แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 989 ให้นำมาตรา 910 ในเรื่องตั๋วเงินมาใช้บังคับในเรื่องเช็คด้วย ซึ่งมาตรา 910 วรรค 5 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้ และตามวรรคหนึ่งบัญญัติว่า ตราสารที่มีรายการขาดตกบกพร่องในเรื่องเช่นนี้ เป็นข้อยกเว้นไม่ถือว่าเป็นตั๋วเงินที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นเพียงเพราะเหตุที่เช็คไม่ได้ลงวันที่ไว้จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นโมฆะ และการที่จำเลยเอาเงินโจทก์ไปแล้วเขียนเช็คพิพาทที่ยังไม่ได้ลงวันที่มอบให้โจทก์ไว้ ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ลงวันที่เอาตามที่โจทก์จะเห็นสมควรเพื่อเรียกเงินตามเช็คเอามาชำระหนี้โจทก์นั่นเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างใด เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
อายุความตามมาตรา 1002 ซึ่งให้นับแต่วันตั๋วเงินถึงกำหนดนั้น สำหรับในกรณีเรื่องเช็คก็คือวันที่ลงในเช็คนั่นเอง
การที่จำเลยจะเอารถยนต์ตีราคาใช้หนี้โจทก์ได้นั้นก็ต่อเมื่อโจทก์ยอมรับเอารถยนต์นั้นเป็นการชำระหนี้แทนเงิน และการที่หนี้จะระงับไปด้วยการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นแทนเงินเช่นนี้ ย่อมจะต้องคิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ที่ส่งมอบ จะถือเอาราคาที่ตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้าหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ ๒ ฉบับรวมเป็นเงิน ๒๓,๐๐๐ บาท เพื่อชำระหนี้ แต่เช็คดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้เงินตามเช็คพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องให้โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้เงินยืมโดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่าย จึงไม่สมบูรณ์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ และหนี้ตามเช็คฉบับ ๒๐,๐๐๐ บาทหักกลบลบกันไปแล้วโดยโจทก์ได้ยึดรถยนต์ของภรรยาจำเลยไป ส่วนฉบับ ๓,๐๐๐ บาทเป็นดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามเช็คจำนวน ๒๓,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ทั้งนี้ให้หักค่าขายรถยนต์ ๙,๕๐๐ บาทซึ่งโจทก์ขายได้เงินเอามาชำระหนี้ออกเสียก่อนจากหนี้ตามเช็คและดอกเบี้ยดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยชำระเงินตามเช็คฉบับ ๓,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย คงให้จำเลยชำระเงินตามเช็คฉบับ ๒๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๕ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๕ แล้วหักค่ารถยนต์ ๑๐,๐๐๐ บาทออกเหลือเท่าใดจำเลยชำระพร้อมด้วยดอกเบี้ยในเงินจำนวนนี้นับแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๑๕ จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีนี้คงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเช็คฉบับ ๒๐,๐๐๐ บาท หมาย จ.๒ เท่านั้น ซึ่งจำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า เช็คฉบับนี้เป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้โจทก์เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๔ โดยโจทก์ได้ลงวันที่สั่งจ่ายเอาเองเป็นวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๕ เช็คฉบับนี้จึงเป็นโมฆะ ตามมาตรา ๙๘๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เกี่ยวกับปัญหาข้อนี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยเอาเช็คหมาย จ.๒ ซึ่งจำเลยลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๕ ไว้แล้วมาให้โจทก์ไว้ แล้วเอาเงินสดจากโจทก์ไปเมื่อราววันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ วันใดที่จำเลยเอาเช็คหมาย จ.๒ มาให้โจทก์ไว้นี้ยังนำสืบโต้แย้งกันอยู่ แต่อย่างไรก็ดีในเรื่องนี้ศาลฎีกาเห็นว่า แม้หากจะรับฟังตามข้อโต้แย้งจำเลยได้ก็ตาม เช็คหมาย จ.๒ ก็หาเป็นโมฆะไปดังที่จำเลยเข้าใจไม่ เพราะตามมาตรา ๙๘๙ ให้นำมาตรา ๙๑๐ มาใช้บังคับในเรื่องเช็คด้วย มาตรา ๙๑๐ วรรค ๕ บัญญัติไว้ว่า “ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใด ทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้” และตามวรรคหนึ่งได้บัญญัติว่า ตราสารที่มีรายการขาดตกบกพร่องไปในเรื่องเช่นนี้ เป็นข้อยกเว้นไม่ถือว่าเป็นตั๋วแลกเงินที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น เพียงเพราะเหตุที่เช็คหมาย จ.๒ ไม่ได้ลงวันที่ไว้เท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นโมฆะดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างมาในฎีกา การที่จำเลยเอาเงินโจทก์ไปแล้วเขียนเช็คที่ยังไม่ได้ลงวันที่มอบให้โจทก์ไว้นั้น ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยยินยอมให้โจทก์ลงวันที่เอาตามที่โจทก์จะเห็นสมควรเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คเอาจากจำเลยมาชำระหนี้โจทก์ได้นั่นเอง จำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ไม่สุจริตแต่อย่างใดเลย เช็คหมาย จ.๒ จึงเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ฎีกาในปัญหาข้อที่สองว่า เช็คหมาย จ.๒ ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๐๒ แล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า “วันตั๋วเงินถึงกำหนดในมาตรา ๑๐๐๒ ก็คือวันที่ที่ลงในเช็คนั่นเอง ในกรณีนี้ก็คือวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๕ ดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปีตามมาตรา ๑๐๐๒ เช็คหมาย จ.๒ ที่โจทก์นำมาฟ้องเรียกเงินจากจำเลยจึงยังหาขาดอายุความต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ประการสุดท้ายจำเลยฎีกาว่า ที่ศาลล่างทั้งสองตีราคารถยนต์ของภรรยาจำเลยหักใช้หนี้เพียง ๙,๕๐๐ บาท และ ๑๐,๐๐๐ บาทตามลำดับเป็นการไม่ชอบ ควรตีราคา ๒๐,๐๐๐ บาทเต็มตามสัญญาเอกสารหมาย ล.๑ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยจะเอารถยนต์ตีราคาใช้หนี้โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ยอมรับเอารถยนต์นั้นเป็นการชำระหนี้แทนเงิน ในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมรับรถยนต์เป็นการชำระหนี้แทนเงินแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้ยินยอมให้โจทก์เอารถยนต์มาขายเพื่อเอาเงินใช้หนี้ตามสัญญาหมาย ล.๑ และโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยและภรรยาจำเลยทราบแล้วว่ามีผู้เสนอขอซื้อในราคา ๑๐,๐๐๐ บาท ถ้าไม่ยินยอมให้ขายในราคานี้ก็ให้หาผู้ซื้อในราคาที่สูงกว่ามารับซื้อไป จำเลยได้รับทราบแล้วก็ไม่ได้โต้แย้งอย่างไร แสดงว่าเห็นชอบด้วยกับราคาที่โจทก์บอกไปเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทแล้ว ฉะนั้นจำเลยจะมาขอให้ตีราคารถยนต์ ๒๐,๐๐๐ บาทตามที่ระบุไว้ในสัญญาหมาย ล.๑ อีกย่อมไม่ได้ แม้ในสัญญาหมาย ล.๑ ก็ยังเขียนไว้ด้วยว่า ยินยอมให้หักค่าสึกหรอเป็นรายเดือน ๆ ละห้าเปอร์เซ็นต์ได้ด้วย ราคา ๒๐,๐๐๐ บาท จึงไม่ใช่ราคาที่แน่นอนตายตัว อนึ่ง การที่หนี้จะระงับไปด้วยการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นแทนเงินนั้น ย่อมจะต้องคิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ จะถือเอาราคาที่ตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้าหาได้ไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน.