คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4146/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเข้าไปที่ร้านโดนัทที่เกิดเหตุแล้วบอก ส. พนักงานขายว่า “โดนัทที่เหลืออยู่ขอเหมาหมด” เมื่อ ส. นำโดนัทบรรจุใส่กล่องและนำกล่องใส่ถุงพลาสติก และคิดเงินว่าจำนวน 1,440 บาท จำเลยพูดว่า “ทำไมต้องจ่าย เพราะเป็นหุ้นส่วนบริษัท หนูรู้มั้ยว่าพี่เป็นใคร ถ้าไม่รู้ให้โทรไปถาม อ. บอกเค้าว่า น้องชายเค้าที่เป็นเจ้าของตัวจริงจะเอาไปทานบ้าง อีกไม่กี่วันร้านก็ปิดไม่ใช่เหรอ” และหยิบเอาขนมโดนัทเดินออกจากร้านที่เกิดเหตุ เมื่อจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า ธุรกิจโดนัทที่ร้านเกิดเหตุเป็นธุรกิจในรูปหุ้นส่วน อ. เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งที่ย่อมรับผิดชอบในผลกำไรขาดทุน และทราบว่า อ. เป็นผู้บริหารธุรกิจขายโดนัทจนห้ามมิให้ ท. ที่เป็นน้องชายของจำเลยมายุ่งได้ เงินลงทุนของครอบครัวจำเลยที่ร้านเกิดเหตุหมดไปแล้ว และเป็นภาระหนี้สินที่ ส. และ ล. บิดามารดาจำเลยต้องไปดำเนินการเอากับ อ. ต่างหาก ดังนั้น พฤติการณ์ของจำเลยลักษณะหลอกว่าจะเหมาขนมโดนัททั้งหมดและเอาขนมโดนัทไปโดยจงใจไม่จ่ายเงินย่อมทำให้ ส. พนักงานขาย ต้องรับผิดในราคาขนมโดนัทดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์แล้ว ส่วนการที่จำเลยยังถือถุงขนมโดนัทอยู่ภายในศูนย์การค้าด้วยท่าทางการเดินเป็นปกติ ไม่มีลักษณะท่าทางกำลังวิ่งหลบหนี ทั้ง ส. ไม่ได้เรียกพนักงานรักษาความปลอดภัยให้ตามจำเลยมาจ่ายเงิน หาทำให้ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่สำเร็จแล้วไม่เป็นความผิดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาขนมโดนัท 5 กล่อง กล่องละ 12 ชิ้น เป็นเงิน 1,440 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัท อ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก (เดิม) จำคุก 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 2,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและราคาทรัพย์ที่จำเลยลักไปมีราคาไม่มากนัก ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาขนมโดนัท 5 กล่อง กล่องละ 12 ชิ้น เป็นเงิน 1,440 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนางสาวอัจฉรา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยเป็นบุตรของนายสรรเสริญ และนางนงลักษณ์ ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยไปที่ร้าน บ. สาขา พ. ร้านที่เกิดเหตุของโจทก์ร่วม แล้วหยิบเอาขนมโดนัท 5 กล่อง กล่องละ 12 ชิ้น ราคา 1,440 บาท ของโจทก์ร่วมไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางสาวสุคนธ์ทิพย์ พนักงานขายร้าน บ. เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ในวันเวลาเกิดเหตุขณะพยานกำลังแต่งหน้าขนมโดนัทอยู่ที่ร้านเกิดเหตุ จำเลยมาที่ร้านเกิดเหตุแล้วบอกพยานว่า “โดนัทที่เหลืออยู่ขอเหมาหมด” พยานนำขนมโดนัทบรรจุใส่กล่อง 5 กล่อง และนำกล่องขนมโดนัทใส่ถุงพลาสติก แล้ววางไว้ที่เคาน์เตอร์ข้างเครื่องคิดเงิน เมื่อคิดเงินเสร็จ พยานบอกจำเลยว่า “1,440 บาท ค่ะ” จำเลยบอกว่า “ทำไมต้องจ่าย เพราะเป็นหุ้นส่วนของบริษัท” แล้วจำเลยหยิบเอาถุงขนมโดนัทเดินออกไปจากร้านที่เกิดเหตุ ซึ่งจำเลยก็เบิกความยอมรับว่า จำเลยไปที่ร้านเกิดเหตุเห็นว่าขนมโดนัทที่เหลืออยู่ในตู้เหลือจำนวนไม่มาก จึงสั่งว่าจะเอาโดนัททั้งหมดที่เหลืออยู่ในตู้ หลังจากที่พนักงานขายจัดขนมโดนัทลงกล่องและจัดใส่ถุงเรียบร้อยแล้ว พนักงานขายได้แจ้งราคาแก่จำเลยว่าขนมโดนัทมีราคา 1,440 บาท จำเลยตอบกลับพนักงานขายว่า “ทำไมต้องจ่ายตังค์ หนูรู้มั้ยว่าพี่เป็นใคร ถ้าไม่รู้ให้โทรถามคุณแอน (นางสาวอัจฉรา) บอกเค้าว่าน้องชายเค้าที่เป็นเจ้าของตัวจริงจะเอาไปทานบ้าง อีกไม่กี่วันร้านก็ปิดแล้วไม่ใช่เหรอ” พฤติกรรมของจำเลยเป็นการฉกฉวยเอาขนมโดนัทที่วางอยู่บนเคาน์เตอร์ไปต่อหน้านางสาวสุคนธ์ทิพย์โดยไม่จ่ายเงินอันเป็นการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยคิดว่าไม่น่ามีปัญหาจึงหยิบถุงขนมโดนัทดังกล่าวไปโดยไม่จ่ายเงิน โดยถือถุงขนมโดนัทอยู่ภายในศูนย์การค้าด้วยท่าทางการเดินเป็นปกติ ไม่มีลักษณะท่าทางว่ากำลังวิ่งหลบหนี ทั้งนางสาวสุคนธ์ทิพย์ไม่ได้เรียกพนักงานรักษาความปลอดภัยให้ตามจำเลยมาจ่ายเงิน โดยจำเลยอ้างตนเป็นพยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้ติดต่อบริษัท บ. ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ให้มาเปิดแฟรนไชส์ที่ประเทศไทย โดยติดต่อกับนายคาวิน ผ่านการแนะนำของนางสาวอัจฉรา จากนั้นเปิดบริษัท ย. กับนางสาวอัจฉรา เพื่อดำเนินธุรกิจขายขนมโดนัทยี่ห้อ บ. แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 ถึง 3 เดือน จำเลยเห็นว่าธุรกิจขายขนมโดนัทไม่น่าจะได้กำไร จึงบอกนางสาวอัจฉรา ทำให้นางสาวอัจฉราโกรธ จากนั้นมารดาจำเลยโทรศัพท์มาแจ้งจำเลยว่าจำเลยไม่ต้องทำธุรกิจนี้แล้ว แต่จะให้นายทศพล น้องชายจำเลยเป็นผู้เปิดบริษัท ค. เพื่อดำเนินธุรกิจขายขนมโดนัทยี่ห้อ บ. แทน โดยมีบิดาจำเลยเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด บริษัท ค. ดำเนินการเปิดร้าน บ. ทั้งสาขาศูนย์การค้า พ. (ร้านที่เกิดเหตุ) และสาขา ป. โดยจำเลยไม่ทราบว่าบริษัทโจทก์ร่วมเข้ามาเกี่ยวข้องกับร้าน บ. ได้อย่างไร ในระหว่างเตรียมเปิดร้าน บ. นางสาวอัจฉรากับนายทศพลมีปัญหากัน โดยนางสาวอัจฉราโทรศัพท์มาบอกจำเลยว่า นายทศพลเข้ามาถามนู่นถามนี่เกี่ยวกับทุกอย่างในร้าน ทั้งเรื่องบัญชีและเรื่องต่าง ๆ นางสาวอัจฉราจึงให้จำเลยไปเตือนนายทศพลว่าอย่ามายุ่งมิฉะนั้นจะนำตำรวจมาจับ จากคำเบิกความของจำเลยดังกล่าว แสดงว่าจำเลยทราบมาโดยตลอดว่าธุรกิจขายขนมโดนัทมีนางสาวอัจฉราเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งที่ย่อมต้องรับผิดชอบในผลกำไรขาดทุนในธุรกิจขายขนมโดนัท ทั้งทราบว่านางสาวอัจฉราเป็นผู้บริหารธุรกิจขายขนมโดนัทจนสามารถห้ามมิให้นายทศพลมายุ่ง ประกอบกับยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่าก่อนเกิดเหตุ 3 วัน จำเลยโทรศัพท์หานางสาวอัจฉราเพื่อถามว่าเงินลงทุนของครอบครัวจำเลยที่ร้านเกิดเหตุไปไหน แต่นางสาวอัจฉราไม่รับโทรศัพท์ จำเลยจึงนำข้อความที่จำเลยคุยกับนางสาวอัจฉราในเรื่องที่จำเลยทวงเงินคืนไปปิดบริเวณหน้าร้านที่เกิดเหตุ อันแสดงว่า จำเลยทราบแล้วว่าเงินลงทุนของครอบครัวจำเลยที่ร้านเกิดเหตุหมดไปแล้ว ทั้งทราบว่าร้านที่เกิดเหตุนางสาวอัจฉราเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการจึงนำข้อความทวงถามเงินไปปิดบริเวณร้านที่เกิดเหตุ ส่วนการตกลงในการลงทุนที่นายสรรเสริญ และนางนงลักษณ์ บิดามารดาจำเลยมอบให้นางสาวอัจฉราไปดำเนินการใช้จ่ายมีอยู่จริงหรือไม่ก็เป็นภาระหนี้สินที่นายสรรเสริญและนางลักษณ์ต้องดำเนินการเอากับนางสาวอัจฉราต่างหาก พยานหลักฐานที่โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยนำสืบมาจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทราบแล้วว่าธุรกิจขายขนมโดนัทที่ร้านเกิดเหตุมิใช่ธุรกิจของครอบครัวจำเลยฝ่ายเดียว หรือทราบแล้วว่าธุรกิจขายโดนัทที่ร้านเกิดเหตุเป็นธุรกิจในรูปหุ้นส่วน และการที่จำเลยแสดงพฤติกรรมลักษณะหลอกว่าจะซื้อเหมาขนมโดนัททั้งหมดและเอาขนมโดนัทไปโดยจงใจไม่จ่ายเงินย่อมทำให้นางสาวสุคนธ์ทิพย์ พนักงานขายของโจทก์ร่วมต้องรับผิดในราคาขนมโดนัทดังกล่าว ข้อเท็จจริงไม่น่าเชื่อว่าการที่จำเลยหยิบถุงขนมโดนัทดังกล่าวไปโดยไม่จ่ายเงินจะไม่มีปัญหาหรือคงเป็นเพียงข้ออ้างของจำเลยเพียงลอย ๆ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์สำเร็จแล้ว ส่วนการที่จำเลยยังถือถุงขนมโดนัทอยู่ภายในศูนย์การค้าด้วยท่าทางการเดินเป็นปกติ ไม่มีลักษณะท่าทางว่ากำลังวิ่งหลบหนี ทั้งนางสาวสุคนธ์ทิพย์ไม่ได้เรียกพนักงานรักษาความปลอดภัยให้ตามจำเลยมาจ่ายเงิน หาทำให้ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่สำเร็จแล้วไม่เป็นความผิดตามที่จำเลยต่อสู้แต่อย่างไรไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share