโดยหักภาษีเงินได้สำหรับเงินที่จ่ายให้พนักงานแต่ละคนนำส่งตามประมวลรัษฎากร เงินดังกล่าวมิได้ตั้งเป็นกองทุนมิได้จ่ายสมทบและจัดสรรไว้เพื่อประโยชน์ของพนักงานผู้รับเงินแต่ละคนหรือทั้งหมดโดยพนักงานของโจทก์ไม่ต้องออกเงินส่วนตัวหรือหักเงินสมทบแต่ประการใด ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(2)โจทก์จึงมีสิทธินำเงินบำเหน็จพิเศษที่จ่ายแก่พนักงานในรอบระยะเวลาบัญชี 5 ปี รวม 39,203,772.37 บาท ไปหักจากกำไรสุทธิในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีได้ขอให้เพิกถอนการประเมินเกี่ยวกับภาษีเงินได้และเงินเพิ่มที่คำนวณจากเงินบำเหน็จพิเศษที่โจทก์จ่ายแก่พนักงานและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าเงินบำเหน็จพิเศษที่โจทก์จ่ายแก่พนักงานในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2517 ถึง 2521เป็นเงิน 39,203,772.37 บาท พนักงานไม่มีสิทธิเหนือเงินบำเหน็จพิเศษ จะจำหน่ายจ่ายโอนอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ได้และเป็นการจ่ายที่ไม่แน่นอน เงินบำเหน็จพิเศษดังกล่าวจึงเป็นเงินกองทุนหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(2) จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว การที่โจทก์ขอให้งดหรือลดเงินเพิ่ม โจทก์มีเจตนาไม่สุจริต และไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีอากร ไม่สมควรที่งดหรือลดเงินเพิ่มให้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์จำเลยแถลงรับกันว่าในการจ่ายเงินของโจทก์ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินในแต่ละปีนั้น โจทก์จะจ่ายเข้าบัญชีให้พนักงานซึ่งพนักงานมีหน้าที่จะต้องนำเงินที่จ่ายให้ ส่งเป็นเงินประกันตัวและเมื่อส่งเป็นเงินประกันตัวแล้ว โจทก์จะนำเข้าฝากในบัญชีประจำของพนักงาน พนักงานไม่มีสิทธิจะถอนเงินจำนวนนี้จนกว่าจะออกจากธนาคารโจทก์ และถ้าออกโดยทำความเสียหายให้แก่โจทก์โจทก์ก็จะหักเป็นค่าเสียหายไว้ โดยโจทก์มีระเบียบการจ่ายเงินปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ปัญหาวินิจฉัยมีว่าการจ่ายเงินให้พนักงานของโจทก์ตามที่โจทก์จำเลยรับกันและโจทก์เรียกว่า “เงินบำเหน็จพิเศษ” นั้น จะต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65ตรี(2) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ บทกฎหมายดังกล่าวในขณะพิพาทบัญญัติว่า”รายการต่อไปนี้ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (2)เงินกองทุน เว้นแต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ” ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเงินที่โจทก์จ่ายแก่พนักงานนั้นเป็นเงินกองทุนหรือเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามความหมายดังกล่าวใช่หรือไม่โจทก์ฎีกาว่า เงินที่โจทก์จ่ายให้แก่พนักงานของโจทก์ที่โจทก์เรียกว่า “เงินบำเหน็จพิเศษ” นั้น ไม่เข้าลักษณะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่อย่างใด ซึ่งแสดงว่าเงินที่โจทก์จ่ายแก่พนักงาน ไม่อาจถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพราะไม่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา 65 ตรี(2) แห่งประมวลรัษฎากรและโจทก์ฎีกาประการต่อมาว่า เงินดังกล่าวโจทก์มิได้ตั้งเป็นกองทุน แต่เป็นเรื่องที่โจทก์โอนบัญชีจ่ายให้เป็นการเสร็จเด็ดขาดเป็นรายตัว และพนักงานแต่ละคนมีภาระหน้าที่ต้องส่งเป็นเงินประกันตัวตามระเบียบว่าด้วยเงินประกันตัวและเป็นเงินฝากประจำของพนักงานผู้นั้นในที่สุด แม้โจทก์จะอ้างว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่เงินกองทุน แต่โจทก์ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เงินดังกล่าวไม่ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพนักงาน เพราะพนักงานไม่มีสิทธิจะถอนเงินจนกว่าจะออกจากธนาคารของโจทก์โดยไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขที่โจทก์กำหนดส่วนข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าการถอนเงินไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการรับฝากเงินซึ่งผลของเงื่อนไขก็คือพนักงานของโจทก์ยังไม่มีโอกาสได้รับเงินจำนวนดังกล่าวในเมื่อยังไม่ออก จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้จ่ายเงินบำเหน็จพิเศษไปโดยเด็ดขาด อีกทั้งเงินดังกล่าวยังมีโอกาสกลับมาเป็นของโจทก์ได้อีก ไม่ว่าการกลับมาเป็นของโจทก์อีกจะเป็นเรื่องใช้ค่าเสียหายตามการประกันตัวดังโจทก์ฎีกาหรือไม่ก็ตาม จึงเป็นการตั้งบัญชีสำรองจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษไว้โดยมิได้มีการจ่ายจริงเงินดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเงินสำรองตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(1) ซึ่งบัญญัติไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2517 ถึง พ.ศ. 2521
ส่วนปัญหาที่ว่า ควรลดหรืองดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่นั้นเห็นว่าการดำเนินงานของโจทก์นั้น เป็นการกำหนดวิธีการเพื่อให้เงินได้ของโจทก์น้อยลง อันเป็นผลให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล น้อยลงกว่าความเป็นจริง ฉะนั้นจึงไม่ควรลดอัตราเงินเพิ่มหรืองดเรียกเก็บเงินเพิ่มดังโจทก์ฎีกา
การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมายแล้วที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share