คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4158/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การสืบพยานในคดีแรงงานแตกต่างจากคดีแพ่งสามัญพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง ให้ศาลแรงงานเป็นผู้ซักถามพยานตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน” ฉะนั้น การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลในภายหลังว่าโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยเรียกร้องเงินจากคนงานที่จะทำงานกับจำเลยอันเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุเลิกจ้าง โดยจำเลยมิได้ถามค้านโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายที่นำสืบก่อนในข้อนี้ไว้ ถือได้ว่าศาลแรงงานอนุญาตแล้ว เพราะศาลแรงงานต้องการได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์และให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 มาใช้บังคับในการพิจารณาคดีแรงงานไม่ได้ ศาลแรงงานย่อมรับฟังคำพยานจำเลยดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าจำเลยนำสืบพยานภายหลังโดยไม่ได้ถามค้านโจทก์เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์ได้เรียกเงินจากนายสุนทร มงคลการ นายวิทยา หนูแก้ว และนายสมนึก เมืองนิล พยานจำเลยจริงหรือไม่ เพื่อให้โจทก์ได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบุคคลดังกล่าว และรู้เห็นเกี่ยวกับการเข้ามาทำงานของบุคคลดังกล่าวในบริษัทจำเลยอย่างไร การรับฟังคำพยานจำเลยทั้งสามจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 89 พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การสืบพยานในคดีแรงงานแตกต่างจากคดีแพ่งสามัญซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเองให้ศาลแรงงานเป็นผู้ซักถามพยาน ตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน” ฉะนั้น การที่จำเลยนำสืบนายสุนทร มงคลการ นายวิทยา หนูแก้ว และนายสมนึก เมืองนิลว่าโจทก์เรียกร้องเงินจากพยานทั้งสามดังกล่าวนั้น ย่อมถือได้ว่าศาลแรงงานกลางอนุญาตแล้ว เพราะศาลแรงงานกลางต้องการได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์และให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 มาใช้บังคับในการพิจารณาคดีแรงงานไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางรับฟังคำพยานจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share